×

10 เม.ย. นี้ชัดเจน แหล่งเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ มาจากไหน

31.03.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

รัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศเดินหน้าโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเป็นการจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้วงเงินรวม 560,000 ล้านบาท และจะดำเนินการจ่ายเงินทั้ง 10,000 บาทครั้งเดียว โดยจะไม่มีการกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้

 

โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2566 นโยบายดังกล่าวมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องที่มาของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ โดยมีคำแนะนำให้รัฐบาลทบทวนจำนวนของผู้ได้รับสิทธิโครงการนี้ลง หรือแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐาได้แถลงข่าวแจงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

 

โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ปรับเงื่อนไขจากเดิมที่แจกประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน เป็นให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท 

 

และจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้กลั่นกรองผู้ได้รับสิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหลือประมาณ 50 ล้านคน และจะใช้วงเงินในโครงการนี้เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท

 

สำหรับคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลได้ออกโครงการ Easy e-Receipt โดยให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใช้ใบกำกับภาษีมาประกอบการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา  

 

ในส่วนของแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในการแถลงข่าวครั้งดังกล่าวเศรษฐาระบุว่า ไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง แต่ดูถึง Hybrid Option ที่ผสมผสานหลายๆ แนวทางด้วย คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้คือการออกพระราชบัญญัติเป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่การออก พ.ร.บ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา โดยมั่นใจว่าในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะทำการกู้เงินก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด

 

ภายหลังการแถลงข่าวไม่กี่วันในช่วงปลายปี 2566 กระทรวงการคลังได้ส่งคำถามขอความเห็นเบื้องต้นในเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาททำดิจิทัลวอลเล็ต กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับความเห็นของกระทรวงการคลังในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567

 

โดยระบุว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต้องทำภายใต้กฎหมาย 2 ข้อ ได้แก่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 53 และ 57 โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดำเนินการภายใต้สถานการณ์วิกฤตโดยไม่สามารถใช้งบประมาณปกติได้ รวมถึงต้องมีความคุ้มค่าของโครงการ โดยต้องมีการประเมินผลของโครงการทั้งก่อนและหลังทำโครงการ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

 

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีข้อเสนอต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 8 ข้อ มีเนื้อหาสำคัญคือ ต้องพิจารณาการดำเนินโครงการโดยระวังความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ และควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต

 

ต่อมาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ได้นัดประชุมเป็นครั้งแรกของปี โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นจากคณะกรรมการฎีกาและ ป.ป.ช. โดยให้กรอบเวลาภายใน 30 วันก่อนนำกลับมาเสนอสู่คณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง

 

ล่าสุดในวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ได้นัดประชุมเป็นครั้งที่สอง โดยภายหลังการประชุมเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตควรถูกขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 

 

ขณะเดียวกันยังเห็นว่าที่ประชุมควรมีการพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณศึกษาความเป็นไปได้ของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยให้ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวังหรือความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมา

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 เมษายน 2567 จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งต้องจับตาความชัดเจนของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้อีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X