×

ไพบูลย์ค้านเปิดสภาประชุมวิสามัญ ฝ่าฝืนมาตรการป้องโควิด-19 ‬พบ ส.ส. พปชร. เคยเสนอเปิดสภาถกปัญหานักศึกษา

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (14 มีนาคม) ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของนักศึกษาในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

โดยเห็นว่าในขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำหนดให้มีมาตรการระยะเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 จำนวน 14 ข้อ ซึ่งหนึ่งในมาตรการได้แก่การให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ 

 

ดังนั้นหากมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะกลายเป็นการนำ ส.ส. จำนวน 500 คน และคณะรัฐมนตรีไปร่วมประชุมในที่เดียวกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการประชุมสภาฯ โดยไม่จำเป็น และยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อภาคเอกชนที่รัฐบาลขอความร่วมให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก 

 

ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในขณะนี้รัฐบาลและประชาชนทั้งประเทศได้ตื่นตัวร่วมกันปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่ ทำให้เดิมช่วงแรกข้อมูล ณ 23 มกราคม 2563 ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อลำดับที่ 2 รองจากประเทศจีน แต่ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อ 75 คน เสียชีวิต 1 คนอยู่ในลำดับที่ 44 โดยมีประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าไทย เช่น อิตาลี, อิหร่าน, เกาหลีใต้, สเปน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย เป็นต้น

 

ดังนั้นตนในฐานะเป็น ส.ส. จึงเห็นว่าไม่ควรมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพราะจะกลายเป็นการฝ่าฝืนมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 เเละจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมไทย 

 

ส่วนการแสดงความคิดเห็นเพื่อสะท้อนปัญหาการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สื่อมวลชนและประชาชนทั้งประเทศก็ได้ตื่นตัว แสดงความคิดเห็นไปให้รัฐบาลโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังและนำไปปรับปรุงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาวิกฤติการระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่ ดังนั้น ส.ส. ก็สามารถเสนอความเห็นโดยตรงหรือผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

 

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม หรือสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ได้กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. บางส่วนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังปัญหา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียนว่า สามารถทำได้โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 123 ว่า ส.ส. รวมทั้ง ส.ว. สามารถเข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ หากเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งตนและ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รวมถึง ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะมองว่าเป็นการเปิดเวทีเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับกลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสภาฯ เช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising