จากกรณีที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นำเงินที่อายัดไว้คืนกลับโบรกเกอร์ 11 รายจำนวนประมาณ 4,500 ล้านบาท ตามที่ผู้เสียหายอย่างโบรกเกอร์ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ต้องหา
โดยโบรกเกอร์ได้จ่ายเงินค่าขายให้กับลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อขายที่มีความผิดปกติ กรณีการซื้อขายหุ้น บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โดยราคาหุ้น MORE ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด บวกแรงถึง 4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งวันที่สูงมากถึง 7,143 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วงที่เปิดตลาด มีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณเกือบ 4,300 ล้านบาท แต่หุ้นถูกเทขายอย่างหนักจนปิดตลาดที่ 1.95 บาท ลดลง 0.83 บาท หรือ -29.86% และถัดมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน หุ้น MORE เปิดตลาดด้วยราคา 1.37 บาท ลดลง 0.58 บาท หรือ -29.74% เท่ากับว่าหุ้น MORE ร่วง 2 ฟลอร์ติดกัน
ในเวลาต่อมาจึงเกิดการร่วมมือการทำงานเพื่อทั้งการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
หลังการทำงานร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน 2565 สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวของผู้ต้องหา ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำนวน 34 รายการ เป็นเงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น MORE รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4,500 ล้านบาท
ต่อมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 18 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ. มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE
ในส่วนของคดีอาญาในมือ การดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่รับเป็นคดีพิเศษ โดยได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีหุ้น MORE จำนวน 42 รายในฐานความผิดสร้างราคาหุ้น โดยในเดือนเมษายนปีนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 42 รายดังกล่าว
DSI เดินหน้าลุยคดีอาญาหุ้น MORE รอนัดหมายนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้อง
พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับกรณีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาล่าสุดในคดีหุ้น MORE ว่า ในส่วนของคดีแพ่งที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วนั้น เป็นมาตรการทางแพ่งของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ได้อายัดเงินที่โบรกเกอร์นำมาจ่ายไว้ก่อนหน้า โดยศาลได้มีคำสั่งให้เงินจำนวนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สิน และผู้ที่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินคงต้องไปดำเนินการตามกระบวนการเพื่อขอคืน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีอาญา ที่ DSI ดำเนินการอยู่ ยืนยันว่า ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการของ DSI โดยระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนไปยังอัยการแล้ว และแม้ว่าก่อนหน้านี้อัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องในบางส่วน แต่ DSI ได้ทำเรื่องแย้งไป ซึ่งล่าสุด อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้งหมดจำนวน 42 ราย
ภาพ : พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
“ตอนนี้คืออัยการสูงสุดน่าจะมีคำสั่งฟ้องแล้ว แต่ว่าเขาให้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเล็กน้อย ตอนนี้คือ รออัยการเขานัดหมายนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง น่าจะเป็นการนัดหมายเอาตัวไปฟ้องมากกว่า” อธิบดี DSI กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH
เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาในการดำเนินการ อธิบดี DSI คาดการณ์ว่ากระบวนการจะใช้เวลาไม่นาน และน่าจะสามารถส่งฟ้องได้ในเร็วๆ นี้
ปปง. พร้อมคืนเงินโบรกเกอร์ 11 ราย หากไร้คนยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง
ขณะที่รายงานข่าวจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ระบุว่า หลังจากที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมาในคดีหุ้น MORE ขณะนี้ สำนักงาน ปปง. อยู่ในระหว่างรอครบกำหนดระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ศาลพิพากษา เพื่อดูว่าจะมีฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่
ทั้งนี้หากพ้นกำหนด 30 วันแล้วไม่มีการอุทธรณ์เกิดขึ้น คำพิพากษาของศาลแพ่งจะถือเป็นที่สิ้นสุด จากนั้น ปปง. จะเข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยทรัพย์สินที่อายัดไว้คืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่คือโบรกเกอร์ทั้ง 11 รายตามที่ปรากฏชื่อ
โดย ปปง. ได้มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีหุ้น MORE ไว้รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนในการจัดเฉลี่ยเงินคืนผู้เสียหายนั้นจะต้องรอจนกว่าคำสั่งศาลจะถึงที่สุด
อีกทั้งตามหลักการทั่วไปของกฎหมายฟอกเงิน หากในภายหลังเราตรวจพบว่ามันมีทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มอีก ปปง. ก็ยึดเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
ดังนั้นหมายความว่า แม้ในอนาคตจะมีการตรวจพบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเพิ่มเติมอีก ปปง. ก็สามารถอายัดเพิ่มได้จนกว่าจะครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยหลักการดังกล่าวเป็นอำนาจที่กฎหมายฟอกเงินมอบให้ เพื่อให้สามารถติดตามและยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้อย่างต่อเนื่อง แม้ผู้กระทำผิดจะพยายามซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ก็ตาม