ไมโครซอฟท์ และไอดีซี จัดทำรายงาน ‘ปลดล็อกโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล’ โดยสำรวจความเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่จำนวน 1,560 คนใน 15 ประเทศ เพื่อศึกษาผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิด Digital Disruption โดยพบว่าเทคโนโลยีช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งอุปกรณ์พกพาใหม่ๆ ระบบ Cloud Computing IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยสัดส่วน 6% ในปี 2017 และจะขยับเป็น 25% ในปี 2019 และ 48% ในปี 2021 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด
ขณะที่ประเทศไทยนั้น เทคโนโลยีมีส่วนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4% ในปี 2017 และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภูมิภาคโดยจะเป็น 21% ในปี 2019 และ 40% ในปี 2021 โดย ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) มองว่ากว่า 82% ขององค์กรในประเทศไทยได้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลแล้ว แต่ถ้ามองภาพรวมระดับภูมิภาค กลับมีองค์กรเพียงแค่ 7% ที่มีศักยภาพในระดับผู้นำของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ซึ่งองค์กรในกลุ่มผู้นำนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในแต่ละด้านได้ประมาณ 20-30%
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์มองว่า การปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญกับสังคมคือ สร้างโอกาสในการสร้างรายได้ส่วนบุคคล เกิดตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้นตามทักษะดิจิทัลที่มี โดยตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการด้านทักษะเพิ่มสูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ เพื่อให้ตอบรับความต้องการของสังคมยุคดิจิทัลและสังคมเมืองที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รองรับวิถีชีวิตในยุคใหม่
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำให้องค์กรต่างๆ ปฏิรูปธุรกิจยุคดิจิทัลโดยการวางรากฐานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัลให้กับองค์กรควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบนิเวศเชิงข้อมูล โดยสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็กๆ ก่อนนำไปสู่เรื่องที่ใหญ่และสำคัญมากขึ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการปลูกฝังทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นให้กับคนในองค์กรเพื่อต่อยอดความรู้และความสามารถในการแข่งขันต่อไป