รมช.คลัง ลั่น ดิจิทัลวอลเล็ตเลื่อนไม่มีกำหนด! ยอมรับหากโครงการล่าช้าออกไป ผลลัพธ์ (Impact) ต่อเศรษฐกิจปี 2567 ย่อมลดน้อยลงไปเป็นธรรมดา โดยย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง
วันนี้ (29 มกราคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า อยู่ในกระบวนการคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยเป็นการเตรียมรับมือข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมยืนยันว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็พร้อมจะเดินหน้าต่อ
จุลพันธ์ยอมรับอีกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตคงไม่ทันเดือนพฤษภาคม และตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาใหม่ พร้อมระบุว่า หากโครงการล่าช้าออกไป ผลลัพธ์ (Impact) ต่อเศรษฐกิจปี 2567 ย่อมลดน้อยลงไปเป็นธรรมดา แต่ผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในปีถัดไปแทน
รมช.คลัง ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะหันไปออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินทำโครงการนี้ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว แต่ตัวเลือกนี้ยังอยู่ในอำนาจของรัฐบาล และรัฐบาลยังมีเครื่องมือนี้อยู่เสมอ
จุลพันธ์ยังย้ำอีกด้วยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและเอกชนที่สูง ทำให้ประชาชนไม่มีความพร้อมด้านการลงทุน เนื่องจากต้องคิดเรื่องการประทังชีวิต คิดในเรื่องการลดหนี้สิน ขณะที่ภาคเอกชนก็มุ่งคิดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ
เตรียมออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศ
รมช.คลัง เปิดเผยอีกว่า ได้หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หลายครั้งเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศ โดยมองว่ามีโอกาสออกในหลายสกุลเงิน รวมไปถึงดอลลาร์สหรัฐ หยวน และเยน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bond) มานานกว่า 20 ปีแล้ว
โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแหล่งระดมทุนขนาดใหญ่
ฮ่องกงสนใจออกพันธบัตร
จุลพันธ์เปิดเผยอีกว่า ในการประชุม Asian Financial Forum (AFF) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 23-25 มกราคมที่ผ่านมา ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทางการฮ่องกงได้แสดงความสนใจร่วมมือออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการกำหนดวงเงิน
“ฮ่องกงมีความพร้อม ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคและมีตลาดทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยกระทรวงการคลังยังต้องพิจารณากระบวนการ ความเหมาะสม ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ตลอดจนความคุ้มค่าด้วย” จุลพันธ์กล่าว
คลังเตรียมจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ 4 หมื่นล้านบาท
จุลพันธ์เปิดเผยอีกว่า กระทรวงการคลังมีแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ประจำปี 2567 ครั้งแรกในเดือนมีนาคม วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนทั้งปีราว 1 แสนล้านบาท
โดยจุดประสงค์ของการออกพันธบัตรออมทรัพย์นี้ทำไปเพื่อรองรับการบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ สร้างการกระจายเครื่องมือการลงทุนของภาครัฐให้หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของนักลงทุนแหล่งต่างๆ เข้าถึงรายย่อยมากขึ้น ส่งเสริมการออมของประชาชน และส่วนหนึ่งก็เป็นการออกพันธบัตรชุดใหม่เพื่อทดแทนชุดเดิมที่ครบอายุ (Roll Over)