โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 4.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลไทยเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแล้วในวันนี้ (1 สิงหาคม) และดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในตลาดหุ้นอาจไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่และตระกูลมหาเศรษฐีของไทย ที่มีธุรกิจครอบคลุมหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ค้าปลีก อาหาร ไปจนถึงการเงิน
รายงานของ Nikkei Asia ชี้ว่าราคาหุ้นของบริษัทมากกว่าสิบแห่ง เช่น CP ALL และ เมืองไทย แคปปิตอล ปรับตัวสูงขึ้นทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันนโยบายนี้จัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ทำให้หุ้นเหล่านี้ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นและสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าดัชนีหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ซึ่งลดลง 15% ในช่วงปีที่ผ่านมา
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ใหญ่ประมาณ 50 ล้านคนที่มีอายุมากกว่า 16 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน ได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายที่ร้านค้าขนาดเล็กภายในเขตที่ลงทะเบียนเลือกตั้งได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โบรกเชื่อ ดิจิทัลวอลเล็ตหนุนหุ้นค้าปลีก แต่ต้องรอปมถอดถอนนายกฯ ชัดเจน 14 ส.ค. นี้
- แบงก์ชาติคาด ดิจิทัลวอลเล็ตทั้งโครงการกระตุ้น GDP ได้ 0.9%
- ลุ้นปลายปี 67 จุดเปลี่ยนหุ้นไทยกลับสู่ขาขึ้น คาด Fed ทยอยหั่นดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนฟื้น ดิจิทัลวอลเล็ตหนุนกำลังซื้อในประเทศ
จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ผู้บริโภคมีแผนที่จะใช้จ่ายเงินดิจิทัลประมาณ 40% ไปกับสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับ CP ALL ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven เนื่องจากสินค้าเกือบ 60% ที่จำหน่ายใน 7-Eleven เข้าเกณฑ์ที่สามารถซื้อได้ด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งปีที่ผ่านมา CP ALL มีรายได้กว่า 9.21 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ CP Axtra บริษัทค้าส่งในเครือ CP Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ตระกูลเจียรวนนท์ ตระกูลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ก็ได้รับอานิสงส์จากนโยบายนี้เช่นกัน เนื่องจากสินค้ากว่า 20% ที่ CP Axtra จำหน่ายจะสามารถซื้อได้ด้วยเงินดิจิทัล เมื่อมีการอนุญาตให้ทำธุรกรรมระหว่างธุรกิจได้ในอนาคต
หุ้นอื่นๆ ที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ หุ้นของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ผู้ดำเนินธุรกิจ Big C และ Central Retail Corporation ที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจค้าส่งเมื่อปีที่แล้ว โดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อยู่ภายใต้ตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง ส่วน CRC เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์
แม้ว่าห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตจะไม่สามารถรับชำระเงินด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ แต่ร้านสะดวกซื้อบางแห่งที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าไฮเปอร์มาร์เก็ตสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำหรับบริษัทที่มีธุรกิจค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ
“คำจำกัดความระหว่างไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเริ่มไม่ชัดเจน และบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทอยู่ภายใต้การดูแลของตัวเอง” อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่เงินดิจิทัลสามารถใช้ได้เฉพาะในเขตเลือกตั้งของผู้รับ อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของโครงการ เนื่องจากประชากรจำนวนมากในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายเงินดิจิทัลไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบว่า หลังจากซื้อสินค้าจำเป็นแล้ว ผู้รับเงินดิจิทัลในเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินที่เหลือไปกับร้านขายอุปกรณ์รถยนต์ ในขณะที่ผู้รับเงินในชนบทมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับอุปกรณ์การเกษตรขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ตามผลสำรวจของ SCB EIC ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% ระบุว่าจะนำเงินสดของตัวเองไปชำระหนี้หรือลงทุนในธุรกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทสินเชื่อ เช่น เมืองไทย แคปปิตอล และเงินติดล้อ เนื่องจากคาดว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
แม้ว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลอาจช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจขนาดเล็กขยายตัว แต่ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะมีจำกัด โดยนักวิเคราะห์จาก UOB Kay Hian Securities มองว่าบริษัทส่วนใหญ่มักจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้มากกว่าที่จะเพิ่มเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืน ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นไม่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่ม GDP ได้ 1.2-1.8% ในปี 2568 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าผลกระทบจะน้อยกว่านั้น ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าผลกระทบทางอ้อมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้อาจมีจำกัด
อ้างอิง: