×

สมรภูมิ ‘ดิจิทัลแบงกิ้ง’ ในสิงคโปร์แข่งเดือด บิ๊กเทคกระโจนร่วมสังเวียน กดดันแบงก์ดั้งเดิมเร่งยกระดับบริการ

16.02.2023
  • LOADING...
digital banking

Nikkei Asia รายงานว่า สมรภูมิการแข่งขันด้านดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) ในสิงคโปร์กำลังทวีความร้อนแรงขึ้น หลังจากการปรับเกณฑ์ควบคุมของหน่วยงานกำกับกระตุ้นให้บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น Grab, Sea และ Ant Group กระโจนเข้ามาร่วมสังเวียนการแข่งขัน จนสร้างแรงกดดันให้ธนาคารแบบดั้งเดิมอย่าง Standard Chartered ต้องเร่งพัฒนาบริการด้านดิจิทัลของตัวเอง

 

ย้อนกลับไปในปี 2019 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้เปิดให้บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถยื่นขอไลเซนส์เพื่อทำธุรกิจธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank ในสิงคโปร์ได้ การผ่อนปรนการควบคุมดังกล่าวส่งผลให้มีบริษัทนอกอุตสาหกรรมการเงินทั้งในและนอกสิงคโปร์สนใจยื่นใบสมัครมากถึง 21 ราย รวมถึงยักษ์ใหญ่ในวงการเทคของจีนอย่าง Xiaomi และ ByteDance

 

หนึ่งในผู้ที่ได้รับไลเซนส์จาก MAS ไป คือ GXS ธนาคารดิจิทัลที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Grab และ Singtel โดย Grab ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ Singtel ถือส่วนที่เหลือ 40% 

 

Charles Wong ซีอีโอของ GXS ระบุว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ GXS คือ Gig Worker หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ กลุ่มคนที่เป็นดิจิทัลเนทีฟ และคนในวัยเพิ่งเริ่มทำงาน รวมถึงไรเดอร์บนแพลตฟอร์มของ Grab เอง โดยปัจจุบัน GXS อยู่ระหว่างการขยายบริการทางการเงินต่างๆ บนแอปพลิเคชัน 

 

การที่มีฐานลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้แอปของ GXS มีหน้าตาที่แตกต่างจากแอปของแบงก์ทั่วไป มีสีธีมหลักเป็นสีม่วง-ดำ ซึ่งให้อารมณ์คล้ายกับแอปสตรีมมิงเพลงมากกว่า นอกจากนี้ GXS ยังรายงานอัตราดอกเบี้ยรับให้ลูกค้าได้ทราบทุกวันผ่านแอป เพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์ และไม่คิดค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี หรือกำหนดวงเงินขั้นต่ำในบัญชี

 

“เราเป็นธนาคารที่สร้างโดยดิจิทัลเนทีฟ เพื่อลูกค้าที่เป็นดิจิทัลเนทีฟ” Wong กล่าวกับ Nikkei Asia

 

อีกหนึ่งจุดเด่นของ GXS คือการมีฐานข้อมูลของลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น พฤติกรรมการกิน การเดินทาง และการใช้มือถือจาก Grab และ Singtel ซึ่งทีมบริหารของ GXS เชื่อว่าการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ จะทำให้ GXS นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อขนาดเล็ก ประกัน และบริการด้านอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้

 

อย่างไรก็ดี ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของ GXS และ MariBank อีกหนึ่งธนาคารดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก MAS ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่ม Sea Group เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชขนาดใหญ่ Shopee ยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก และยังเป็นลูกค้าที่ต้องผ่านการคัดเลือกหรือได้รับเชิญจากธนาคารเท่านั้น

 

Nikkei ระบุว่า การเข้ามาแข่งขันของธนาคารดิจิทัลรายใหม่ทำให้ธนาคารดั้งเดิมอย่าง Standard Chartered เริ่มยกระดับบริการดิจิทัลแบงกิ้งของตัวเองเช่นกัน โดยได้ร่วมทุนกับ FairPrice Group กลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสิงคโปร์ เปิดตัว Trust Bank ธนาคารดิจิทัลของตัวเอง 

 

Dwaipayan Sadhu ซีอีโอของ Trust Bank กล่าวว่า ปัจจุบัน Trust เปิดให้บริการด้านเงินฝาก เครดิตการ์ด และประกันประเภทต่างๆ ผ่านแอป โดยมีจุดเด่นคือลูกค้าของ Trust จะได้รับ Royalty Point และคูปองจากร้านค้าพันธมิตร ในช่วงที่ผ่านมา Trust สามารถสร้างฐานลูกค้าได้ถึง 400,000 รายภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน

 

“การไม่มีสาขาทำให้ดิจิทัลแบงก์มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และสามารถให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า” Sadhu กล่าว

 

อีกหนึ่งธนาคารดิจิทัลในสิงคโปร์ที่ได้รับไลเซนส์จาก MAS คือ ANEXT Bank ซึ่งอยู่ในเครือของ Ant Group แต่ไลเซนส์ที่ ANEXT Bank ได้รับจะเป็นประเภท Digital Wholesale License ซึ่งสามารถให้บริการได้เฉพาะกับลูกค้าองค์กร 

 

จุดเด่นของ ANEXT Bank คือ มีบริการที่เปิดให้บริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์สามารถเปิดบัญชีบริษัทแบบออนไลน์ได้ในทันที แม้จะเป็นบริษัทจากต่างประเทศก็ตาม 

 

“เรามีความชัดเจนในภารกิจของเรา เราต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การให้บริการแก่ SMEs ที่ด้อยโอกาส ไม่ใช่แค่ในสิงคโปร์ แต่ยังทั่วทั้งภูมิภาคด้วย” Toh Su Mei ซีอีโอของ ANEXT กล่าว

 

ข้อมูลจาก Moody’s Investors Service ระบุว่า ขณะนี้ทั่วทั้งโลกมีธนาคารดิจิทัลเปิดให้บริการอยู่ราว 250 แห่ง แต่สินทรัพย์ของธนาคารเหล่านี้รวมกันยังคิดเป็นขนาดที่เล็กมาก หรือราว 0.4% ของอุตสาหกรรมธนาคารทั้งหมดเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising