วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงการรับคดีฟอกเงิน กรณีดิไอคอนกรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ
ระบุว่า จากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีดิไอคอนกรุ๊ป ว่าเข้าฐานกระทำความผิดที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ในการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า คดีดังกล่าวพบการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายฟอกเงินในมาตรา 3 อนุ 3
อีกทั้งเจ้าหน้าที่พบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีนี้มูลค่าเกินกว่า 300 ล้านบาท จึงเข้าตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจดำเนินการสอบสวนได้
พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ DSI รับผิดชอบเฉพาะความผิดอาญาฐานฟอกเงินเท่านั้น เพราะเข้าเกณฑ์อำนาจหน้าที่ ส่วนความผิดอื่นยังคงเป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยความผิดฐานฟอกเงินนับเป็นคนละกรรมกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน DSI มุ่งดำเนินคดีกับผู้ที่โอน รับโอน รวมถึงผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ในความผิด
โดยทรัพย์สินที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการยึดไว้จะส่งต่อให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการต่อไป เช่นเดียวกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจยึดไว้ก็จะต้องส่งต่อให้ ปปง. เช่นกัน
ซึ่งแม้ DSI จะเข้ามารับผิดชอบคดีฟอกเงิน แต่จะไม่ใช่การทำงานซ้ำซ้อนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้มองว่าเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ส่วนทรัพย์สินที่ตำรวจตรวจยึดไปก่อนหน้านี้ DSI ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นกับทางตำรวจมาดำเนินคดีฟอกเงินได้ทันที
ประเด็นที่สังคมสงสัยว่า นาฬิกาที่ตรวจยึดก่อนหน้านี้เป็นของปลอมหรือของแท้ พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ตรวจยึด เมื่อได้รับเบาะแส ฉะนั้นเราจึงต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเพื่อนำมาแสวงหาข้อเท็จจริง
ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือปลอม ถ้าเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าและเชื่อว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ต้องยึดมาตรวจสอบทั้งหมด และจะมีกระบวนการพิสูจน์ต่อไป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์แบรนด์ต่างๆ อยู่ระหว่างตรวจดูว่าของกลางเป็นของแท้หรือไม่
ทุกอย่างมีคุณค่าในการพิสูจน์ ถ้าเป็นของปลอมก็ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า ทำไมกลุ่มผู้กระทำความผิดพวกนี้ถึงมีของปลอม หรือจะต้องการเอาไว้หลอกว่าธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ ทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้ประชาชนยิ่งหลงเชื่อเข้าไปใหญ่
DSI เองต้องแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิสูจน์ความผิดต่อไป ว่าผู้ต้องหาเหล่านี้มีของปลอมไว้เพื่ออะไร ซึ่ง DSI ยังไม่ตัดประเด็นว่าทำของปลอมเพื่อต้องการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจริงหรือไม่ เพียงแต่ตรวจยึดไปตามเบาะแสที่ได้รับจากประชาชน
พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า ทรัพย์สินที่ DSI ยึดมาก่อนหน้านี้แบ่งเป็น กลุ่มแรก คือที่ดินที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นของผู้บริหาร บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กลุ่มที่ 2 คือที่ตั้งของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป รวมทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวนหลายแปลง กลุ่มที่ 3 คือทรัพย์สินที่ได้จากย่านรามอินทรา เป็นพวกนาฬิกาและกระเป๋าแบรนด์เนม
เมื่อถามว่า ผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินคือผู้ต้องหากลุ่มเดียวกับที่ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านี้หรือไม่ พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า ขณะนี้เชื่อว่าใช่ เพราะทั้งหมดมีพฤติการณ์รับโอนทรัพย์สินดังกล่าว และจากนี้ยังต้องขยายต่อไปยังบัญชีแถว 2 และ 3 ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแม่ข่าย
ด้าน วิทยา นิติธรรม โฆษก ปปง. กล่าวว่า สุดท้ายทรัพย์สินที่ตรวจยึดมาได้ไม่ว่าจะจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมาอยู่ที่ ปปง. เพื่อดำเนินการต่อไป
โดยจะมีการประมูลทรัพย์สินเพื่อนำเงินส่งคืนให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย การที่หน่วยงานต่างๆ ออกมาร่วมมือกันถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการรวบรวมทรัพย์สินจากการกระทำความผิดเพื่อเยียวยาพี่น้องประชาชน