×

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยประกาศดันต่อ จุดคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง จับตา TOR ดิวตี้ฟรีเดือนนี้

04.09.2018
  • LOADING...

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเปิดตัวประธานคนใหม่ วรวุฒิ อุ่นใจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ B2S และ Officemate ให้บริการผสมผสานค้าปลีกหลายช่องทาง (Omni Channel) โดยวรวุฒิชี้ประเด็นสำคัญเรื่องการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยว ซึ่งโดยปกติจะเติบโตสอดคล้องกัน ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงติดอันดับโลก แต่อัตราการเติบโตของภาคค้าปลีกกลับขยายเพียง 3.8% เท่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่ขยายตัว 8-12% สาเหตุที่ชัดเจนคือนักท่องเที่ยวเลือกช้อปปิ้งที่ประเทศไทยไม่มากเท่ากับที่รัฐบาลตั้งเป้าเรื่องสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง (Shopping Paradise) ที่ประกาศเอาไว้

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยตั้งโจทย์ใหญ่เรื่องธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรีของไทย ตั้งแต่เรื่องการเปิดจุดบริการคืนเงินภาษีในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourist) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เมื่อได้เงินคืนภาษีกลับมานักท่องเที่ยวก็จะนำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศต่อ ถือเป็นประโยชน์สำหรับร้านค้าขนาดเล็ก และยังเป็นแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น

 

ปัจจุบันจะมีจุดบริการคืนเงินภาษีให้นักท่องเที่ยวที่สนามบินเท่านั้น และดำเนินการโดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ตามปกตินักท่องเที่ยวจะทำเรื่องคืนภาษีเมื่อเดินทางกลับประเทศของตน และมักเลือกคืนเป็นเงินสกุลหลักของตน ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในระบบ

 

นอกจากนี้ทางสมาคมยังเรียกร้องให้ทางการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick Up Counter) ที่ ทอท. ดำเนินการเองหรือให้บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีดำเนินการ เพื่อเป็นการเปิดเสรีให้กับร้านค้าดิวตี้ฟรีในเมืองอย่างเท่าเทียม ซึ่งประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 ก็ระบุเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะนี้ยังดำเนินการโดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ได้สิทธิสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีอยู่ด้วย

 

สิ่งที่ต้องจับตาคือทีโออาร์สัมปทานดิวตี้ฟรีจาก ทอท. ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งสัมปทานของผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2563 นี้ ทางสมาคมเคยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไปแล้วทั้งเรื่องการพิจารณาให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียวเป็นระบบสัมปทานตามหมวดสินค้า การกำหนดระยะเวลาสัมปทานที่ใกล้เคียงกับสากลคือ 5-7 ปี หรือการเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้กับประเทศ ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25-47% ในขณะที่ประเทศไทยยังเก็บที่ 19% เท่านั้น

 

วรวุฒิให้ข้อมูลว่าทางสมาคมพยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด และจะดำเนินการต่อไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความเสมอภาคของการแข่งขันในวงการค้าปลีก ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบสำหรับจุดบริการคืนภาษีในเมืองกับทาง Global Blue ร่วมกับสยามพิวรรธน์ เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และโรบินสัน คาดว่าถ้าเดินหน้าต่อได้ตามที่วางแผนไว้ จะมีจุดบริการ 5-6 จุดสำหรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X