ประเด็นร้อนที่ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังถกเถียงเรื่องรายการ ‘ช่องส่องผี’ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งคือ งานเขียนประวัติศาสตร์ของแม่ชีวรมัย กบิลสิงห์ เรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2516 ในหนังสือเท่าที่ผมจำได้ แม่ชีวรมัยได้ยึดถือเอาพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพงศาวดารอื่นอีกบางเล่มเพื่อใช้เขียน แต่ที่ไม่เหมือนใครคือ แม่ชีได้ใช้วิธีการนั่งทางในเพื่อสืบค้นพระราชประวัติของพระเจ้าตาก
สิ่งที่แม่ชีค้นพบเรียกได้ว่าสวนกระแสประวัติศาสตร์กันเลย เพราะค้นพบว่าพระเจ้าตากเป็นเปาบุ้นจิ้นกลับชาติมาเกิด และยังเคยเป็นพระนเรศวรกลับชาติมาเกิดอีกด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายสิบปีมาแล้ว แต่หนังสือของแม่ชีขายดีทีเดียว และยังหาซื้อได้ถึงทุกวันนี้
คราวนี้เมื่อลองไปดูเนื้อหาในรายการ ช่องส่องผี ที่มีคนติดตามหลายแสนคน และมีคนที่คงไม่เชื่ออีกหลายแสนคนเช่นกัน สารภาพว่าผมก็เคยดูรายการช่องส่องผีสัก 2-3 ตอน ที่ดูไม่ใช่เพราะเชื่ออะไร แต่อยากรู้ว่ารายการแบบนี้เขาไปถ่ายทำอะไร และมันสะท้อนให้เราเห็นปรากฏการณ์อะไรในสังคม หรือในแง่ของปัญหาทางประวัติศาสตร์ได้บ้าง
เท่าที่ดู ในแง่ของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก่อนเลย คุณเรนนี่มักเล่าเรื่องเกินกว่าที่ผมเคยรับรู้จากเอกสารชั้นต้นต่างๆ หรือกระทั่งในเกร็ดพงศาวดารหรือพรายกระซิบ หรือกระทั่งไม่ตรงกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดกุฎีดาวถูกปืนใหญ่พม่ายิง (ซึ่งไม่จริง เพราะไม่มีหลักฐานว่าเจดีย์หักลงมาเพราะอะไร คงจะด้วยความเก่าเสียมากกว่า และไม่มีคนถูกทับตายจากยอดเจดีย์ด้วย) หรือขุนแผนเป็นญาติกับกับขุนวรวงศาธิราช (ไม่มีหลักฐานใดระบุ และอาจเป็นคนละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ)
ส่วนที่เหลืออื่นๆ ในแง่ของความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ เช่น การที่คุณเรนนี่เห็นย่าโม และพูดกับคุณเรนนี่ว่าย่าโมสถิตอยู่ในทุกรูปเคารพ เหรียญ หรือกระทั่งในแอปพลิเคชันอะไรก็ตาม หรือจะไปเห็นผีที่ไหนอีกนั้น ผมไม่ค่อยจะใส่ใจเท่าไร ถือว่าทางใครทางมัน และเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
แต่อยากให้ตระหนักถึงเรื่องสำคัญคือ การอธิบายอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (Historical Fact) ให้ตรงสักหน่อย ผมย้ำนะว่าเป็นส่วนของข้อเท็จจริง (Fact) ไม่ใช่ข้อเสนอของนักวิชาการที่เขียนๆ กัน เพราะการเป็นสื่อที่ผนวกกับความเชื่อเข้าไปด้วยนั้นมันจะทำให้คนที่อาจห่างจากประวัติศาสตร์ไปคิดว่าเป็นเรื่องจริง ยิ่งการเป็นสื่อด้วยแล้ว โดยทฤษฎีก็คือมันทำให้คนเชื่อง่ายว่า อะไรที่ผ่านสื่อมันย่อมเป็นความจริง ซึ่งอันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ และควรตระหนักให้มาก (อย่างไรก็ดี เอกสารประวัติศาสตร์นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะสิ่งที่เขียนในพงศาวดารก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความจริงทั้งหมด เห็นได้จากเนื้อหาในตอนในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา หรือพงศาวดารอยุธยาที่ถูกชำระสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ไม่ปรากฏข้อมูลในสมัยอยุธยา เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้อาจยอกย้อนเกินไปกว่าที่คนนอกวงการประวัติศาสตร์จะรู้กัน)
เท่าที่ผมสังเกตคือ ตากล้องนั้นเป็นคนที่อ่านหนังสือและสนใจประวัติศาสตร์มากทีเดียว และคงเป็นคนเดียวที่อ่านหนังสือจริงจังที่สุดในทีม อาจต้องทำหน้าที่มากหน่อยเพื่อให้ข้อมูลก่อนเริ่มถ่ายทำรายการ เพราะรายการมีจุดขายอยู่ตรงการไปสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งจริงๆ ก็จี้ปมของคนดูได้ถูกทาง เพราะรายการนี้ไม่ใช่แค่รายการเล่าเรื่องผี แต่เป็นรายการเล่าเรื่องผีในประวัติศาสตร์ ซึ่งเรื่องเล่าแบบนี้มักวนเวียนอยู่ในหัวหรือในความรู้สึกของใครหลายคนเวลาไปเที่ยวตามเมืองโบราณ
ถ้าหากเราข้ามปัญหาเรื่องการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปแล้วตั้งประเด็นใหม่ก็คือว่า เพราะอะไรประวัติศาสตร์แนวเข้าทางในเข้าทรง จึงกลายเป็นเรื่องที่มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่สำคัญมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่อะไรด้วย แต่มีมาไม่น้อยกว่า 50-60 ปี จริงๆ เก่ากว่างานเขียนของแม่ชีวรมัยก็เคยมีมาแล้ว กระทั่งบางคนเป็นร่างทรงของบรรพกษัตริย์ก็ยังมี และมีคนไปกราบไหว้กัน ด้านหนึ่งตอบแบบง่ายๆ เราอาจจะบอกว่าเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่รู้ประวัติศาสตร์จึงทำให้เชื่อ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราไม่สามารถรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้ทุกเรื่อง ยิ่งเป็นเรื่องในเชิงรายละเอียดด้วยแล้วนับว่ายากที่จะรู้ได้
แต่ผมคิดว่าส่วนสำคัญคือ ประวัติศาสตร์แบบนี้มันตอบโจทย์ข้อสงสัยบางอย่างที่อาจถูกกด เป็นปมคาใจ หรือไม่มีความชัดเจนในความคิดของใครหลายคน
ดังตัวอย่างเช่นกรณีของแม่ชีวรมัยนั้น ข้อมูลว่าพระเจ้าตากสินเป็นเปาบุ้นจิ้น มันช่วยอธิบายความรู้สึกฉงนกับประวัติศาสตร์ของคนในสังคมว่า ทำไมวีรบุรุษกู้ชาติถึงมีจุดจบด้วยความตาย ซึ่งหลายคนไม่เชื่อในพงศาวดารว่าพระองค์ถูกประหารด้วยการลงดาบ หากแต่ตำนานความเชื่อได้อธิบายว่าพระองค์ถูกประหารด้วยท่อนจันทน์บ้าง หนีไปบวชบ้าง หรืออะไรก็ตาม
ที่น่าสังเกตด้วยคือ ประวัติศาสตร์แบบนี้มันยังเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมด้วย ดังเห็นได้จากการเชื่อมโยงว่าพระเจ้าตากเป็นพระนเรศวร คือวีรบุรุษกู้ชาติ ดังนั้น จึงทำให้เนื้อหาในหนังสือของแม่ชีวรมัยพูดเน้นในเรื่องความสามัคคี การเสียสละ และความกล้าหาญของพระเจ้าตากเพื่อกู้ชาติและช่วยคนไทยอยู่บ่อยๆ
เรื่องเล่าจากคนเห็นผีในรายการ ช่องส่องผี ดูเหมือนจะตอบโจทย์ความเชื่อทำนองเดียวกันกับงานของแม่ชีวรมัยอยู่เหมือนกัน ที่มันหาไม่ได้ในประวัติศาสตร์และเป็นข้อฉงนสงสัย โดยมีพื้นฐานมาจากปมความเชื่อที่ไหลเวียนในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวบ้านบางระจันที่ต้องเสียสละเพื่อชาติ ความน่าเวทนาสงสารทหารไทยในสมัยโบราณที่ต้องต่อสู้กับพม่า การต่อสู้ของย่าโมและทหารหาญกับทหารลาว หรือบางทีรายการก็ต้องตอบข้อฉงนในแง่ของความเชื่อกับคนในสังคม เช่น เห็นได้ชัดตอนที่ทีมงานอยู่ที่หน้าอนุสาวรีย์ย่าโม กระทั่งแขกพิเศษในรายการที่ดูเหมือนจะมีพื้นฐานความเชื่ออะไรอยู่แล้ว โดยคำตอบของคุณเรนนี่นั้นสังเกตได้ชัดถึงดีกรีของสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม ซึ่งจะไปแปลกอะไรในเมื่อคุณเรนนี่และคนไทยโดยทั่วไปก็ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ชาติในโรงเรียนมาด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้น สิ่งที่คุณเรนนี่พูด หรือย้อนกลับไปในกรณีของแม่ชีวรมัยนั้นก็คือ เป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ชาติได้ใช้ร่างของทั้งสองคนพูดผ่านออกมา แต่ไม่ใช่ในส่วนของข้อเท็จจริง หากแต่เป็นส่วนของผี (วาทกรรม) ที่แฝงกายอยู่ในประวัติศาสตร์ และคอยบอกบทให้ใครต่อใครพูดอะไร ซึ่งถ้าหันไปมองรอบๆ ตัวเราก็เจอผีแบบนี้ได้ทั่วไปครับ ผีในรายการนี้จึงเป็นเพียงการผลิตซ้ำแบบหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
ส่วนเรื่องอื่น ผมจะไม่ยุ่งครับ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า