พรรคเดโมแครตของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มีโอกาสสูงที่จะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา หลัง ราฟาเอล วอร์นอค ผู้สมัครซึ่งเป็นบาทหลวงจากแอตแลนตา ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2 ที่นั่งที่เหลือในรัฐจอร์เจีย ขณะที่อีก 1 ที่นั่ง จอน ออสซอฟฟ์ ผู้สมัครเดโมแครตอีกคน ก็ยังมีคะแนนนำคู่แข่งจากรีพับลิกันในการนับคะแนนช่วงสุดท้าย
สำหรับการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจียเมื่อวันที่ 5 มกราคม เป็นไปตามกฎเกณฑ์เฉพาะของมลรัฐจอร์เจียที่กำหนดไว้ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งจำเป็นต้องได้เสียงเกิน 50% ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกิน 50% ทำให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองคนต้องมาต่อสู้กันอีกรอบ (Run-Off Election) ซึ่งก็คือ ส.ว. เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง เดวิด เพอร์ดู จากพรรครีพับลิกัน และผู้ท้าชิงอย่าง จอน ออสซอฟฟ์ จากพรรคเดโมแครต ส่วนเก้าอี้ ส.ว. อีก 1 ที่นั่งเป็นการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งเป็นการชิงชัยระหว่าง ส.ว. รักษาการอย่าง เคลลี เลฟเลอร์ จากพรรครีพับลิกัน และผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตอย่าง สาธุคุณ วอร์นอค
ล่าสุดการนับคะแนนผ่านพ้นไปแล้ว 98% ซึ่งเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ชั้นนำอย่าง CNN และสำนักข่าว AP ของสหรัฐฯ ได้ประกาศให้วอร์นอคเป็นผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นวุฒิสมาชิกผิวดำคนแรกจากรัฐจอร์เจีย และเป็นชาวอเมริกันผิวดำคนที่ 11 ที่ได้นั่งเก้าอี้วุฒิสภาในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
ชัยชนะของวอร์นอคทำให้เดโมแครตได้ที่นั่งในวุฒิสภาหรือสภาสูงเพิ่มเป็น 49 ที่นั่ง ขณะที่รีพับลิกันมีอยู่ 50 ที่นั่ง และหากออสซอฟฟ์ ซึ่งเวลานี้มีคะแนนนำเลฟเลอร์ราว 0.4% ชนะอีกคน จะทำให้เดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากทันที เพราะหากเกิดกรณีที่การโหวตในวุฒิสภามีคะแนนเท่ากัน รองประธานาธิบดีซึ่งก็คือ คามาลา แฮร์ริส จะมีอำนาจชี้ขาดในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง (Tie-Breaker)
การครองเสียงข้างมากในสภาสูงจะมีผลอย่างมากต่อทิศทางการบริหารประเทศของไบเดนในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพราะเขาจะมีโอกาสผลักดันนโยบายหลายอย่างของฝ่ายซ้ายได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม เช่น นโยบายลงทุนกับพลังงานสะอาด (คล้ายกับ Green New Deal) การปฏิรูประบบยุติธรรม และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: