เรื่องจริงวันนี้ของ 5G ที่หลายคนทราบกันดีคือ ประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมน้อยใหญ่ในประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจำเป็น จะต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย โดยล่าสุด โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ก็เริ่มรุดหน้าปูทางความพร้อม เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงกันแล้ว
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า การบริหารงานดีแทคภายใต้ร่มเงาของ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงสุดสตรองจากดีแทค ระยะหลังๆ มานี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาพความตื่นตัวและการเทกแอ็กชัน ลงมือทำอย่างเห็นได้ชัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้บริโภค
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ดีแทคได้ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรอย่างทีโอที (TOT) และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เปิดแถลงการณ์ความร่วมมือทดสอบ 5G ในประเทศไทย พร้อมหาแนวทางธุรกิจและการให้บริการอย่างยั่งยืน
ภายใต้การร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ดีแทค ทีโอที และ กสท จะร่วมกันทดสอบการใช้งานจริงของสัญญาณ 5G ตามบริบทและรูปแบบยูสเคสที่ต่างกันออกไป แล้วศึกษาหรือมองหาความเป็นไปได้ในการร่วมกันขับเคลื่อนภาคธุรกิจการให้บริการ 5G ในอนาคตอันใกล้ ผ่านการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource Sharing), นำความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาพัฒนาต่อยอดร่วมกัน (Knowledge Sharing), แบ่งปันประสบการณ์ (Experience Sharing) ที่เกิดขึ้นจากการลงมือทดสอบในสนามจริงร่วมกัน
ส่วนรายละเอียดของการเตรียมลุยสนามจริงทดสอบ 5G ที่จะเกิดขึ้นในยูสเคสต่างๆ สามารถจำแนกรายละเอียดได้ ดังนี้
1. dtac จัดทำโซลูชัน ‘ฟาร์มแม่นยำ’ เพื่อเตรียมพร้อมสู่ 5G ที่สามารถปลดล็อกมูลค่ามหาศาลให้แก่เกษตรกรของประเทศไทยยิ่งขึ้น และจะทดสอบโดรนเพื่อการเกษตร พาเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ดีแทคจะนำสัญญาณ 5G มาใช้ทดสอบกับภาคเกษตรกรรมไทยโดยใช้กับโดรนเป็นครั้งแรก เพื่อเข้ามาช่วยจัดการพืชผลผลิตต่างๆ แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อได้เปรียบของ 5G ที่มีความเร็วแรงของสัญญาณ และมีความหน่วงต่ำ (Low Latency) เมื่อนำมาใช้กับโดรนฉีดพ่นปุ๋ยและสารอาหาร จะช่วยลดข้อจำกัดการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี แถมยังทำงานได้ครอบคลุมผลผลิตทุกไร่ทุกแปลงในระยะเวลาที่สั้นลง ต้นทุนต่ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในภาคการเกษตร
ส่วนความเรียลไทม์ที่จะเกิดขึ้นนั้นคือ เมื่อโดรนบินเหนือแปลงปลูก มันจะถ่ายภาพแล้วส่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เช่น สีของใบ อุณหภูมิของดิน และสภาพอากาศ กลับมาประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และการจัดการผลผลิตทางการเกษตร
2. Smart Pole เสาอัจฉริยะช่วยขยายสัญญาณ 5G โดย TOT เตรียมติดตั้งเสาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยุค 5G ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. เพื่อช่วยขยายสัญญาณ เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบในระบบนิเวศ IoT เช่น อุปกรณ์สื่อสาร 5G, อุปกรณ์กระจายสัญญาณ WiFi, กล้องวงจรปิด, ระบบไฟฟ้า, EV Charging Station และจอดิสเพลย์ เป็นต้น
ประโยชน์สำคัญประการต้นๆ จาก TOT Smart Pole คือมันถูกออกแบบขึ้นเพื่อการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน นั่นหมายความว่า เมื่อผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ ได้จับมือกับ TOT แล้ว เสาอัจฉริยะที่ว่านี้ก็จะช่วยขยายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนค่าดำเนินการโครงสร้างขั้นพื้นฐานซ้ำซ้อนของผู้ให้บริการแต่ละราย
3. CAT ‘PM2.5 Sensor for All’ โครงการเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ในการทดสอบเคสการใช้งานจริง CAT จะติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามจุดต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน สยามสแควร์ รวมกว่า 20 จุด บนโครงข่าย LoRa แล้วอัปโหลดข้อมูลมลพิษแบบเรียลไทม์ขึ้นบนระบบคลาวด์ พร้อมวิเคราะห์และประเมินผลทันที นอกจากนี้ยังสามารถจำลองข้อมูลทางคณิตศาสตร์ เพื่อค้นหาต้นทางของมลพิษได้อีกด้วย
ผลที่ได้รับคือ ช่วยให้ภาครัฐ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ สามารถวางแผนรับมือและกำจัดฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ โดยในอนาคต CAT ยังวางแผนไว้ว่า จะต้องติดตั้งเซนเซอร์ดังกล่าว เพื่อการทดสอบเพิ่มเติมตามโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ฯลฯ
‘รวมกัน ย่อมไปได้ไกลและยั่งยืนกว่า’ อ่านเกมผนึกกำลัง 3 บิ๊ก dtac TOT และ CAT
วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน เอาไว้ว่า รัฐบาลนำโดยดีอี เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความสำคัญของภาคดิจิทัลเป็นอย่างดี แต่การที่หลายๆ หน่วยงานได้ร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ยุค 5G ผ่านการทดสอบยูสเคสต่างๆ จะช่วยให้การปรับตัวและการเปลี่ยนผ่านทำได้เร็วและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังในแง่ของการมุ่งหน้าไปสู่สังคม 5G แม้จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีด้วยตัวเองก็ตาม
ฝั่ง อเล็กซานดรา ไรช์ มองว่า ประโยชน์ของ 5G จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมหาศาลในทุกๆ อุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งในแง่ของการเพิ่มศักยภาพความ Productivity และการก่อให้เกิดโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อทั้งดีแทค ทีโอที และ กสท ร่วมมือกัน ผลที่ตามมานอกจากจะช่วยกันปรับตัวและพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานได้เร็วขึ้นในราคาที่ถูกลงแล้ว การทดสอบนี้จะทำใหเรียนรู้เรื่องข้อจำกัดด้านนโยบายและกฎหมายต่างๆ เพื่อนำมาสู่การแก้ไขสนับสนุนบริการ 5G ต่อไป
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน อเล็กซานดราได้ยกตัวอย่างการทดสอบสัญญาณ 5G ของเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่เกิดขึ้นในเมืองคองส์เบิร์ก ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งกำลังดำเนินไป ผ่านการทดสอบในศูนย์ควบคุมรถโดยสารประจำทางแบบอัตโนมัติ, กล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ของหน่วยกู้ชีพ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้กับกลุ่มตัวอย่างครอบครัว 5 กลุ่ม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคยังบอกอีกด้วยว่า รัฐบาลไทยควรจะต้องจัดทำแผนจัดสรรความถี่ หรือ Spectrum Roadmap ครอบคลุมทั้งในย่านสูง กลาง และต่ำ พร้อมระบุช่วงเวลาจัดสรรและแผนปรับปรุง หรือ Spectrum Refarming ที่ชัดเจน เพราะคลื่นความถี่คือรากฐานสำคัญที่จะทำให้มุ่งหน้าสู่ 5G ได้อย่างยั่งยืน
“ประเทศไทยควรทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ก่อนการจัดสรรคลื่นครั้งต่อไป รวมทั้งรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบัน การออกแบบการประมูลที่ดีจะทำให้กำหนดราคาคลื่นความถี่ที่ยุติธรรมในการทำตลาด และป้องกันราคาประมูลที่สูงเกินจริง”
ทั้งนี้ ในประเด็นการจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ วรรณพร ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ขณะนี้แผนจัดสรรกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นความคืบหน้าในเร็วๆ นี้แน่นอน
จุดมุ่งหมายสำคัญที่ทั้งดีแทค ทีโอที และ กสท จำเป็นต้องประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในการทดสอบยูสเคสการใช้งาน 5G ก็เพื่อศึกษา พัฒนา และวางกลยุทธ์การให้บริการสัญญาณ 5G ไปพร้อมกัน แล้วสกัดหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมที่จะส่งต่อให้เป็นบริการสำหรับผู้บริโภคได้รับการให้บริการที่ยอดเยี่ยมมีคุณภาพ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอย่างพวกเขาก็ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาล ในการที่จะมีแผนสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐาน 5G ร่วมกัน เพราะจะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ของคนไทยที่จะได้สัมผัสกับเทคโนโลยี 5G ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์เมื่อถึงวันที่เปิดให้บริการในไทย
หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว และวันนี้ดีแทคก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 5G สำหรับพวกเขาต้องเอาจริง ไม่ได้มาเล่นๆ!
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล