แกนความคิดอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รื้อถอน ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ ออกไปจากดอยสุเทพของชาวเชียงใหม่ที่น่าสนใจคือ การอธิบายว่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังเห็นได้จากในพิธีกล่าวปฏิญาณต่อองค์อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ว่าจะ “ดูแลรักษาดอยสุเทพ อันเป็นสลีของเวียงพิงค์… เป็นขุนน้ำแกนดอย เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์” ยังไม่นับรวมป้ายต่างๆ ที่ชูในระหว่างการเดินขบวน
คนทั่วไปอาจรับรู้ว่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองคือ พระธาตุดอยสุเทพ หากแต่ในความจริงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพนั้นนับย้อนกลับไปได้กว่าพันปี
ดอยศักดิ์สิทธิ์ของชาวลัวะ
ย้อนกลับไปราว 1,300 ปีที่แล้วหรือนานกว่านั้น ดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางชุมชนชาวลัวะ-เลอเวือะ ขนาดใหญ่ ต้นตระกูลบรรพชนชาวลัวะคือ ปู่แสะย่าแสะอาศัยอยู่ที่นี่ คนกลุ่มนี้นับถือผี ดังปรากฏในตำนานพระธาตุดอยคำ
อยู่มาวันหนึ่ง มีพระสงฆ์จากรัฐทวารวดีขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาพุทธ ซึ่งตำนานว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ได้เจอ ‘ยักษ์’ สามตนคือ ปู่แสะ ย่าแสะ และลูก ยังชีพด้วยเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ เมื่อยักษ์ (ชนพื้นเมือง) ทั้งสามตนนี้เห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน พระพุทธเจ้าจึงปราบยักษ์และให้รักษาศีลห้าตลอดไป
การปราบยักษ์และรับศีลนี้ก็คือสัญลักษณ์ของการรับอารยธรรมใหม่นั่นเอง ลูกของปู่แสะย่าแสะจึงออกบวชได้ชื่อว่า วาสุเทพ (สุเทวรสี) แต่บวชไปบวชมาศีลเยอะถือไม่ไหว คงเพราะไม่ชิน เนื่องจากเพิ่งเปลี่ยนจากถือผีเป็นพุทธ ดังเห็นได้ว่าปู่แสะย่าแสะยังต่อรองด้วยการขอกินควายอยู่ จึงเกิดประเพณีฆ่าควายเลี้ยงผีที่เรียกว่า ‘พิธีเลี้ยงดง’ จนถึงทุกวันนี้ จัดกันที่ดอยคำ
รูปปั้นจำลองของปู่แสะย่าแสะที่ดอยคำ
ประเพณีฆ่าควายเลี้ยงผี วิถีความเชื่อดั้งเดิมของคนเชียงใหม่ที่สืบรากมาจากลัวะ
ไม่ใช่พิธีน่ารังเกียจทำร้ายสัตว์และทำให้เป็นของแปลกดังเช่นที่สื่อบางแห่งชอบนำเสนอ
จากดอยผีเปลี่ยนเป็นดอยพุทธ
ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ ได้มอบพระเกศาธาตุให้ 1 เส้น และแนะนำให้บรรจุพระเกศาธาตุไว้ที่ ‘ดอยอุจฉุปัพพต’ คือดอยสุเทพนั่นเอง
ตำนานยังเล่าต่อไปอีกว่า ‘พญาอินทร์’ ได้มารับเอาพระเกศาธาตุเส้นนั้นจากมือของย่าแสะแล้วได้เนรมิตแปงอุโมงค์ในดอย ซึ่งอุโมงค์นั้นมีขนาดลึกจากยอดดอยลงไป 18 ศอก กว้างประมาณ 4 วาอก แล้วจึงได้เนรมิตโกศแก้ว โกศทองคำ และโกศเงินเป็นโกศชั้นนอกสุดเพื่อใส่พระธาตุพระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งมีพุทธทำนายว่า ในอนาคตเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วจะมีลูกศิษย์ของพระองค์มีชื่อว่า ‘สุมนภิกขุ’ พร้อมพญาตนหนึ่งจะนำพระธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ที่ดอยแห่งนี้
ถ้าเชื่อตามตำนาน พระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจึงถูกบรรจุที่ยอดดอยสุเทพ บ้างว่าคือพระธาตุดอยสุเทพ บ้างว่าอาจเป็นที่โบราณสถานสันกู่บนยอดดอย
หลังสึก วาสุเทพจึงถือครองเพศเป็นฤษี ไปครองดอยอุจฉุปัพพต หรือมีชื่อไทๆ ว่า ‘ดอยอ้อยช้าง’ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ดอยสุเทพ’ ตามชื่อฤษีนั่นเอง ที่พำนักของฤษีวาสุเทพคงอยู่ที่ถ้ำฤษีปัจจุบันนี้ ห่างออกไปจากวัดพระธาตุดอยสุเทพเล็กน้อย
ผู้เขียนเคยขุดค้นทางโบราณคดี ภายใต้การควบคุมจากสำนักโบราณคดีที่ 8 เชียงใหม่ บริเวณถ้ำเพิงผา พบอิฐรุ่นเก่าอาจถึงสมัยหริภุญไชย ตรงเพิงผาพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน คาดว่าอาจอยู่ในช่วงสมัยยุคเหล็กตอนปลายราว 2,000-2,500 ปีมาแล้ว
ถ้ำฤษี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บนดอยสุเทพ เชียงใหม่
ในภาพมีพระธุดงค์มาปักกรดตรงเพิงผา ที่กึ่งกลางเป็นรูปจำลองของฤษีวาสุเทพ
และมีศาลเพียงตาอยู่ข้างๆ
โบราณสถานสันกู่ บนดอยสุเทพ ซึ่งเคยขุดพบพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชย
ศึกสองตระกูล
สังคมวัฒนธรรมในช่วงนั้น ฤษีวาสุเทพคล้ายหัวหน้าเผ่า และศักดิ์สิทธิ์มาก ปกครองคน 4 ตระกูลคือ ตระกูลวัว แรด ช้าง และกวาง มีลูกหลานสายตรงคือตระกูลกวาง ในตำนานพญามังรายจึงมีเรื่องการติดตามกวางทอง
แต่แล้ววันหนึ่ง ตระกูลของฤษีวาสุเทพขัดแย้งกับขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งถือเป็นกษัตริย์ของชาวลัวะ ฤษีวาสุเทพไปเชิญพระนางจามเทวีมาคานอำนาจ และสานต่อความเชื่อพุทธศาสนา พอสร้างเมืองหริภุญไชยเสร็จ ดอยสุเทพจึงเริ่มกลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพุทธมากขึ้น เห็นได้จากมีการสร้างกู่ดินขาว
ขุนหลวงวิลังคะสู้รบกับพระนางจามเทวี จนไปตายที่เมืองก๊ะ ถึงกับสั่งลูกน้องให้แบกศพไปฝังที่ดอยสุเทพ โชคร้ายที่ไปไม่ถึง โลงคว่ำที่ดอยคว่ำล่องใกล้ม่อนแจ่มเสียก่อน ตรงนี้ทุกวันนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย
อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะพุ่งหอกสนาว ที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ดอยสุเทพคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ดอยสุเทพได้สถาปนาเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธเถรวาทก็ต่อเมื่อพญากือนาได้อัญเชิญพระสุมนภิกขุมายังเชียงใหม่ และสร้างวัดสวนดอกให้ กลายเป็นนิกายวัดสวนดอก หรือบุปผารามจนถึงทุกวันนี้ ส่วนพระสุมนภิกขุ หรือพระสุมนเถระ ไม่ได้มามือเปล่า แต่ท่านเดินทางมาจากสุโขทัยพร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีใน พ.ศ. 1913 พญากือนากับพระสุมนเถระจึงนำพระบรมสารีริกธาตุขึ้นหลังช้างไปประดิษฐานขึ้นไปทางวัดฝายหิน (ดอยหมากหนุน) ผ่านวัดสามยอด วัดผาลาด จนถึงยอดดอยสุเทพทุกวันนี้ จึงได้ขุดหลุมฝังพระบรมสารีริกธาตุ และก่อเจดีย์ขึ้น กลายเป็นพระธาตุดอยสุเทพนั่นเอง ซึ่งเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพที่เห็นทุกวันนี้เป็นงานบูรณะสมัยหลัง
พระธาตุบนยอดดอยนี้ถือเป็นตัวแทนของเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ขององค์อินทร์ แต่ความเชื่อดั้งเดิมของลัวะก็ไม่หายไป เห็นได้จากมียังมีรูปปั้นฤษีวาสุเทพ ทั้งผีและพุทธยังผสมอยู่ร่วมกัน จึงยิ่งทำให้ดอยสุเทพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
ดอยสุเทพ พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่
ตำนานพระธาตุดอยสุเทพได้กล่าวว่า นับแต่สมัยพญากือนาเป็นต้นมา กษัตริย์ที่ครองราชย์เมือง ‘นพบุรีศรีมหานครเมืองพิงเชียงใหม่’ ได้มานมัสการ ‘พระมหาธาตุเจ้าสุเทพ’ โดยตลอด
จนเมื่อในสมัยของพระเมืองแก้ว (ท้าวแก้ว) ซึ่งถือเป็นยุคทองของล้านนาอีกช่วงเวลาหนึ่ง ลูกของพระองค์ชื่อท้าวอ้าย ได้อาราธนาพระมหาญาณมงคลโพธิเจ้าแห่งวัดอโศการามมาซ่อมแซมบูรณะเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพอีกครั้งหนึ่ง
และยังเชื่ออีกด้วยว่าในอนาคต ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดจะปรากฏขึ้นบนโลกในกัปป์ใดก็ตาม เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย พระธาตุของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะบรรจุที่พระธาตุดอยสุเทพแห่งนี้อีกด้วย
ดอยสุเทพคือสัญลักษณ์ทางการเมือง
นอกจากนี้ ช่วงใดช่วงหนึ่งที่ล้านนาต้องการผนวกดินแดนให้เข้มแข็งผ่านความเชื่อ บ้างว่าเป็นสมัยพระเจ้าติโลกราช บ้างว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการสถาปนาให้พระธาตุดอยเทพเป็นหนึ่งในเจดีย์ประจำปีเกิด ประจำนักษัตรปีมะแม ยิ่งทำให้เจดีย์นี้สำคัญขึ้นอีกมากในทางการเมือง เพราะเท่ากับเชื่อมโยงโลกทางการเมืองของล้านนา ล้านช้าง และพม่า เข้าด้วยกัน
ยังไม่นับรวมความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัย ที่ทั้งบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพ และสร้างถนนขึ้นไป ทำให้ดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงใหม่ คนเมือง และคนดอย
ครูบาศรีวิชัยและสานุศิษย์ ภาพถ่ายที่ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ
แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองระหว่างกรุงเทพฯ กับล้านนา การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนี้ทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ วิตกกังวล เพราะสามารถรวบรวมคนได้จำนวนมากและมีคนศรัทธาจำนวนมาก ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ แต่ก็พ้นข้อกล่าวหาทั้งปวงมาได้ ดอยสุเทพจึงมีนัยสำคัญ เพราะกลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการขัดขืนของล้านนาต่อกรุงเทพฯ อีกด้วยโดยผ่านปัญหาดังกล่าว
ในสมัยที่เริ่มมีการโปรโมตให้ดอยสุเทพเป็นแหล่งท่องเที่ยวจริงจังนับแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เรื่อยมา เมื่อคนนึกถึงเชียงใหม่ก็ต้องนึกถึงดอยสุเทพ จนกลายเป็นหน้าตาของคนเชียงใหม่ รวมถึงเมื่อ พ.ศ. 2504 ยังได้มีการสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ในรัชกาลที่ 9 ยิ่งทำให้ดอยสุเทพนี้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นไปอีก
ด้วยประวัติอันยาวนี้และเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากว่าพันปีนี้เอง ทำให้ความผูกพันและศรัทธากลายเป็นพลังของการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวรื้อ ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ หรือบ้านพักศาลครั้งนี้จึงไม่ได้แค่สะท้อนความเชื่อเชิงจิตวิญญาณต่อดอยสุเทพของคนเชียงใหม่เท่านั้น หากยังแสดงถึงความรักต่อธรรมชาติของคนเชียงใหม่ สำนึกของประชาชนต่อการเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ และการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐอีกด้วย
อ้างอิง:
- หจก. โบราณนุรักษ์. 2553. รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ดอยสุเทพ. เชียงใหม่: สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร.