การที่คนไทยเปิดกว้างมากขึ้นต่อการทำศัลยกรรมและเสริมความงาม สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่มีต่อความงามและการดูแลตนเองในปัจจุบัน เดิมทีอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของความหรูหราหรือไม่จำเป็น แต่ปัจจุบันการทำศัลยกรรมหรือเสริมความงามถือเป็นการลงทุนในตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพและความงามที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น
และแม้จะมีโอกาสมากมาย แต่ก็มีความท้าทายเช่นกัน การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังลังเลใจ การรักษามาตรฐานการบริการให้สูงอยู่เสมอ และการจัดการกับความคาดหวังของลูกค้าอย่างมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องพิจารณา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยปัจจัยเฉพาะหน้าด้านภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง รวมทั้งค่าครองชีพที่สูง น่าจะส่งผลต่อการทำรายได้ของผู้ประกอบการท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้เล่นในธุรกิจที่มีจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- MASTER ทุ่มงบ 70 ล้านบาท ซื้อหุ้น 36% ในคลินิกเสริมความงาม Rattinan หวังปั้นเป็น รพ.ศัลยกรรม คาดเสร็จภายในปี 2567
- เพราะความสวย…รอไม่ได้ ธุรกิจ ‘ศัลยกรรมความงาม’ โตต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่เอเจนซีบินไปถึงเกาหลีที่คนไทยยอมจ่าย แม้ราคาจะสูงกว่า 2 เท่า
- โจทย์ใหญ่ MASTER หวังปั้นธุรกิจจาก ‘รพ.ศัลยกรรมความงาม’ สู่กลุ่ม รพ.เฉพาะทาง
โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้เล่นในต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ที่รุกเข้ามาทำการตลาดในไทยมากขึ้น รวมถึงมีการดึงลูกค้าให้ไปใช้บริการในประเทศตนเองผ่านตัวแทนหรือเอเจนซีต่างๆ รวมถึงประเทศคู่แข่งในอาเซียนที่หันมาเจาะตลาดศัลยกรรมและความงามมากขึ้น เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปี 2566 น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3-3.6% (YoY) ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด และตัวเลขการเติบโตในภาพรวมอาจไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย ขึ้นอยู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า
ทว่าสำหรับ Dermaster นั้น แม้จะเป็นความท้าทายที่สำคัญ แต่ในมุมมองของ ณิชา โลจนะโกสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร เห็นว่าเป็นสิ่งที่รับมือได้ เพราะ “เราคือผู้บุกเบิกการนำคลินิกความออกมาตั้งอยู่ภายนอกโรงพยาบาลเป็นรายแรกๆ เมื่อ 12 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ ปลูกผม หรือศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น”
ปัจจุบัน Dermaster 5 สาขา ได้แก่ เอกมัย, ชิดลม, อโศก-พระราม 9, สาทร, เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 4,500 ตารางเมตร
หลักๆ แล้วเป็นลูกค้าคนไทย 70% และลูกค้าต่างชาติ 30% เช่น จีนและตะวันออกกลาง โดยลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำมากกว่า 1 ครั้งคิดเป็น 46% และลูกค้าที่อยู่กับ Dermaster มากกว่า 1 ปีคิดเป็น 40%
“ฐานลูกค้าของเราคือเกรดพรีเมียม A ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งทรัพย์สินที่สำคัญขององค์กร และการกลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่องถือเป็นลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) นอกจากนี้ยังแนะนำคนรอบตัวให้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย”
คำพูดดังกล่าวสะท้อนจากตัวเลขการใช้จ่ายของลูกค้า ซึ่งการจ่ายต่อ 1 ใบเสร็จ 50,000 บาทขึ้นไปคิดเป็น 17% ของใบเสร็จทั้งหมด 100,000 บาทขึ้นไปคิดเป็น 7% ของใบเสร็จทั้งหมด
ถึงอย่างนั้นในช่วงที่ผ่านมา Dermaster ได้ปรับลดราคาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น โดยมีการวางราคาเริ่มต้นของการทำหัตถการที่ 2,000 บาท
ล่าสุดได้มีการลงทุนกว่า 500 ล้านบาทในการสร้างสาขาราชพฤกษ์ ซึ่งสร้างในรูปแบบโรงพยาบาล (เฉพาะทาง) ขนาดเล็กที่มีห้องผ่าตัดศัลยกรรม 4 ห้อง โดยจะเปิดในไตรมาสที่ 3 นี้
“ปีที่ผ่านมาเรามีรายได้ราวๆ 300 ล้านบาท และจากการเปิดสาขาราชพฤกษ์ทำให้เราคาดว่าจะมีรายได้เติบโตกว่า 30% ในปีหน้า” โดยนี่จะถือเป็นการปูทางก่อนที่ Dermaster วางแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเร็วสุดคือปี 2568