×

นักวิชาการเผย การสร้าง ‘เงินดิจิทัล’ ให้ได้รับการยอมรับเป็นความท้าทายในยุคดิจิทัล พร้อมเปิด 3 เงื่อนไขหนุนเงินดิจิทัลแทนที่เงินสด

30.09.2022
  • LOADING...
เงินดิจิทัล

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเงินระบุ การสร้างเงินดิจิทัลและทำให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างและแทนที่เงินสดเป็นความท้าทายหลักในยุคดิจิทัล พร้อมเปิดเผย 3 เงื่อนไขที่จะหนุนให้เงินดิจิทัลแทนที่เงินสดได้

 

ดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน BOT Symposium 2022 หัวข้อ ‘เงิน สัญญา และสเตเบิลคอยน์’ ว่าเงินเป็นเงินเพราะสังคมเชื่อว่าเป็นเงิน โดยวัตถุที่นำมาใช้แทนเงินนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เงินสัญลักษณ์ หรือ Token Money ซึ่งสามารถใช้เป็นเงินได้เลยหากได้รับการพิสูจน์ความแท้หรือความเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น เปลือกหอย ทองคำ ที่ใช้กันในอดีต และ Account-Base Money ซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกติดกับตัวตนว่าคนคนนั้นเป็นเจ้าของเงินนั้นจริงๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยดร.คณิสร์ แบ่งเงินออกเป็น 3 มิติด้วยกัน คือ

  1. สิ่งใดที่ทำให้เงินนั้นมีค่า (เป็น Outside Money หรือ Inside Money)
  2. ใช้สื่ออะไรในการเก็บเงินนั้น (Token Money หรือ Account-Base Money)
  3. ใครเป็นผู้ออกเงินนั้น (รัฐหรือเอกชน)

 

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นของเอกชน เงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ถือเป็น 85% ของปริมาณเงินทั้งหมดในระบบ โดยเป็น Private Inside Money ที่เปลี่ยนมือกันได้ง่ายและสะดวก ส่วนที่เหลือเป็น Outside Money ซึ่งเป็นเงินที่ออกโดยรัฐ

 

ในปัจจุบันยังคงมีความพยายามในการสร้าง Digital Cash ขึ้นในรูปแบบ Permissionless Blockchain ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Private Key ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ใครถือ Private Key ก็ถือว่าเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ซึ่งคล้ายกับตัวเงินสด นี่จึงเป็นวิธีที่ทำให้ข้อมูลดิจิทัลมีลักษณะคล้ายกับเงินสัญลักษณ์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลดิจิทัลควรจะเป็น Account-Base มากกว่า

 

ยกตัวอย่างบางบล็อกเชน เช่น Ethereum อนุญาตให้ผู้ใช้งานเขียนชุดคำสั่งซึ่งสามารถทำให้สร้างตัวเลขขึ้นมาใหม่ได้ สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่เรียกว่า ‘สัญญาอัจฉริยะ’ (Smart Contract) ที่ทำให้สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน สร้างกลไกกำหนดกติกาในการหนุนหลังสินเชื่อให้มีหลักประกันเพียงพอ หากสามารถสร้างกลไกให้มีแรงจูงใจที่เหมาะสม จะสามารถทำให้ Smart Contract ทำงานได้อย่างอัตโนมัติโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า DeFi (Decentralized Finance)

 

“ซึ่งในโลกของ DeFi นั้น Stablecoins เป็นหน่วยข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกับเงินมากที่สุด เพราะว่ามีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีกลไกพยายามตรึงรักษาให้แลกเปลี่ยนได้ใกล้เคียงกับสกุลเงินที่เราต้องการและเปลี่ยนมือกันได้ง่าย โดยการทำงานของ DeFi แทบไม่แตกต่างกับการทำงานในระบบการเงิน” ดร.คณิสร์กล่าว

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกของ DeFi ที่ผ่านมานั้น ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งคล้ายกับวิกฤตการเงินที่เราคุ้นเคย เช่น การเกิด Iron Finance 2021 ที่มีการไถ่ถอน Stablecoins อย่างรวดเร็วจนเกิดวิกฤตที่คล้ายกับ Bank Run เป็นต้น จะเห็นแล้วว่าการที่เราสามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้โดยอิสระและอาจจะไม่ได้รับการกำกับดูแล อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

 

ดร.คณิสร์เสริมว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จาก DeFi คือการสร้างเงินสดดิจิทัล (Digital Cash) ซึ่งสามารถเป็นไปได้ในรูปแบบ Permissionless Blockchain แต่ต้องยอมจ่ายต้นทุนเท่าไรกับการอยากที่จะให้มีหน่วยข้อมูลดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับเงินสด

 

ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย จากสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เงินเท่ากับความเชื่อใจบวกกับรัฐ จึงทำให้เกิด Network Effect ซึ่งหมายถึงการที่สร้างเงินสกุลเดียวและมีรัฐคอยหนุน จะทำให้ทุกคนนั้นมีความรู้สึกที่จะใช้เงินเพื่อต่อยอดทำธุรกรรมต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้เงินเอกชนอย่างเงินบล็อกเชนหรือ Digital Cash สามารถที่จะมาแทนที่เงินของรัฐได้ ควรประกอบด้วย 3 เงื่อนไข คือ

  1. เงินเอกชนต้องเข้ามาทำให้การทำธุรกิจมี Transaction Cost ที่เท่าเดิมหรือต่ำกว่าปัจจุบัน
  2. เงินเอกชนต้องมีกลไกการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับกลไกของรัฐ
  3. เงินเอกชนต้องสามารถทำให้ทั้งสังคมใช้เงินสกุลเดียวกันได้

 

ด้าน ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แต่เดิมเงินนั้นสามารถใช้แลกเปลี่ยนหรือทำธุรกรรมโดยที่ไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน

 

ส่วนความต้องการที่จะสร้าง Digital Cash คือการพยายามที่จะทำให้คล้ายกับเงินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่เงินที่อยู่บนบล็อกเชนนั้นถือว่าเป็น Account-Base Money ที่มีการระบุตัวตนในการทำธุรกรรมเสมอ จึงมีความพยายามในการสร้าง Private Key, Public Key และ Bitcoin Address ขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน นั่นคือใครก็สามารถที่จะเปิดบัญชีได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกับใคร ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้นการใช้เงินสกุลดิจิทัลในการซื้อขายย่อมมีการบันทึกข้อมูลการใช้เงิน และเพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถยืนยันได้ว่ามีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นจริง ข้อมูลจึงต้องเปิดเผยเป็นสาธารณะตลอดเวลา ซึ่งหากยืนยันตัวตนได้ก็จะไปขัดแย้งกับส่วนที่ว่าไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ซึ่งอาจจะต้องคอยดูพัฒนาการกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X