×

กรมการขนส่งทางบกเผยผลสุ่มตรวจรถสาธารณะใน กทม. พบกระทำผิด 837 ราย แท็กซี่โดนเยอะสุด

23.07.2019
  • LOADING...
กรมการขนส่งทางบก

วันนี้ (23 ก.ค.) จันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงผลการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำเดือนมิถุนายน 2562 ดำเนินการตรวจสอบรถแท็กซี่ รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมทั้งสิ้น 15,464 ราย ซึ่งพบการกระทำความผิด 837 ราย 

 

โดยแบ่งเป็นการตรวจสอบการให้บริการรถแท็กซี่จำนวน 7,323 ราย พบการกระทำความผิด 461 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง 181 ราย, ใช้รถไม่ตรวจรอบมิเตอร์ตามที่กำหนด 80 ราย, ฝ่าฝืนใช้รถไม่จดทะเบียน (รถแท็กซี่ป้ายแดง) 41 ราย, นำรถแท็กซี่หมดอายุมาให้บริการ 36 ราย ฯลฯ

 

ส่วนการตรวจสอบการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ 5,967 ราย พบการกระทำความผิด 183 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนควบของตัวรถไม่มั่นคงแข็งแรง 28 ราย, บรรทุกผู้โดยสารเกิน 21 ราย, นำรถออกนอกเส้นทาง 12 ราย, เพิ่มจำนวนเบาะที่นั่งเกินที่กฎหมายกำหนด 9 ราย ฯลฯ 

 

สำหรับการตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์ 2,174 ราย แบ่งเป็นการตรวจสอบรถจักรยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 321 ราย พบการกระทำความผิดรวม 14 ราย ได้แก่ ใช้รถไม่ชำระภาษี 7 ราย, ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ 6 ราย และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง 1 ราย และเพิ่มมาตรการสุ่มตรวจสอบรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการลักลอบนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารอย่างผิดกฎหมาย 

 

นอกจากนี้ยังสุ่มตรวจสอบรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 1,853 ราย พบการกระทำความผิด 179 ราย ในจำนวนนี้พบการลักลอบนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างรับส่งผู้โดยสาร 154 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่กระทำความผิดดำเนินการลงโทษตามกฎหมายสูงสุดทุกราย และส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการ บันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบการกระทำความผิดซ้ำซากจะพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที 

 

นอกจากนี้รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวเพิ่มเติมว่ากรมการขนส่งทางบกตระหนักและให้ความสำคัญกับการกำกับ ดูแล การให้บริการขนส่งสาธารณะทางถนนให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนสูงสุด มีมาตรการลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการเป็นประจำ เพื่อควบคุมกำกับดูแลการให้บริการให้มีมาตรฐานคุณภาพ ป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายหรือฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนผู้ใช้บริการ รวมถึงป้องกันการลักลอบนำรถผิดกฎหมายหรือรถส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาให้บริการ เพราะเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่มีข้อมูลในศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก

 

ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ภาครัฐจะไม่สามารถติดตามรถหรือคนขับรถมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ หากพบการให้บริการผิดกฎหมาย พบรถโดยสารไม่ปลอดภัย แจ้งสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X