×

รมช.สาธารณสุข สั่ง รพ.เอกชนรับตรวจโควิด-19 ตามปกติ หากเตียงรักษาผู้ป่วยไม่พอมีระบบส่งต่อ ย้ำตรวจฟรีต้องเสี่ยงสูง

09.04.2021
  • LOADING...
รมช.สาธารณสุข สั่ง รพ.เอกชนรับตรวจโควิด-19 ตามปกติ หากเตียงรักษาผู้ป่วยไม่พอมีระบบส่งต่อ ย้ำตรวจฟรีต้องเสี่ยงสูง

วานนี้ (8 เมษายน) สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าการระบาดรอบที่มาถึงนี้ ประชาชนควรจะเรียกหรือนิยามสถานการณ์ว่าอะไร

 

สาธิตตอบคำถามว่า รอบนี้หนัก เพราะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ และมีหลาย Super Spreader จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่ตนเองขอเรียกว่าเป็นระลอกที่ 3 ได้แล้วในสถานการณ์นี้ 

 

“ผมคิดว่าทุกคนได้ติดตามสถานการณ์น่าจะทราบดีว่า สถานการณ์เวลานี้ยังน่าเป็นห่วงอยู่”

 

เมื่อถามว่า คลัสเตอร์เวลานี้มีหลากหลาย โดนส่วนตัวในฐานะรัฐมนตรีกังวลคลัสเตอร์ไหนมากที่สุด เพราะมีทั้งเรือนจำในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร ย่านสถานบันเทิงทองหล่อ-เอกมัย รวมถึงเชียงใหม่ ที่จำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น

 

สาธิตกล่าวว่า กังวลในส่วนของคลัสเตอร์สถานบันเทิง ส่วนที่เชียงใหม่ หรือจุดอื่นที่กระจายตัวไป ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพมหานคร การสอบสวนโรคเวลานี้ส่วนใหญ่ยังไม่เจอจากที่อื่น เจอว่ามาจากสถานบันเทิงที่กระจายตัวไป ส่วนคลัสเตอร์เรือนจำนราธิวาส แม้จะมาก แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในสถานที่ปิด เหมือนเจอคนที่หลบหนีเข้าเมืองเป็นแรงงานข้ามชาติ เราก็กักเขา ที่ถูกดำเนินการตามกระบวนการของการควบคุมโรค มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลาย แต่ในส่วนของสถานบันเทิงจากกรุงเทพมหานคร ยอมรับตรงๆ ว่าการสอบสวนโรคยังคงตามหลังสถานการณ์อยู่ ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะคลัสเตอร์สถานบันเทิงเป็นกิจกรรรมที่คนไปรวมกันจำนวนมาก และมีกิจกรรมที่จะไปพบปะคนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ถ้าคนอายุไม่เยอะก็ยังไม่แสดงอาการ กว่าจะแสดงอาการก็อาจจะเกิดการการแพร่ระบาดกระจายตัวไปเยอะแล้ว

 

“เพราะฉะนั้นคลัสเตอร์นี้จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก และเราก็พบว่าเป็นหลักฐานตัวเลขที่มาตรวจที่สถาบันบำราศนราดูรเมื่อวันที่ 7 เมษายน ประมาณ 800 คน ก็พบการติดอยู่ที่ประมาณ 40 กว่าคน โรงพยาบาลเอกชนที่มีไดรฟ์-ทรูมาตรวจก็ประมาณ 15% โดยสถานการณ์จึงน่ากังวลมาก”

 

เมื่อถามว่า สถานการณ์วันที่ 8 เมษายน เริ่มมีข่าวออกมาว่าโรงพยาบาลหลายๆ โรงพยาบาลประกาศยุติการตรวจโควิด-19 ชั่วคราว เพราะว่าห้องพักไม่พอบ้าง หรือน้ำยาตรวจหมดบ้าง ตรงนี้สถานการณ์มันน่าเป็นห่วงขนาดไหน

 

สาธิตกล่าวว่า ตรงนี้เกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น โดยหลักการเรามีการพูดคุยกันในโรงพยาบาลทุกเครือ ตนเองนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานอยู่ทุกสัปดาห์ มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลที่สังกัดทหารและตำรวจ เรามีข้อตกลงว่าใครตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ ก็จะต้องรับแอดมิตในโรงพยาบาลนั้นทันที แต่หากอาการหนักขึ้น เรามีข้อตกลงว่าก็จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เพราะจะมีความเชี่ยวชาญมาก วางระบบแบบนี้เพื่อให้บริการ และการตรวจต้องเข้าสู่ระบบการวินิจฉัยก่อนว่าเขาเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ หากมีความเสี่ยงสูงก็จะสามารถตรวจได้ และได้รับการตรวจฟรี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะจ่ายเงินอุดหนุนไปที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นๆ ที่ได้มีการรับรองแล็บของโรงพยาบาลนั้น 

 

“เพราะฉะนั้นหลักการทำงาน เราก็รวมด้วยว่าเตียงที่มีอยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมดมีเท่าไร เพื่อจะได้มาบริหารร่วมกันในระบบที่เป็นแพลตฟอร์มว่าที่ไหนเต็ม และต้องส่งต่อไปที่ไหนอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำแบบนี้ เมื่อมีคลัสเตอร์ทองหล่อเกิดขึ้น แล้วส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ พอการสอบสวนโรคไม่ทัน จึงเกิดการตื่นตระหนกว่าตัวเองเป็นผู้เสี่ยงสูง บางคนกังวลก็ขับรถไปตรวจ บางคนไม่ต้องการให้ใครมาออกเงินให้ ก็ไดรฟ์-ทรูไปโรงพยาบาลเอกชน ก็เลยหนาแน่น และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โรงพยาบาลเอกชนนั้นๆ ก็เตียงเต็ม จึงต้องประกาศหยุดตรวจชั่วคราว แต่ขณะนี้ได้สั่งการให้อธิบดีประชุมแล้วทำความเข้าใจ โดยวันนี้ (9 เมษายน) จะเปิดให้ตรวจเหมือนเดิม พร้อมทำความเข้าใจเรื่องการจัดการเตียงอย่างเป็นระบบเหมือนเดิม หากโรงพยาบาล A ตรวจ โรงพยาบาล B ไม่ตรวจเพราะเต็ม ซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น หมายความว่าถ้าเต็มเขาต้องส่งต่อมา อ้างว่าน้ำยาเเล็บหมดก็กำลังให้ตรวจสอบ เพราะเรามีสต๊อกไว้ที่ 3 แสนชุด ถ้าหมดเราจัดการหาให้อยู่แล้ว มันอาจจะอยู่ในช่วงชุลมุน เพราะมีผู้ติดเชื้อเยอะ และมาตรวจเยอะ ตนเองกำลังแก้ไข และที่สำคัญคือพยายามนำระบบหมุนเวียนเตียงมาใช้ ถ้าเกิดคนป่วยมีอาการน้อยก็อยู่โรงพยาบาลสัก 2 วัน แล้วส่งต่อมาอีกที่ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อหมุนเวียนเตียงให้เพียงพอ” สาธิตกล่าว

 

เมื่อถามว่า เวลานี้จำเป็นที่จะต้องตั้งโรงพยาบาลสนามในจุดไหนอย่างไร เพิ่มเติมหรือไม่ 

 

สาธิตกล่าวว่า เป็นการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากติดเชื้อจำนวนเป็นหลักพันหรือหลายพันก็มีความจำเป็น เราจะเริ่มด้วยระบบหมุนเตียงก่อน ตอนนี้ในระบบเตียงยังพออยู่ แต่ว่าขาดการไหลลื่นระหว่างโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน

 

เมื่อถามว่า ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตรวจโควิด-19 ว่าไปแล้วไม่ได้ตรวจฟรี ขั้นตอนตรงนี้เป็นอย่างไร

 

สาธิตกล่าวว่า เหมือนที่อธิบายให้ฟัง เจ้าหน้าที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าเขามีความเสี่ยงสูงถึงจะได้ตรวจฟรี แต่ละเคสมีต้นทุนทุกตัวอย่าง โดนต้นทุนของรัฐอยู่ที่ประมาณพันกว่าบาท เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องคัดกรอง ไม่ใช่ว่าเกิดความไม่มั่นใจแล้วลุกขึ้นไปตรวจอย่างเดียว เราก็คงจ่ายไม่ไหว เราเข้าใจเมื่อเขากังวลว่าคนใกล้ตัวติด แล้วก็ลืมที่จะวินิจฉัยตัวเองว่า ถึงแม้จะเป็นคนรู้จักกัน นั่งกินข้าวด้วยกัน แต่ห่าง 5 เมตรไม่ได้คุยกัน แบบนี้ก็เสี่ยงต่ำ การวินิจฉัยตัวเองก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานน้อยลงด้วย แต่หากไม่แน่ใจว่าเสี่ยงสูงหรือไม่ ต้องถามเจ้าหน้าที่

 

เมื่อถามว่า การระบาดเวลานี้มีแพทย์ออกมาระบุว่าเป็นสายพันธ์ุอังกฤษ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตรวจพบที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เราพอจะรู้ต้นตอที่ชัดเจนหรือยัง

 

สาธิตกล่าวว่า เดิมเราพบสายพันธ์ุนี้ในสามีภรรยาของครอบครัวอังกฤษที่มากักตัวกับเรา เราก็ป้องกันโดยการกักตัวเขาและตรวจหลายครั้ง และควบคุมให้ดี จากนั้นก็มาพบอีก 10 คน ใน Alternative Quarantine เราก็พยายามควบคุม ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งเดือน ตนเองคิดว่าที่ผ่านมาการ์ดต่างๆ ก็ตกลง เพราะคนคิดว่าสถานการณ์ผ่อนคลาย แล้วดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ เราพูดกันตรงไปตรงมาว่าอาจจะหละหลวม ปล่อยให้หลุดออกมา รวมถึงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอาจจะหลุดเข้ามาได้ จึงปรากฏสายพันธุ์ใหม่ที่ตรวจเจอถึง 24 ตัวอย่าง 

 

“แผนกระจายวัคซีน แบ่งเป็น 2 อย่างคือ การได้วัคซีนตามจำนวนคงไม่เปลี่ยน เราอยากได้เพิ่ม ซึ่งกำลังเจรจรากับ Sinovax อาจได้เพิ่มมา 5 แสนโดส ในเร็วๆ นี้ ส่วนแผนเดิมเป็นไปตามเดิม ถึงเเม้เรามีเงินและอยากจะซื้อ แต่ของที่จะขายเขาไม่มี อย่างยี่ห้ออื่น เช่น Pfizer, Moderna หรือ Johnson & Johnson ถ้าเราต้องการวันนี้ เขาต้องใช้เวลาหลายเดือนมากกว่าจะได้ เราพยายามเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ ในแง่ของการฉีด เราได้รับมาแล้วประมาณ 1.1 ล้านโดส ฉีดไปได้ประมาณ 5 แสนโดสแล้ว วันที่ 10 เมษายนจะเข้ามาอีก 1 ล้านโดส ก็จะได้ฉีดกันอีก แต่อาจจะมีการปรับแผนมาระดมที่กรุงเทพมหานคร เพราะมีการระบาดมาก” 

 

ติดตามบทสัมภาษณ์ได้ที่ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising