วันนี้ (19 ก.ย.) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว ‘หยุดสูบ หยุดตาย จากบุหรี่ไฟฟ้า’
โดย พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร ผู้แทนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ พบการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 450 ราย ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน และเสียชีวิตแล้ว 7 ราย โดยเริ่มต้นด้วยอาการไอแห้ง เจ็บแน่นหน้าอก อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน บางรายเป็นรุนแรงและรวดเร็วถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยเกิดกับวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ปี อาการรุนแรงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ภาวะนี้ต่างจากโรคถุงลมโป่งพองที่เกิดจากการสูบบุหรี่ธรรมดาที่เนื้อปอดจะเสียหายช้าๆ กว่าจะถึงขั้นหายใจล้มเหลวต้องใช้เวลานานมาก จึงขอให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
“ข้อมูลการรักษาจากภาพถ่ายรังสีปอด เหมือนปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียรุนแรง แต่ตรวจไม่พบเชื้อโรค การตรวจเนื้อเยื่อปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ได้ดักจับสารอนุภาคไขมัน เรียกว่า Lipid-laden macrophages จนทำให้การทำงานของปอดผิดปกติ ซึ่งสารในบุหรี่ไฟฟ้าหลายชนิดไม่มีในบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะสาร Vegetable Glycerin เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะระเหยเป็นไอน้ำและถูกสูบเข้าปอด จึงสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงในผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า” พญ.นภารัตน์ กล่าว
ทางด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีผลกระทบต่อการเกิดโรคปอด ซึ่งเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้คนไทย ‘หยุดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า’ เช่นกัน ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียนในสหรัฐฯ พบนักเรียนมัธยมนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ปกติ ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูนำไปสู่การเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดอื่นๆ ดังนั้น ครอบครัว ครู และผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถเติบโตได้ในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วัยรุ่นมีความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ในความเป็นจริงควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นมีฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ไดอะซิทิล อะโครลีน โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก ตะกั่ว ซึ่งอาจมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสมีนับพันชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย มีการวิจัยพบว่าแม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีนิโคตินก็ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดและระบบไหลเวียนโลหิตได้
นอกจากนี้ ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทย (End Cigarette Smoke Thailand) ว่าการออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีเบื้องหลังและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่หรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในทางเดียวกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ที่พยายามกดดันให้ไทยนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้เสรี ซึ่งไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินนโยบายด้านการควบคุมยาสูบทั้งสิ้น และรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของคนกลุ่มนี้ใดๆ ทั้งสิ้น
“จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทยที่มักออกมาให้ข่าวสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และให้ยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในไทย มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยแกนนำของกลุ่มลาขาดควันยาสูบ เป็นกรรมการบริหารขององค์กรเครือข่ายผู้บริโภคสารนิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer: INNCO) ซึ่งกลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทยเป็น 1 ในจำนวน 31 สมาชิกของ INNCO และยังมีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่ประกาศให้ทุนสนับสนุนมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ Foundation for a Smoke-Free World เป็นเงินปีละ 80 ล้านดอลลาร์ นานถึง 12 ปี เพื่อส่งเสริมการวิจัยและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกทดแทนบุหรี่ ซึ่ง INNCO ก็ได้รับทุนจากมูลนิธินี้” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า