เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัล กลายเป็นสินทรัพย์ด้านการลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยสินทรัพย์ปลุกกระแสคือ Cryptocurrency ชื่อดังอย่าง Bitcoin ที่เปิดประตูโลกของการลงทุนให้กว้างขึ้น และจุดกระแสให้กับ Cryptocurrency อื่น ไม่ว่าจะเป็น Ethereum, Ripple, Binance Coin, Tether และ Dogecoin
แกนหลักที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสินทรัพย์ด้านการลงทุนที่แพร่หลาย ก็คือเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งปัจจุบัน Blockchain ได้ขึ้นแท่นเทคโนโลยีหลักที่รองรับการทำธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะเดียวกัน หลายอุตสาหกรรมได้นำ Blockchain มาใช้รวมกับภาคการเงิน และพัฒนาขึ้นเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ โดยล่าสุดธุรกรรมที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้คือ Decentralized Finance หรือ DeFi ซึ่งเป็นบริการทางการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์บน Blockchain ทั้งนี้ DeFi เป็นความท้าทายของ Regulators ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
ไม่เพียงแค่ฝั่งสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเท่านั้น ฝั่งนักลงทุนเองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทั้งนักลงทุนสถาบันชั้นนำ เช่น ธนาคารอันดับสองของสหรัฐฯ Bank of America, J.P. Morgan และ PIMCO และนักลงทุนมหาเศรษฐีชื่อดังอย่าง Elon Musk ซีอีโอ Tesla และ SpaceX, Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter รวมไปถึง Paul Tudor Jones นักลงทุนชื่อดัง
บรรยากาศในประเทศไทยก็เช่นกัน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ระบุว่า จำนวนการเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวน 1.7 แสนราย และเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนบัญชี 1.49 ล้านบัญชี คิดเป็นอัตราการเติบโตเกือบ 8 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน
ส่วนมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท โดยในไตรมาส 1 มีมูลค่าซื้อขายที่ 3.00 แสนล้านบาท ไตรมาส 2 มีมูลค่าซื้อขายที่ 4.69 แสนล้านบาท (+56.52%QoQ) และไตรมาส 3 มีมูลค่าซื้อขายที่ 3.53 แสนล้านบาท (-24.76%QoQ)
เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลโดดเด่นขึ้น บทบาทของหน่วยงานกำกับทั่วโลกก็เข้มข้นด้วยเช่นกัน โดยท่าทีของหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศต่อการขยายตัวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นแตกต่างกันออกไป แบ่งได้เป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพร้อมสนับสนุน โดยยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์การลงทุนประเภทหนึ่ง ขณะที่ฝั่งไม่สนับสนุนนั้นให้เหตุผลว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่ปลอดภัย และจะสร้างความโกลาหลแก่ตลาดเงิน
สำหรับฝั่งที่สนับสนุนเป็นที่ชัดเจนว่า ก.ล.ต. สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการลงทุนหลักของโลก สนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยล่าสุด ก.ล.ต. สหรัฐฯ อนุมัติให้จัดตั้งกองทุน ETF (Exchange-Traded Fund) ของ Bitcoin ขณะที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ส่งเสริมการใช้ Bitcoin และประกาศให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ในทางตรงกันข้าม ท่าทีของจีนก็ชัดเจนเช่นเดียวกันว่าไม่สนับสนุน Cryptocurrency อย่างไม่ลดละ โดยหลังจากแสดงความคิดเห็นเชิงลบและไม่ไว้วางใจใน Cryptocurrency มาเป็นระยะ ล่าสุดธนาคารกลางของจีน ประกาศให้การใช้สกุลเงิน Cryptocurrency เช่น Bitcoin ในการทำธุรกรรมทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมทั้งระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลนั้นเป็นภัยต่อสินทรัพย์ของประชาชน ซึ่งผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
สำหรับท่าทีของ ก.ล.ต. ไทยที่ผ่านมาอยู่ในพื้นฐานของการกำกับและดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ซึ่งจะกำกับดูแลทั้งผู้ประกอบธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ไทยสนับสนุนและพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาตลอด เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้ครอบคลุมขึ้น และเทียบเคียงได้กับหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลคุณสมบัติของผู้ซื้อขาย Cryptocurrency ให้ตอบโจทย์ทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนใน Cryptocurrency รวมถึงเน้นการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ ที่เข้าถึงง่าย และสร้างความเข้มแข็งให้กับ Ecosystem ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม จากความร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจ ก.ล.ต. ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้เท่าทันกับพัฒนาการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ รวมถึงมีการตั้งคำถามว่า ก.ล.ต. จะมีแนวทางในการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรอีกบ้าง เพื่อให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยล้อไปกับเทรนด์โลกได้
เหล่านี้จะเป็นความท้าทายหลักสำหรับ ก.ล.ต. ไทย รวมถึงนักลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2565 และในอนาคต จึงเป็นที่มาของ Webinar ครั้งแรกของไทยที่จะนำเสนอมุมมองของ Hester Peirce กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ในเรื่องการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐอเมริกา รวมถึงเป็นเวทีในการเรียนรู้มุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจากหน่วยงานกำกับดูแล นักวิชาการ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศต่างๆ
โดย The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar อัดแน่นด้วยข้อมูล ความรู้ มุมมอง และการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ เอเชีย และยุโรป ตลอด 2 วัน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 20.00-20.50 น. และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30-15.25 น. ผ่านช่องทาง Facebook Live ‘สำนักงาน ก.ล.ต.’ facebook.com/sec.or.th หรือคลิกเข้าร่วมงานได้ที่ลิงก์ https://www.facebook.com/events/869460097088386/?ref=newsfeed