เราต่างรู้กันดีว่าวิกฤตการณ์ร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะด้านลบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล ความเหนื่อยล้า หรือความเบื่อหน่าย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นผลกระทบหลักๆ ที่เราพอจะนึกออก แต่ทราบไหมว่าลึกๆ แล้วยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกอย่างหนึ่งที่มาในรูปแบบของ ‘ความฝัน’
เวลาที่ชีวิตเผชิญหน้ากับความลำบาก ความคิดมักจะโลดแล่นไปหาความทรงจำเก่าๆ ทั้งดีและร้าย ซึ่งหลายคนก็กำลังหยุดตัวเองไม่ให้นึกถึงความทรงจำแย่ๆ เหล่านั้นอยู่ แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดนี่สิ มันช่างกระตุ้นให้เรื่องแย่ๆ ประดังเข้ามาในหัวบ่อยครั้ง แล้วบางคนก็เก็บเอาไปฝันร้ายบ่อยๆ ราวกับถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ เกิดเป็นความสงสัยจนต้องเสิร์ชถามอากู๋ให้รู้แล้วรู้รอด
ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่มีมาตรการกักตัวและปิดประเทศ ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับปัญหาการนอนหลับและฝันประหลาดๆ จนมีการเสิร์ชถามในกูเกิลว่า “ทำไมช่วงนี้ฉันชอบฝันแปลกๆ อยู่เรื่อยๆ” หรือ “ทำไมช่วงนี้ฉันฝันร้ายบ่อยๆ” เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความฝันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางอารมณ์ เวลาที่เรากำลังฝัน พื้นที่ของสมองที่ทำงานเกี่ยวกับการประมวลผลนี้จะทำงานเพิ่มขึ้น 30% ในช่วง REM เมื่อเทียบกับตอนตื่น (REM คือช่วง 90 นาทีหลังจากเรานอนหลับ) ซึ่งความฝันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ และในขณะเดียวกัน สมองส่วนที่ใช้ความคิดแบบมีเหตุผลจะถูกปิดใช้งาน ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเราอยู่ในความฝันหรือความจริง
แน่นอนว่าคนเราฝันอะไรไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นพบเจออะไรมา หรือมีเรื่องอะไรซ่อนอยู่ภายในจิตใจ แต่ช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะมีความฝันยอดฮิตที่ผู้คนจำนวนมากฝันถึงบ่อยที่สุดก็คือฝันถึงคนรักเก่าหรือแฟนเก่า จนมีคนเสิร์ชหาคำตอบบนกูเกิลเพิ่มมากขึ้นถึง 2,450% และรองลงมาคือฝันว่าตัวเองตกจากที่สูง (เพิ่มขึ้น 600%), ฝันว่าตัวเองฟันหลุด-ผมร่วง (400%) และฝันถึงใครสักคน (ที่ไม่คิดว่าจะฝันถึง) (300%)
ทำไมในช่วงวิกฤตคนถึงฝันอะไรแปลกๆ มากขึ้น หรือความฝันเหล่านี้กำลังบ่งบอกอะไรบางอย่าง แต่แล้วทำไมต้องเชื่อมโยงความยากลำบากเข้ากับความทรงจำร้ายๆ ด้วยล่ะ
แมทธิว โบวส์ นักจิตอายุรเวทมากประสบการณ์ในไบรท์ตัน อธิบายว่าผู้คนมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความฝันมากขึ้น และฝันบ่อยขึ้นในช่วงที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือเวลาที่เกิดวิกฤตบางอย่าง เช่น โดนไล่ออกจากงาน เปลี่ยนงาน สูญเสียคนในครอบครัว ซึ่งในเวลานี้เราหลายๆ คนกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงเดียวกัน เพราะทั้งโลกกลับตาลปัตรไปหมดด้วยโรคโควิด-19
“ความฝันประหลาดๆ แสดงให้เห็นว่าเรากำลังจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลที่มากกว่าปกติ ซึ่งขณะนี้พวกเรากำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ต้องจัดการกับหลายๆ อย่าง สิ่งที่เราเคยกังวลตั้งแต่ก่อนหน้าเกิดโรคระบาดก็ดูเหมือนจะถูกทำให้แย่ลงไปอีก ราวกับว่าปัญหาหลายอย่างกำลังถาโถมใส่ แต่ทุกคนกลับมองไม่เห็น” โบวส์เสริม ซึ่งความเครียดและความกังวลที่ว่าอาจเชื่อมโยงกับมาตรการเข้มงวดที่เรากำลังรับมืออยู่ก็เป็นได้
มีอีกแนวคิดหนึ่งที่สามารถอธิบายความฝันของผู้คนในช่วงนี้ได้ นั่นก็คือแนวคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญของโลกผู้เชื่อว่าความฝันเป็นตัวแทนของความปรารถนาในจิตใจมนุษย์ เพราะเมื่อพวกเราทุกคนติดอยู่กับความโดดเดี่ยว ขาดเพื่อนฝูง ขาดสังคม เป็นไปได้ที่ความฝันของเราจะสะท้อนถึงความปรารถนาของเราเมื่อครั้งที่ชีวิตยังเป็นปกติ
ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ชีวิตประจำวันของเราขาดหายไปบางส่วนจากวิกฤตโรคระบาด จู่ๆ ก็ต้องยืนห่างกัน 1-2 เมตร อาหารบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ว่างเปล่า ไม่ได้พบเจอใครบางคนเหมือนเช่นเคย จึงไม่แปลกใจที่เราจะเริ่มมีภาพความทรงจำในอดีต หรือเกิดคิดถึงอะไรเก่าๆ ขึ้นมาเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ความปรารถนา ความตึงเครียด และการเปลี่ยนแปลงในสังคมมีผลทำให้คนเราฝันร้าย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตร้ายๆ เช่นเดียวกันกับตอนที่สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดย มาร์ธา ครอว์ฟอร์ด นักจิตวิทยาบำบัด ได้ทำการรวบรวมความฝันของผู้คนหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเธอพบว่าความฝันเหล่านั้นมีการเชื่อมโยงกับ ‘ความวิตกกังวลขั้นรุนแรง’ และเป็นความวิตกกังวลในประเภทเดียวกับสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้
นอกจากนี้เธอยังพบอีกว่าฝันร้ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับตารางเวลาการนอนที่เปลี่ยนไปอีกด้วย เนื่องจากหลายคนต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ หรือเปลี่ยนมา Work from Home แทน ทำให้ชีวิตต้องปรับตัวหลายๆ อย่าง รวมไปถึงการพักผ่อนที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเช่นกัน
อย่างน้อยก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่ฝันร้ายบ่อยๆ ในช่วงนี้ และยังมีคนจำนวนมากที่ฝันถึงเรื่องราวแปลกๆ เป็นเพื่อนกัน เพราะทุกคนต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ไม่ต่างกันสักเท่าไร แต่เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาแย่ๆ นี้ไปได้ เราคงต้องใช้เวลาทำตัวให้ชินกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ และโฟกัสความสุขในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ความคิดไม่แล่นไปคิดถึงความทรงจำร้ายๆ จนเก็บไปฝันอีก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.vice.com/en_asia/article/g5x4kb/dream-ex-boyfriend-girlfriend-coronavirus-pandemic-quarantine
- https://www.birminghammail.co.uk/news/midlands-news/reason-youre-having-dreams-your-18135351
- https://www.dazeddigital.com/science-tech/article/48725/1/why-we-are-all-having-bizarrely-vivid-dreams-in-coronavirus-quarantine