ราคากล้องดิจิทัลดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักๆ มาจากรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคุณสมบัติขั้นสูงอื่นๆ ที่ดึงดูดช่างภาพที่ต้องการรายละเอียดคมชัด ซึ่งกล้องสมาร์ทโฟนไม่สามารถตอบโจทย์ได้
Nikkei Asia รายงานว่า ราคาเฉลี่ยของกล้องดิจิทัลทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ 85,000 เยน หรือราว 21,835 บาท ตามรายงานของ Camera & Imaging Products Association (CIPA) ซึ่งนี่เป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 3 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โบกมือลา กล้องคอมแพ็ก Panasonic และ Nikon จับมือเลิกพัฒนา หลังการมาของ ‘กล้องสมาร์ทโฟน’ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดหายไปมากถึง 97%
- ลาก่อน! Nikon จะยุติ ‘ธุรกิจกล้อง DSLR’ หันมาลุย ‘กล้อง Mirrorless’ เต็มสูบ หลังกระทบหนักจากกล้องสมาร์ทโฟน
- Canon และ Nikon มีหนาว! หลังช่างภาพกีฬามืออาชีพหยิบกล้อง Sony มา ‘ลั่นชัตเตอร์’ มากขึ้นใน Olympics และ Paralympics ที่ผ่านมา
สมาร์ทโฟนซึ่งทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่แตะหน้าจอ ได้เข้ามาชิงพื้นที่จากกล้องดิจิทัลระดับล่างไป แต่ 2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นการฟื้นตัวครั้งใหญ่ในการจัดส่งกล้องดิจิทัลทั่วโลก สร้างกระแสให้ Canon, Nikon และแบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ ออกมาผลักดันกล้องรุ่นไฮเอนด์
ล่าสุดได้มีการจัดงาน CP+ Camera & Photo Imaging Show ในโยโกฮามา งานดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็นงานแสดงอุปกรณ์ถ่ายภาพและวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งนี่ถือเป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
หนึ่งในไฮไลต์ของบูธ Canon คือกล้อง EOS R8 ซึ่งเป็นกล้องมิลเรอร์เลสฟูลเฟรมที่จะวางจำหน่ายปลายเดือนเมษายน โดยเป็นกล้องรุ่นเล็ก น้ำหนักเบา มาพร้อมกับเทคโนโลยีโฟกัสอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสามารถติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วได้หลากหลาย ตั้งแต่คน สัตว์ ไปจนถึงยานพาหนะ สามารถถ่ายภาพได้ 40 เฟรมต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Canon
ราคาที่วางขายก็ไม่ได้ถูก เพราะราคาแนะนำเฉพาะตัวเครื่องอยู่ที่ 264,000 เยน หรือราว 68,000 บาทในญี่ปุ่น และ 1,499 ดอลลาร์สหรัฐในสหรัฐอเมริกา ถึงกระนั้น Canon กล่าวว่าได้รับคำสั่งซื้อมากกว่าที่คาดไว้
“มีความต้องการกล้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่สำหรับกิจกรรมพิเศษเท่านั้น แต่ยังสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการบันทึกชีวิตประจำวันด้วย” รองหัวหน้าแผนก Imaging Group ของ Canon กล่าว
ด้านคู่แข่งอย่าง Sony ได้เปิด Creators’ Cloud ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บและแบ่งปันภาพถ่ายและวิดีโอสำหรับผู้ใช้แต่ละคน โดยจะเปิดตัวฟังก์ชันใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถแชร์ผลงานและเชื่อมต่อถึงกันได้
ส่วน Fujifilm กำลังมุ่งเน้นไปที่วิดีโอ โดยกล้องมิลเรอร์เลส X-H2S ที่เพิ่งได้รับการอัปเดตเฟิร์มแวร์ในเดือนมกราคม ทำให้สามารถตรวจจับได้แม้กระทั่งแมลงและโดรน โดยใช้เทคโนโลยีโฟกัสอัตโนมัติแบบ Deep Learning
กล้องรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดเหล่านี้ได้มาถึงในขณะที่ตลาดกล้องดิจิทัลฟื้นตัวหลังจากดิ่งลงเหวในช่วงที่ผ่านมา ตลาดกล้องดิจิทัลทั่วโลกมีมูลค่ารวมประมาณ 2.16 ล้านล้านเยน และ 120 ล้านหน่วยในปี 2008 ขณะที่ในปี 2020 ตัวเลขดังกล่าวลดลง 93% และ 81% ตามลำดับ ตามข้อมูลของ CIPA
สิ่งที่น่าสนใจคือ ราคาเฉลี่ยของกล้องดิจิทัลเพิ่มขึ้น 6 เท่าในช่วงเวลาประมาณ 10 ปี นับตั้งแต่ผู้ผลิตเริ่มมุ่งเน้นไปที่รุ่นระดับไฮเอนด์ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับผู้ผลิตกล้อง สะท้อนได้จากกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมในกลุ่มผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพของ Canon, Nikon และ Fujifilm สูงสุดในรอบ 7 ปี ด้วยตัวเลขประมาณ 220,000 ล้านเยน
“เด็กรุ่นใหม่เริ่มสนใจการถ่ายภาพมากขึ้นจากการโต้ตอบกับรูปภาพจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่แฟนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวมีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อยู่เบื้องหลังกล้องมิลเรอร์เลส” ฮิโรยูกิ อิเคกามิ ผู้จัดการทั่วไปของ Nikon’s Imaging Business Unit กล่าว
ผู้ผลิตญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% ในตลาดกล้องดิจิทัล แต่ถึงแม้จะฟื้นตัวเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การจัดส่งทั่วโลกในปีที่แล้วยังคงเป็นเพียง 1 ใน 3 ของยอดสูงสุดที่เคยทำได้ ในขณะที่สมาร์ทโฟนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นี่ถือเป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่กล้องดิจิทัลยังต้องระมัดระวังต่อไป
ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images
อ้างอิง: