×

‘ดอนกอยโมเดล’ ต้นแบบการพัฒนาผ้าย้อมคราม สู่งานคอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย ยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่ตลาดโลก [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
22.08.2022
  • LOADING...
ดอนกอยโมเดล

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘ดอนกอยโมเดล’ โครงการกลุ่มผ้าทอต้นแบบ ของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จากพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่สนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินงานตามพระราชดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอยไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ 
  • นับตั้งแต่ปี 2563 ที่พระองค์เสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภูไทยที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม ใช้เวลาพัฒนาไม่ถึง 2 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามที่เกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ทันสมัย และเฉดสีที่อิงเทรนด์แฟชั่น สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน  
  • ต่อยอดสู่การเป็นโครงการต้นแบบที่ยั่งยืน ด้วยการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’

ความตอนหนึ่งในหนังสือ ‘ดอยกอยโมเดล: ครามและสีย้อมธรรมชาติ สู่คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย’ คู่มือการพัฒนาหมู่บ้านทอผ้าย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติ ของอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หยิบยกพระราชดำรัส และพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ความว่า “คนไทยทุกคนมีความคิดเป็นศิลปินอยู่ในสายเลือด เพียงได้รับโอกาสและคำชี้แนะ ก็จะสามารถสร้างผลงานชิ้นเอกให้ได้เห็น เป็นมรดกของชาติที่น่าภูมิใจ และควรค่าแก่การรักษาไว้”  

 

พระราชดำรัสนี่เองที่จุดประกายให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสานและต่อยอดโครงการตามพระราชดำริหลายโครงการ ที่มุ่งเน้นการฟื้นคืนชีพให้แก่ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะ ‘ผ้าไทยพื้นถิ่น’ ตามภูมิภาคต่างๆ

 

ดอยกอยโมเดล

ดอยกอยโมเดล

 

ซึ่งหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จ และกำลังกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่น เพื่อวิถีชุมชนยั่งยืนก็คือ ‘ดอนกอยโมเดล’ โครงการกลุ่มผ้าทอต้นแบบที่สนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินงานตามพระราชดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอย ไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ

 

ย้อนรอยความงามผ้าครามสกลนคร

ว่ากันว่า ภูมิปัญญาพื้นถิ่นเรื่องผ้าครามในเมืองไทยเกิดขึ้นที่จังหวัดสกลนคร จนได้สมญานามว่าเป็น ‘นครหัตถศิลป์โลกเจ้าแห่งครามธรรมชาติ’ (World Craft City for Natural Indigo) ซึ่งมีผ้าย้อมครามเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ปัจจุบันผ้าย้อมครามของจังหวัดสกลนครได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า  

 

ดอยกอยโมเดล

ดอยกอยโมเดล

 

เดิมทีทั้ง 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร มีกลุ่มทอผ้าย้อมครามซึ่งมีกรรมวิธีการย้อมต่างกันไปตามภูมิปัญญาแต่ละพื้นถิ่น แต่ด้วยวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้การย้อมและทอผ้าครามเสื่อมความนิยม แต่ด้วยพลังของชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมครามในอำเภอพรรณานิคม ได้ร่วมกันฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นขึ้นใหม่ นำองค์ความรู้เรื่องการปลูกต้นคราม การย้อมคราม ย้อมสีธรรมชาติ และการทอผ้าครามถ่ายทอดให้แก่เครือข่ายและผู้ที่สนใจ ทำให้ผ้าทอย้อมครามฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งตั้งแต่ปี 2535 

 

จุดเริ่มต้น ‘ดอนกอยโมเดล’ ต่อยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ 

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภูไทยที่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จึงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอยให้มีความทันสมัย ยกระดับภูมิปัญญาและชิ้นงานให้เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก เกิดเป็นรายได้ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น  

 

ดอยกอยโมเดล

ดอยกอยโมเดล

 

ด้วยเหตุนี้เอง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงดำเนินการโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง โดยบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า การออกแบบ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล 

 

ต่อยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เล่าถึงความประทับใจในน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ฯ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชาวดอนกอย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่การต่อยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ว่า

 

“พระองค์ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาต่อยอดลายใหม่จากรากฐานลายเดิม ทรงลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และสอนให้พัฒนาต่อยอดด้วยการประยุกต์ลายผ้าเก่า ผสมผสานข้ามลายใหม่ๆ นำเทคนิคต่างๆ มาใช้ และใส่เรื่องราวเข้าไปในลายผ้า โดยพระราชทานลายผ้ามัดหมี่ ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ และ ‘ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา’ ซึ่งล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากลานดั้งเดิมของชุมชนชาวดอนกอย ชาวบ้านเขามีพื้นฐานงานหัตถกรรมอยู่แล้ว แค่แนะนำแนวทางที่ถูกต้องก็นำไปพัฒนาต่อยอดได้ทันที”  

 

ดอยกอยโมเดล

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

สุทธิพงษ์ยังบอกด้วยว่า นอกจากจะทรงลงมาสอนด้วยตัวพระองค์เอง ยังทรงเชิญผู้มีความสามารถด้านการออกแบบ ดีไซเนอร์คนรุ่นใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้ามาให้ความรู้แบบ Learning by Doing ตั้งแต่การพัฒนาผ้าครามสีเข้มให้กลายเป็น 6 เฉดสีโดยอิงจากเทรนด์สีแฟชั่น ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งที่ออกแบบโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของคนดอนกอย เพื่อช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับผ้าไทย จากเดิมที่มองว่าคนใส่ผ้าไทยแล้วแก่ ต้องใส่ในงานพิธีการเท่านั้น แต่จริงๆ ผ้าไทยใส่ได้ทุกวาระ ทุกโอกาส ตามแนวคิด ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ 

 

ใช้เวลาพัฒนาไม่ถึง 2 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามที่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นผ้าไทยที่ใส่สนุก เกิดเป็นลวดลายใหม่ๆ ดีไซน์ที่ทันสมัย และเฉดสีที่อิงเทรนด์แฟชั่น จนสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากเดิม 700 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน  

 

ส่งต่อภูมิปัญญาและแนวคิดสู่คนรุ่นหลัง ผ่านศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’

สิ่งที่จะทำให้การส่งมอบองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับคนในชุมชนดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าควบคู่ เพื่อให้องค์ความรู้การทอผ้า การฟอก ย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบ ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดถูกถ่ายทอดต่อยังคนรุ่นหลัง กรมการพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร จึงสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ‘วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด ถ่ายทอดองค์ความรู้ กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผู้สนใจสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้  

 

ดอยกอยโมเดล

 

ต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ดอนกอยโมเดล ไม่เพียงแต่เป็นโครงการต้นแบบเรื่องการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาต่อยอด แต่ยังเป็นแบบอย่างเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทำผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมหากใช้สารเคมีในการย้อมผ้า 

 

ส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สนับสนุนให้คนในพื้นที่ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ 

 

“การดำเนินงานโครงการเพื่อสนองแนวพระราชดำริในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมีแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอื่นๆ อย่างน้อยที่สุด ในจังหวัดสกลนครทุกอำเภอจะเริ่มมีการนำโมเดลนี้เข้าไปใช้” สุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย  

 

ดอยกอยโมเดล

ดอยกอยโมเดล

ดอยกอยโมเดล

 

จาก ‘ดอนกอยโมเดล’ สู่ ‘ดอนกอยโมเดลแฟชั่นคอลเลคชั่น’

ปัจจุบันโครงการดอนกอยโมเดล ต่อยอดไปสู่โครงการ ‘ดอนกอยโมเดลสู่ตลาดสากล’ สร้างสรรค์แฟชั่นคอลเลคชั่นร่วมสมัยเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยความร่วมมือจาก 7 กลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ก่อนจะคัดเลือกผืนผ้าที่มีความโดดเด่นไปออกแบบเป็นเสื้อผ้า โดยนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ศิริชัย ทหรานนท์ จากแบรนด์ THEATRE, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข จากแบรนด์ WISHARAWISH และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าที่ได้มาตรฐาน และมีความเป็นสากล นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตลาดโลก 

 

ดู ‘ดอนกอยโมเดลแฟชั่นคอลเลคชั่น’ และสั่งซื้อสินค้าได้ที่ donkoimodel.com/donkoiglobalcatalog

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X