ทุกฤดูของช่วงเทศกาล ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของทุกสำนักข่าวที่ไม่เคยร้างราจากหน้าจอใดๆ คือการรายงานข่าวการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน แม้ว่าหนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆ ยังคงเป็นเรื่องการใช้ความเร็ว จนทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่เกาะตามกันมาคือการเมาแล้วขับ ทั้งที่เรื่องหลังนั้นเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากผู้ดื่มมีความรู้เรื่องการดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) และการดื่มอย่างรับผิดชอบ (Responsible Drinking) คือดื่มอย่างพอดี รู้ลิมิตตัวเอง
เราเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าการดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมานั้นไม่ดี และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ แต่ถ้าสายดื่มตัวยงทั้งหลายยังคงทำตัวเป็นปกติ ให้น้ำหนักกับความสนุกในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ถอดบทเรียนจากความสูญเสียที่ผ่านมา วัฒนธรรมการดื่มอย่างมีสติ ดริงก์อย่างมีไอคิว ก็คงไม่เกิด
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดื่มหรือเป็นผู้ใกล้ชิดนักดื่ม เราอยากถือโอกาสนี้ชวนคุณมา Stay Safe กับเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ให้พอๆ กับ Stay Safe เรื่องโควิด-19 เป็นการ Safe ความสูญเสียในภายภาคหน้าจากความเมามายไม่ได้สติ สร้างสังคมให้ปลอดภัย และทำให้ผ่านช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองไปได้อย่างรู้เท่าทันและมีความสุขไม่ว่าจะสถานการณ์ใด เพื่อตัวเอง เพื่อคนที่รัก และเพื่อส่วนรวม ไปด้วยกัน
‘เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แต่ใจที่อยากสังสรรค์ยังดำเนินต่อ’
ดื่มในบ้าน สนุกได้แบบไม่เสี่ยงโรค
เข้าใจดีว่าสำหรับบางคนแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นความคุ้นชิน ไม่ว่าจะติดกับรสชาติ บรรยากาศ การเข้าสังคม หรือคนที่ร่วมวงแฮงเอาต์ด้วย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การสังสรรค์ตามสถานบันเทิงต้องหยุดชะงัก การดื่มที่บ้านจึงเป็นวิถีใหม่ เพื่อควบคุมเรื่องการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แต่จะดื่มที่บ้านอย่างไรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำลายสุขภาพ และไม่เพิ่มภาระให้สังคม นี่คือเรื่องที่นักดื่มที่ดีควรตระหนักยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
-
การดื่มอย่างพอดี
เมื่อความเมาของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วเราจะรู้ถึงความพอดีในการดื่มของตัวเองได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ยาก แค่สายดริงก์ทั้งหลายลองหันมาใส่ใจพฤติกรรมการดื่มของตัวเอง โดยเราขอแนะนำตัวช่วยง่ายๆ คือการสำรวจตัวเองอย่างจริงจังผ่านแบบทดสอบที่เว็บไซต์ DRINKiQ Quiz ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจปริมาณการดื่มของตน รู้จักการวัดปริมาณการดื่มตามข้อเท็จจริง และตัดสินใจสำหรับการชนแก้วครั้งต่อไปได้ดีขึ้น
-
เลิกเชื่อความเชื่อผิดๆ การเมาสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อดื่มเกินลิมิต
แอลกอฮอล์คือแอลกอฮอล์อยู่วันยันค่ำ มีส่วนประกอบหลักเป็นเอทานอล ขึ้นอยู่กับว่าจะมากหรือน้อย ไม่ว่าคุณจะดื่มในรูปแบบเบียร์ ไวน์ หรือสุรา ต่างก็มีปริมาณแอลกอฮอล์รวมอยู่ในตัวเลขที่แตกต่างกัน ซึ่งปริมาณการดื่มตามมาตรฐานสากลคือ วิสกี้หรือวอดก้า 40-43% = 3 ฝา (รวม 30 ml), เบียร์หรือ RTD 5% = 1 กระป๋อง หรือขวดเล็ก (330 ml), ไวน์ 11-13% = 1 แก้ว (100 ml) ดังนั้นเลิกความเชื่อผิดๆ อย่าง ดื่มไวน์ ดื่มเบียร์ ไม่อันตรายเท่าดื่มเหล้า, ดื่มอย่างใดอย่างหนึ่งดีกว่าดื่มผสมกัน หรือดื่มเพื่อเป็นยาไปได้เลย เพราะไม่ว่าจะดื่มแบบไหน หากไม่รู้ลิมิต ก็ทำให้เกิดความเมามายไม่ได้สติไม่ต่างกัน
-
ท้องว่างอย่าดื่ม
ก่อนดื่มทุกครั้งแนะนำให้หาอะไรรองท้องก่อน เพื่อให้อาหารเข้าไปช่วยชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์ของร่างกายและสมอง ที่สำคัญต้องดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอกับร่างกายในขณะดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
-
เบาได้เบา ลดได้ลด
ถ้าการเลิกดื่มดูเป็นเรื่องยาก ลองกำหนดวันงดดื่มเพื่อไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง เพราะในอีกนัยหนึ่ง การไม่ดื่มถือว่าเป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังมีครรภ์ มีปัญหาสุขภาพที่ต้องระมัดระวัง เป็นต้น
ดื่มนอกบ้าน รอคอยเวลาให้โควิด-19 ซา ค่อยออกไปดื่มอย่างรับผิดชอบและดื่มมาตรฐานอีกครั้ง
เข้าใจอีกเช่นกันว่าตามปกติแล้วเทศกาลหยุดยาวกับการเฉลิมฉลองย่อมเป็นของคู่กัน นอกเหนือจากประเด็นการดื่มข้างต้นแล้ว เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันของประเทศไทยก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ปล่อยปละละเลย เพราะการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นกระจายตัวเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วไม่ใช่เล่นๆ และในหลายพื้นที่ก็มีการยกระดับความเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลประกาศให้ปิดผับ บาร์ สถานบันเทิงทุกแห่ง จำนวน 41 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 10-23 เมษายน 2564 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, นครนายก, นครปฐม, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, นนทบุรี, นราธิวาส, บุรีรัมย์, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ภูเก็ต, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, เลย, สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, พระนครศรีอยุธยา และอุดรธานี (ข้อมูลประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน 2564) นั่นแปลว่าโอกาสในการออกมาดื่มฉลองนอกบ้านแทบเป็นศูนย์ โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่ในพื้นที่สีแดง หรือแม้ว่าคุณจะอยู่ในพื้นที่นอกการควบคุม การยกแก้วดื่มนอกบ้านแต่ละครั้งก็ยังเป็นความเสี่ยงอยู่ดี
ดังนั้นสิ่งที่คนรักการดื่มจะทำได้ในช่วงเวลานี้คือ ติดตามข่าวสารประกาศจากทางภาครัฐและจังหวัดต่างๆ และลองใช้โอกาสนี้ติดอาวุธด้านการดื่มอย่างมีความรู้ให้กับตนเอง แล้วรอคอยเวลาที่มีการประกาศผ่อนปรนให้ผับ บาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง กลับมาเปิดให้บริการและจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตามปกติอีกครั้ง เพื่อที่การยกแก้วจากนี้ต่อไปจะเป็นการยกที่มีสติ ลดทอนความสูญเสีย เพราะเราได้มีเครื่องมือในการสร้างสังคมปลอดภัยเข้ามาแทนที่การเพิ่มภาระให้สังคม ด้วยการดื่มอย่างรับผิดชอบและดื่มมาตรฐานแล้ว
เรายังมีความหวังว่า นักดื่มรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักต่อสังคมจะร่วมกันสร้างพฤติกรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบให้เป็นจริงได้ อ้างถึงแบบสำรวจออนไลน์ที่ DMHT หรือดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สร้างสรรค์แคมเปญ DRINKiQ ได้ทำแบบสำรวจออนไลน์เพื่อสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ของคนไทยทั่วประเทศแล้วพบว่า คนไทยมีการตอบสนองในเชิงบวก และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองตามสภาพแวดล้อมทางสังคม รวมทั้งมีแนวโน้มจะสนับสนุนให้ผู้อื่นเป็น ‘ผู้ดื่มที่ดีขึ้น’ ตามมา เพื่อให้เกิดสังคมการดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในอนาคต ขอให้ทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ มีความสุขในวันหยุดยาว และดื่มอย่างรับผิดชอบ
และสำหรับคนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดื่มมาตรฐาน รวมถึงการดื่มอย่างรับผิดชอบ สามารถหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ drinkiq.com/th-th/
อ้างอิง:
- https://www.diageo.com/en/in-society/drinkiq/alcohol-facts-thailand-th/
- https://www.ddd.or.th/
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915576
- https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1565179/
- https://thestandard.co/happiness-behavior-drunkdriving/
- https://thestandard.co/refusing-to-measure-alcohol-level-is-it-wrong/
- https://alcoholrhythm.com/drink-and-emotions/
- https://www.bolttech.co.th/blog/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C