×

“ผมเองก็เสียใจแทนเขา” เปิดใจดวงฤทธิ์ บุนนาค ย้ำไม่ได้ลอกใคร ปมสนามบินสุวรรณภูมิหลังที่ 2

24.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ท่าอากาศยานไทย ชี้แจงเอกสารเสนอราคาเป็นเอกสารสำคัญ แจ้งผู้แพ้ประมูลแล้วทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
  • ดวงฤทธิ์ บุนนาค ย้ำไม่ได้ไปเลียนแบบงานใคร และนี่คือการออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีคอร์รัปชันหรือจ่ายเงินใต้โต๊ะ

พื้นที่ข่าวตอนนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่กลุ่ม ‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’ ชนะการประมูลงานออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิหลังที่ 2 ที่ขณะนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าว เนื่องจากผู้ชนะการประมูลได้คะแนนด้านเทคนิคอันดับที่ 2 และผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 ต้องถูกปัดตกเพียงเพราะขาดเอกสาร ‘แค่’ ใบเดียว สังคมจึงตั้งคำถามว่า นี่คือการล็อกสเปกเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อกันหรือไม่

 

ความจริงคืออะไร เอกสารเจ้าปัญหานั้นสลักสำคัญแค่ไหน

 

สำนักข่าว THE STANDARD ได้สอบถาม ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการของสำนักงานออกแบบ Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) เพื่อนำเสนอจุดยืนของเขาผ่านบทความนี้

 

 

ท่าอากาศยานชี้แจง ใบเสนอราคาเอกสารสำคัญ ยึดตามทีโออาร์

เนื่องจากสื่อต่างๆ นำเสนอข่าวเรื่องนี้ในวงกว้าง และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หน่วยงานเจ้าของโครงการนั้นก็เป็นองค์กรใหญ่ระดับชาติที่ถูกจับตาอยู่เสมอ เมื่อเกิดข้อสงสัยในสังคม ทอท. จึงเร่งชี้แจงเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

 

เพื่อให้เห็นขอบข่ายของการประมูลงานออกแบบในครั้งนี้ ทาง ทอท. ชี้แจงว่าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิหลังที่ 2 ประกอบด้วย

 

1) งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 3.48 แสนตารางเมตร เป็นอาคารแบบ Multi-Terminal รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร มีหลุมจอด 14 หลุมจอด

 

2) งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B และ C

 

3) งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 8.4 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับการจอดรถ

 

 

4) งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคารเทียบเครื่องบิน A ในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีระยะทางรวมทั้งระบบ 2.5 กิโลเมตร

 

 

5) งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน

 

6) งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

 

และ 7) งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการ

 

 

และสำหรับประเด็นร้อนในขณะนี้ ทอท. ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมกรรมการของ ทอท. มี ประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการอนุมัติให้จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ DBALP-NIKKEN SEKKEI เป็นผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหลังที่ 2 ด้วยงบประมาณ 329.56 ล้านบาท โดยราคาดังกล่าวเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

 

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย พนักงานของ ทอท. 4 คน มีผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยาม 1 คน ร่วมเป็นกรรมการ และมีผู้แทนจากสภาสถาปนิกจำนวน 2 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ส่วนผู้ยื่นซองประมูลมี 4 ราย ได้แก่ (1) กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ (กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก) (2) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (3) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด และ (4) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group

 

คณะกรรมการได้ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและจัดลำดับเพื่อเชิญกลุ่มเอกชนมาต่อรองราคาในวันที่ 14 ส.ค. 2561 โดยทั้ง 4 กลุ่มบริษัทมีลำดับคะแนนคือ ลำดับที่ 1 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ลำดับที่ 2 กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ลำดับที่ 3 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด และลำดับที่ 4 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด

 

ทอท. ยืนยันว่าได้เชิญ SA Group เปิดซองราคาเป็นรายแรก แต่ขาดเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ซึ่ง ทอท. ได้กำหนดในทีโออาร์ชัดเจนว่า ‘ผู้เสนองานต้องใช้ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจาก ทอท. นี้เท่านั้น ใบเสนอราคานอกเหนือจากนี้จะไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด’

 

ทอท. ย้ำว่าเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคาเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้เสนอราคาต้องใช้ในการเสนอราคา เพราะนอกจากจะมีข้อเสนอด้านราคา ซึ่งต้องระบุเป็นตัวเลขและตัวอักษรแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ ระบุไว้ ได้แก่ ระยะเวลายืนราคา คำรับรองว่าจะเริ่มทำงานตามสัญญาทันทีที่ได้รับแจ้งจาก ทอท. และจะส่งมอบงานตามที่ตกลงด้วย ทางคณะกรรมการจึงไม่พิจารณาเอกสารข้อเสนอราคาของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group และเชิญกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ซึ่งได้คะแนนเทคนิคสูงเป็นลำดับที่ 2 มาต่อรองราคาในลำดับถัดไปแทน ซึ่งการต่อรองราคาเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ จึงนำไปสู่การลงมติเลือกกลุ่มดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

หลังจากนี้จะมีเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการ และเมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างจะมีเวลาออกแบบ 10 เดือน จากนั้น ทอท. จะนำแบบไปประมูลงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และสร้างเสร็จในปลายปี 2564

 

ส่วนกรณีที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา SA Group ได้ร้องเรียนคณะกรรมการโดยระบุว่า ไม่ได้รับเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ในชุดเอกสารสำหรับการเสนองานจาก ทอท. และงานจัดจ้างสำรวจออกแบบ ซึ่งใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นหลัก การไม่ได้แนบเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคาจึงไม่เป็นสาระสำคัญของข้อเสนอด้านราคา ทอท. ได้มีหนังสือชี้แจงไปแล้วว่าการดำเนินงานของ ทอท. เป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้อง รวมทั้งเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงการจัดหาฯ และทีโออาร์แล้ว

 

 

“เอกสารที่ผิดพลาด ไม่ใช่เอกสารชิ้นเล็ก” คำชี้แจงจาก ดวงฤทธิ์ บุนนาค ยืนยันไม่ได้ลอกแบบใครมา

ทุกสายตาขณะนี้จับจ้องไปที่ท่าทีของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการของสำนักงานออกแบบ Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) เมื่อสำนักข่าว THE STANDARD ได้ติดต่อเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว ดูเหมือนเขาจะใจเย็นกับเรื่องนี้พอสมควร

 

“มันควรจะเป็นแบบนั้น ที่ทั้งสองอาคารหน้าตาจะไม่เหมือนกัน เพราะมันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อาคารแรกสร้างมานานแล้ว สมัยนั้นการออกแบบก็ถ่ายทอดเป็นภาษาอีกแบบหนึ่งสำหรับเวลาในยุคหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปมันก็เปลี่ยนไป สิ่งที่ผมออกแบบคือ Expression (การแสดงออก) ของงานไทย”

 

เป็นคำตอบส่วนแรกจากการตั้งข้อสังเกตของบางกลุ่มว่างานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของเขาดูไม่สอดคล้องกับอาคารหลักแรกที่ใช้งานกันอยู่ นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวหาว่าเราลอกเลียนแบบจากงานออกแบบระดับโลกมาด้วย

 

“ผมก็เคยเห็นงานที่มีคนโจมตีว่าผมไปลอกเขามา ใครก็เคยเห็น มันเป็นสิทธิของเขาที่จะวิจารณ์ แต่ถ้าได้ติดตามงานออกแบบของผมจริงๆ จะเห็นว่าผมหมกมุ่นกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ดูได้จากโรงแรมในต่างประเทศหรืออาคารที่ศรีลังกา ผมออกแบบ รูปแบบการใช้ไม้ที่ขัดกันไปมาแบบนี้ ต้องดูในเชิงสถาปนิก ผมอยากทำให้มันร่วมสมัย ได้ Express ความเป็น Tropical แบบนี้ออกมา มันควรจะมีกลิ่นของท้องถิ่นนั้นๆ อยู่ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ผมจะต้องไปลอกคนอื่น ”

 

ดวงฤทธิ์ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ (23 ส.ค.) ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการจาก ทอท. แต่ทราบผลแล้วจากทีมผู้ประสานงานของ ทอท. คาดว่าจะได้รับเอกสารและลงนามในสัญญาว่าจ้างภายในสิ้นเดือน ส.ค. นี้ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ส่วนความเคลื่อนไหวของผู้ที่แพ้การประมูลรายอื่นๆ นั้น ดวงฤทธิ์เปิดเผยว่ามีความสลับซับซ้อนและไม่ขอลงรายละเอียด

 

“ผมเองก็เสียใจแทนเขานะ แต่งานนี้มันงานใหญ่ระดับชาติ เรื่อง Integrity (ความโปร่งใส) สำคัญมาก ผมกำชับกับทีมตลอดว่าเรื่องเอกสารต้องรอบคอบ เพราะทอท. ก็ระบุมาในทีโออาร์ชัดเจน กรณีที่ไม่มีใบเสนอราคา คณะกรรมการไม่อนุโลม นี่คือเรื่องสำคัญ เอกสารที่ผิดพลาดไม่ใช่เอกสารชิ้นเล็ก ตัวผมเองก็ไม่อยากออกมาโต้แย้งอะไรมาก วันนั้น (วันเปิดซองราคา) ก็อยู่ด้วยกันหมด พอที่แรกไม่ได้ กรรมการก็มาเรียกผม ผมก็รีบเข้าไปในห้องประชุมและต่อรองราคากัน”

 

เมื่อสอบถามเรื่องข่าวการล็อกสเปกหรือการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค ให้ชนะการประมูล เขายืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง และจุดยืนของเขาคือความสุจริตในการทำงาน

 

“สำหรับทีมผม ยืนยัน 100% ไม่มีคอร์รัปชัน ไม่มีไปกินข้าวหรือประชุมกันลับๆหรือล็อบบี้อะไรกันทั้งนั้น ผมกล้าพูดว่านี่คือการออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ นี่เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมาโดยตลอด”

 

จากนี้คงต้องรอดูว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวหรือเสียผลประโยชน์จะทำอย่างไรต่อไป และ ทอท. กับ กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค จะบริหารจัดการ ‘แรงกระเพื่อม’ ต่อๆ มาอย่างไร เรื่องจะยืดเยื้อหรือจบเร็วกว่าที่คิด

 

ไม่มีใครตอบได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising