×

เศรษฐกิจ-กำลังซื้อซบเซา ไม่ได้ทำให้คนไทยทำ ‘ศัลยกรรม’ น้อยลง คลินิกบางแห่งทำโปรแค่บัตรประชาชนก็ผ่อนได้แล้ว

19.08.2024
  • LOADING...
ศัลยกรรม

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในครัวเรือนไม่ค่อยดีมากนัก แต่คนไทยยังไม่หยุดสวย! สะท้อนจากตลาดศัลยกรรมและความงามหลังโควิดคลี่คลายลง กำลังเติบโตขึ้น 10-15% ต่อปี ไม่เว้นแม้แต่คลินิกตามห้องแถวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด พร้อมอัดโปรโมชันราคาเข้าถึงง่าย-ผ่อนจ่ายด้วยบัตรประชาชนใบเดียวดึงลูกค้า

 

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจศัลยกรรมและความงาม ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ส่วนใหญ่โรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ จะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องกำลังซื้อที่ลดลง แต่จะเป็นคลินิกที่เน้นจับกลุ่มแมสมากกว่า

 

หากสังเกตจะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เชนคลินิกศัลยกรรมขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กกระหน่ำโปรโมชันทำศัลยกรรมในราคาที่เข้าถึงง่าย และบางแห่งมีเปิดบริการให้นำบัตรประชาชนไปผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่จะผ่อนจ่ายได้แค่บัตรเครดิตเท่านั้น

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ทำไมตลาดศัลยกรรมและความงามถึงเติบโตไม่หยุด

 

ทพญ.สุชาวดี สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและกรรมการบริหาร โรงพยาบาลยันฮี ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตั้งแต่หมดยุคการแพร่ระบาดของโควิด ตลาดศัลยกรรมและความงามมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 10% ต่อปี เรียกว่าขยายตัวขึ้นในทุกๆ ไตรมาสเลยก็ว่าได้

 

แน่นอนว่าสวนทางกับกำลังซื้อของผู้คนในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรแล้วคนไทยยังชื่นชอบการดูแลตัวเองและความสวยงาม ตามเทรนด์ใหม่ๆ ประกอบกับในบางสถานบริการราคาค่อนข้างเข้าถึงง่าย ทำให้ทุกคนมีทางเลือกที่หลากหลาย

 

ขณะเดียวกันตลาดมีการแข่งขันกันสูงทั้งโรงพยาบาลและคลินิกที่เปิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งรวมๆ แล้วมีประมาณ 4,000 แห่ง และมีการตัดราคากันเพื่อดึงลูกค้า แต่ด้วยต้นทุนของการเป็นโรงพยาบาลจะมีทั้งค่าบริการและความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถลงมาแข่งเรื่องราคาได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการ

 

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลยันฮี ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เข้ามาทำศัลยกรรมทั่วไป เช่น เสริมจมูก ทำคาง เสริมหน้าอก ดูดไขมัน เสริมสะโพก และแปลงเพศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในไทย ก็ทำให้ชาวต่างชาติบินเข้ามาแปลงเพศมากขึ้น โดยเรามีข้อได้เปรียบเรื่องชื่อเสียงของการทำศัลยกรรมมายาวนาน รวมไปถึงการมีหมอเฉพาะทางของการทำศัลยกรรมและความงามแต่ละด้าน

 

การเปลี่ยนแปลงของตลาดศัลยกรรมความงาม

 

 

ขณะที่ หมอสอง-นพ.นพรัตน์ รัตนวราห เจ้าของ Nopparat Cosmetic Clinic (NCC) และผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งโดยตรง ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้วยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนได้จากหลายๆ ธุรกิจที่ปิดตัวไปจำนวนมาก ทั้งหมดมีผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง ผู้คนประหยัดค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการทุกคนก็ต้องปรับตัว

 

เช่นเดียวกับธุรกิจศัลยกรรมความงามในไทย อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนธุรกิจอื่น แต่สิ่งที่ต้องเผชิญความท้าทายมากๆ คือการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์และการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

หากย้อนกลับไปในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา คลินิกศัลยกรรมยังน้อย และมีแพทย์ที่จบเฉพาะทางน้อยมาก ตอนนั้นเป็นยุคที่คนยังเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย คนไข้ที่มาทำศัลยกรรมรู้จักจากการบอกต่อ จนมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง Facebook และ Instagram เข้ามา ก็เริ่มมีหมอไม่ใช่เฉพาะทางเข้ามาเปิดคลินิกมากขึ้น ใครก็อยากทำเพราะค่าตอบแทนสูง ทำให้คลินิกกระจายกันอยู่ทุกมุมเมือง พร้อมทำการตลาดด้วยการรับเคสรีวิว โฆษณาตามเว็บไซต์ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

กระทั่งมาถึงยุคศัลยกรรมเกาหลีเข้ามาในไทย คนที่มีชื่อเสียงผันตัวไปเป็นเอเจนซี พาคนไทยบินไปทำศัลยกรรมในเกาหลี แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงกว่าถ้าเทียบกับไทย พอมาถึงปัจจุบันเมื่อคลินิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับคนที่กำลังซื้อน้อยลง ทำให้คลินิกบางแห่งต้องรัดเข็มขัดประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้คุณภาพลดลง หรือบางรายก็ต้องปิดตัวไป แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่กระโดดเข้ามา

 

ศัลยกรรม

 

ทั้งนี้ การแข่งขันส่วนใหญ่เป็นการลดราคา ซึ่งในความจริงต้นทุนแทบเป็นไปไม่ได้ และแข่งกันเรื่องหาตัวแทน พร้อมใช้งบลงทุนโปรโมตแบรนด์ผ่านเครื่องมือการตลาด หากสังเกตจะเห็นว่าธุรกิจศัลยกรรมความงามใช้งบกับการขึ้นป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วนเยอะมาก

 

สำหรับ Nopparat Cosmetic Clinic (NCC Clinic) มีจุดแข็งจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าอยู่ในระดับกลางไปจนถึงระดับบน ส่วนใหญ่เน้นทำศัลยกรรมหน้าอกและจมูก และส่วนอื่นๆ บนใบหน้า ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการบอกต่อ และมั่นใจในชื่อเสียงของแพทย์ที่ยาวนานมาถึง 20 ปี

 

โรงพยาบาลศัลยกรรมพรีเมียม ไม่เน้นแข่งเรื่องราคา

 

 

ด้าน นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงามโรงพยาบาลบางมด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำศัลยกรรมความงาม จากข้อมูลสถิติที่เคยรวบรวมเอาไว้พบว่า ต่างชาติเดินทางเข้ามาทำศัลยกรรมในไทยมากขึ้น 33% เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าประเทศฝั่งตะวันตก 30-60% แถมยังได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน

 

เมื่อมาดูเทรนด์ที่ผู้คนให้ความนิยมมากอันดับต้นๆ คือการทำศัลยกรรมแบบผ่าตัด ได้แก่ การดึงหน้า ตาสองชั้น เสริมหน้าอก เสริมจมูก และตัดหนังหน้าท้อง แม้จะมีการแข่งขันสูงแต่อีกมุมก็ถือเป็นข้อดี ทำให้คลินิกหรือโรงพยาบาลต่างๆ เดินหน้าพัฒนาเทคนิคเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลที่จับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์จะไม่เน้นแข่งกันเรื่องราคา แต่จะแข่งกันในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก

 

ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาลบางมด ปลายปีนี้เตรียมเปิดให้บริการ ‘Bangmod Aesthetic & Wellness Hospital’ โรงพยาบาลศัลยกรรมแบบครบวงจร เจาะกลุ่มลูกค้า Ultra Luxury ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เพราะในปี 2567 เราประเมินว่าตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

 

KPS โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จับมือ KCCS สร้างฮับศัลยกรรมในประเทศ

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามไทยปี 2567 จากมูลค่า 7.1-7.2 หมื่นล้านบาท จะโตขึ้นประมาณ 13.% แน่นอนว่าเมื่อตลาดมีโอกาสเติบโต จะเห็นว่าผู้เล่นรายใหญ่ๆ เริ่มเดินหน้าบุกตลาดอย่างหนัก

 

หนึ่งในนั้นก็มี KPS ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ล่าสุดเซ็น MOU ร่วมกับ KCCS สมาคมแพทย์ศัลยกรรมความงามเกาหลี พร้อมลงทุนให้บริการครอบคลุมศัลยกรรมใบหน้า หน้าอก ลดน้ำหนัก เสริมความงาม และเทคโนโลยีดูแลผิวพรรณ เบื้องต้นมีแผนขยายศูนย์ศัลยกรรม KPS เพิ่มอีก 5 สาขาภายในปี 2568 นอกจากจะเน้นลูกค้าคนไทยแล้ว ยังต้องการดึงชาวต่างชาติ ทั้ง จีน, เวียดนาม, สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา, ตะวันออกกลาง และยุโรปด้วยเช่นกัน

 

ส่องผลประกอบการคลินิกความงามในตลาด

 

เริ่มจาก บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER มีผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ทำรายได้อยู่ที่ 468.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.6 ล้านบาท

 

ตามด้วย บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINIQ ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 มีรายได้ 687.89 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 75.27 ล้านบาท ปัจจัยที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากลูกค้าเข้ามาใช้บริการทำศัลยกรรมบริเวณใบหน้าเพิ่มขึ้น

 

สวนทางกับ บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีรายได้ 147.35 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 61.99 ล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการศัลยกรรมผ่าตัดใบหน้าและผ่าตัดตา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทหายไป จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สูงขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising