×

ใครได้อะไรบ้าง เมื่อกรมราชทัณฑ์อบรมผู้ต้องขังผลิตอาวุธปืน

16.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกรมสรรพาวุธทหารบก เปิดโครงการอบรมผู้ต้องขังผลิตอาวุธปืน โดยคัดเลือกจากทั่วประเทศอย่างเข้มข้นให้เข้าฝึก 16 คน
  • ภาครัฐยังไม่ชัดเจนเรื่องการต่อยอดอาชีพหลังจบโครงการ แต่คาดหวังองค์ความรู้จากผู้ต้องขังในการพัฒนาอาวุธปืน

(15 ม.ค.) THE STANDARD ผ่านมาตรการอันเข้มงวดของเรือนจำกลางบางขวางเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดและปฐมนิเทศโครงการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังในมิติใหม่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้ชื่อ ‘ไทยประดิษฐ์’

 

 

โครงการไทยประดิษฐ์ คือโครงการอบรมผู้ต้องขังเพื่อผลิตอาวุธปืน โดยกรมราชทัณฑ์ได้คัดเลือกผู้ต้องขังในคดีในคดีพระราชบัญญัติอาวุธปืนและคดีที่เกี่ยวข้องจากเรือนจำทั่วประเทศจำนวน 200 คน และจากส่วนกลาง 33 คน ส่งให้กรมสรรพาวุธทหารบกทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจสอบทางจิตเวช จนสามารถคัดกรองออกมาได้ 16 คน

 

https://www.youtube.com/watch?v=B58JEL7wuBc&feature=youtu.be

 

โดยการอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคทฤษฎี อบรม 5 วัน เนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวกับอาวุธปืน การอบรมคุณธรรม และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ ส่วนภาคปฏิบัติจะอบรม 2 สัปดาห์ ประกอบด้วย การฝึกเขียนแบบ การพัฒนาระบบอาวุธ รวมถึงการผลิตและการตรวจคุณภาพ

 

 

ไม่ขัดต่อยอดอาชีพ สรรพาวุธหวังองค์ความรู้นักโทษพัฒนาอาวุธ

พันตำรวจเอก ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงข้อห่วงใยกรณีผู้ต้องขังที่เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธปืน เมื่อพ้นโทษไปอาจนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดว่า หลังจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว กรมราชทัณฑ์จะทำสถิติและข้อมูลผู้ต้องขังที่พ้นโทษทุกราย รวมถึงผู้ต้องขังทั้ง 16 รายด้วย และนำส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายปกครอง หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีกจะถูกจับกุมได้ง่ายขึ้น

 

สำหรับผู้ต้องขังที่ฝึกอาชีพประกอบอาวุธปืนทั้ง 16 รายจะมีกำหนดพ้นโทษไม่เท่ากัน โดยส่วนมากจะมีกำหนดพ้นโทษ 3 ปี ส่วนการต่อยอดทำงานขึ้นอยู่กับระเบียบทำงานราชการ ความพร้อมของผู้ต้องขังแต่ละคน รวมถึงนโยบายในระดับบน

 

ขณะที่กรมสรรพาวุธทหารบกคาดหวังผลลัพธ์การอบรมครั้งนี้ว่าอยากให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วมในการคิดวิจัย การพัฒนาระบบการทำงานของปืนพกและปืนลูกซองพก เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

 

 

พลโท อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวว่า ผู้เข้าอบรมทั้ง16 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นพวกที่มีความรู้ค่อนข้างดีที่ทางราชการสามารถนำมาต่อยอดได้ ให้ประโยชน์และความรู้กับทางราชการได้ เอามาคิดต้นแบบวิจัย พัฒนา ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นพวกสมัครใจและมีความรักชอบในอาวุธ โดยจะไม่เน้นเรื่องอาวุธสงคราม แต่จะเน้นเรื่องปืนพก ปืนลูกซองของพลเรือนเป็นหลัก

 

 

ผู้ต้องขังหวังลดหย่อนโทษ อยากออกไปเป็นคนดีของสังคม

ผู้ต้องขังที่ได้รับคัดเลือกเข้าอบรมท่านหนึ่งบอกกับ THE STANDARD ว่า ตนเองมาจากเรือนจำจังหวัดตาก โดนโทษคดียาเสพติด แต่มีความรู้เรื่องอาวุธปืน เพราะประกอบอาชีพเป็นช่างกลึงเหล็ก ตอนอยู่ข้างนอกก็รับทำอาวุธปืนขาย

 

 

เขาบอกกับเราว่าความต้องการปืนเถื่อนมีค่อนข้างสูง มีคนมาสั่งทำตลอด ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่าย แต่ถ้าเป็นปืนปากกาจะทำง่าย ขายราคาไม่ถึง 1,000 บาท

 

เขาบอกว่าเป้าหมายหลักที่เข้าร่วมโครงการนี้คืออยากได้รับการลดหย่อนโทษ ขณะนี้เหลือโทษอีกปีกว่า จึงหวังจะออกไปโดยเร็ว และตั้งใจจะประกอบอาชีพสุจริต ไม่คิดกลับเข้ามาในคุกอีกเด็ดขาด

 

เขาบอกกับเราอีกว่า ในความเห็นของเขาก็มีโอกาสที่คนผ่านการอบรมอาจเอาไปใช้ทำอาวุธปืนเถื่อนขายเมื่อพ้นโทษไปแล้ว แต่ส่วนตัวไม่ขอยุ่งเกี่ยว และอยากฝากถึงคนที่ทำเรื่องผิดกฎหมายให้เลิกทำ เพราะถ้าเขาย้อนเวลากลับไปได้ เขาขอเลือกเป็นคนดีที่มีอิสระอยู่ข้างนอกเรือนจำ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X