×

คปภ. คลอดประกันภัยไข้เลือดออก จ่าย 300-700 ต่อปี คุ้มครอง 3 หมื่น-1 แสน

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2019
  • LOADING...
ประกันไข้เลือดออก

จากกรณีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ทำให้มีฝนตกหนักเป็นระยะๆ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว มักมีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอยู่เนืองๆ

 

2 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออก ‘กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก’ โดยถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานไข้เลือดออกฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนจากภัยโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ 

 

กรมธรรม์ดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัย ถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก โดยมีความคุ้มครอง 2 ประการ 

 

ประการแรกคือ ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) โดยหากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน (IPD) หรือผู้ป่วยนอก (OPD) ของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม หรือคลินิก จะจ่ายค่าทดแทนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล ค่าบริการทั่วไป หรือค่ายา เป็นต้น ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย 

 

ประการที่สองคือ ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ของโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรมตามความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ จะจ่ายค่าชดเชยรายวันให้กับผู้เอาประกันภัยตามจำนวนวันที่เข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในดังกล่าว โดยกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นมีแผนประกันภัย 3 แผน และเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ดังนี้

 

  • แผนแรก ค่าเบี้ยประกันภัย 300 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และคุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 300 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
  • แผนสอง ค่าเบี้ยประกันภัย 500 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และคุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 500 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง
  • แผนสาม ค่าเบี้ยประกันภัย 700 บาทต่อปี คุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และคุ้มครองเงินชดเชยรายวันระหว่างรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท ชดเชยสูงสุด 30 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising