วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน โดยรัฐบาลสั่งการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐบูรณาการความร่วมมือเดินหน้าปราบปราม หยุดยั้งการลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด
หากพบเห็นว่าพื้นที่ใดมีการเปิดขายอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายและมีเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีร้านขายหรือรับสินบนเพื่อให้เปิดร้านขายได้ก็จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทันที
“ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนในสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดสำหรับผู้ฝ่าฝืน โดยผู้ที่จำหน่ายหรือให้บริการมีความผิดตามกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่นำเข้าจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ”
อนุกูลกล่าวต่อว่า รัฐบาลเร่งเตือนภัยกลุ่มเด็กและเยาวชนจากกรณีปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ขยายตลาดในกลุ่มลูกค้ารายใหม่ โดยพบว่าปัจจุบันกลุ่มเด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับภัยอันตรายที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์ และด้วยรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมักโฆษณาขายสินค้าในโลกออนไลน์โดยมีราคาถูก พบราคาต่ำสุดเพียง 99 บาท ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้โดยง่าย
อีกทั้งลักษณะรูปทรงที่ดึงดูดใจเด็กและเยาวชน และไม่โดดเด่นแปลกตา ทำให้ผู้ปกครองไม่ทันสังเกต ปัจจุบันพบบุหรี่ไฟฟ้ามาในลักษณะคล้าย Art Toy หรือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ ‘บุหรี่ไฟฟ้าโดราเอมอน’
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันของไทย การสูบบุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างน่าเป็นห่วง ทั้งที่กฎหมายระบุอย่างชัดเจนในเรื่องการห้ามขาย ห้ามนำเข้า อีกทั้งมาตรการคุมเข้มในการปราบปรามของหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังขายอย่างแพร่หลาย
รวมถึงผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับรูปแบบ รูปทรงที่ดึงดูดใจ และแต่งกลิ่นให้คล้ายขนม นม ช็อกโกแลต ทำให้ตบตาผู้ปกครองและครูได้อย่างแนบเนียน มุ่งเจาะกลุ่มตลาดลูกค้าเด็กและเยาวชน ทำให้แนวโน้มตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร พบตัวเลขของเด็กและเยาวชนไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าถึง 18.6% โดยมีความเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ถึง 61.23% เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย 51.19% มีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.28% และเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 23.28%
อนุกูลกล่าวอีกว่า ด้วยปัจจัยจากผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเยาวชนเกี่ยวกับภัยอันตรายที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นเยาวชนมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ราย