×

ส่องโมเดลประชาธิปไตย ‘อุซเบกิสถานใหม่’ เส้นทางปฏิรูปการเมือง รากฐานเสถียรภาพ สู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส

13.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • อุซเบกิสถานสามารถประคองประเทศก้าวผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญๆ มาหลายยุคได้โดยราบรื่น ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศเอกราชหลังยุคโซเวียต การปรับตัวในยุคหลังสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนอำนาจหลังยุคการปกครองของ อิสลาม คาริมอฟ สู่ยุคของ ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ที่นำมาสู่การปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย พัฒนาศักยภาพพลเมืองสู่ตลาดแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
  • การจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญของอุซเบกิสถานอยู่ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งใหม่ที่มีความโปร่งใสและมีกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยพัฒนาขึ้นมาจากคำแนะนำของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเพื่อการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE), สมาคมเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งโลก และองค์การความร่วมมือโลกอิสลาม
  • นิตยสารชื่อดังอย่าง The Economist ยอมรับว่าการเลือกตั้งในอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2019 มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน และยอมรับว่า กกต. ค่อนข้างให้อิสระในการทำงานกับผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ
  • คณะสามารถเลือกเมืองที่จะไปสังเกตการณ์ได้เอง จะไปหน่วยเลือกตั้งไหนก็ได้ โดยจะมีคนขับรถพาตระเวนไปตามหน่วยต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสัมภาษณ์และพบปะพูดคุยกับประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ได้หมด ทั้งหมดนี้แสดงถึงความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบุอยู่ในมาตรา 8 ของกฎหมายเลือกตั้งอุซเบกิสถาน

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐอุซเบกิสถานได้จัดการเลือกตั้งครั้งทั่วไปครั้งสำคัญ หรือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาโอลีย์ (Oliy Majlis) ภายใต้คำรณรงค์ว่า ‘New Uzbekistan, New Elections’ หรือ ‘อุซเบกิสถานใหม่กับการเลือกตั้งแบบใหม่’ เพราะการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังยุคของ อิสลาม คาริมอฟ (ผู้ล่วงลับ) อดีตประธานาธิบดีคนแรกของประเทศและอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 25 ปี

หลังคาริมอฟเสียชีวิตในปี 2016 ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ก็ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2017 กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดย 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำมีร์ซีโยเยฟ เขาได้พัฒนาและปฏิรูปอุซเบกิสถานอย่างจริงจังในหลายๆ ด้าน จนกล่าวกันว่าเป็น ‘อุซเบกิสถานใหม่’

หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และการปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลผ่านกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2019 ดังนั้นคำรณรงค์ของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสื่อความหมายที่เน้นคำว่า ‘ใหม่’ เพื่อฉายภาพความหวังของประเทศที่คนในชาติต้องร่วมกันถักทอให้เกิดอุซเบกิสถานยุคใหม่ด้วยการเลือกตั้งแบบใหม่ที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตามมาตรฐานสากล การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความพิเศษที่สำคัญมากต่ออนาคตของอุซเบกิสถานและภูมิภาคเอเชียกลาง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งของอุซเบกิสถานให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเชื้อเชิญให้นานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ให้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งมีผู้แทนและองค์กรจากหลายประเทศมาร่วมสังเกตการณ์มากกว่า 825 คน จาก 41 ประเทศ รวมทั้งประเทศจีนด้วย แม้จะไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตยก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้โลกได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานความโปร่งใสและความยุติธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับเชิญจาก มิรซา อับดุลซาโลมอฟ ประธานคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งอุซเบกิสถาน

ก่อนทำความเข้าใจการเมืองและความเป็นไปของอุซเบกิสถานในปัจจุบัน ผู้เขียนขอย้อนเกริ่นถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สักเล็กน้อย หลังจากที่ได้ศึกษาและได้มีโอกาสสัมผัสโดยตรง ซึ่งพบว่ามีหลายเรื่องที่เราอาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศนี้ใหม่ โดยเฉพาะการผ่านมุมมองของคนในประเทศมากกว่าการรับรู้ผ่านสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว

 



 

อุซเบกิสถานในยุคประธานาธิบดีอิสลาม คาริมอฟ
อิสลาม คาริมอฟ เป็นผู้นำอุซเบกิสถานมาตั้งแต่สมัยที่อุซเบกิสถานยังเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต หรือเป็น 1 ใน 15 รัฐสังคมนิยมในวงศ์ไพบูลย์ของสหภาพโซเวียต โดยในปี 1989 คาริมอฟดำรงตำแหน่งเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอุซเบกิสถาน ซึ่งปกครองอุซเบกิสถานโดยพฤตินัย

จนกระทั่งในปี 1991 ภายหลังได้รับเอกราช คาริมอฟชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอุซเบกิสถาน และสามารถอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินร้อยละ 85 ทุกครั้ง กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 2 กันยายน 2016 รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 25 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ประธานาธิบดีคาริมอฟปกครองอุซเบกิสถาน หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของเขาแต่ไม่เป็นที่รับรู้หรือกล่าวถึงมากนักในสายตาคนนอกคือ การทำให้ประเทศมีความสงบสุขและก้าวพ้นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐสังคมนิยมสู่การปรับตัวเข้ากับโลกเสรียุคหลังสงครามเย็นได้อย่างราบรื่น ในขณะที่หลายพื้นที่ในภูมิภาคเกิดปัญหาความไร้เสถียรภาพ

ภาพลักษณ์ของคาริมอฟในสายตาคนนอกหรือสื่อตะวันตกอาจสวนทางกับความนิยมชมชอบในภาวะผู้นำของเขาในสายตาคนอุซเบกิสถาน ทั้งนี้คาริมอฟถูกมองจากโลกภายนอกบางส่วนผ่านการนำเสนอภาพความเป็นเผด็จการที่ปกครองด้วยกฎเหล็ก ทำเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างหนัก ละเมิดสิทธิมนุษยชน จับคนนับพันจำคุกด้วยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรงทางศาสนา อีกทั้งการเลือกตั้งในแต่ละครั้งถูกมองว่าไม่โปร่งใสและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เช่น การเลือกตั้งในปี 2015 คาริมอฟได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่าร้อยละ 90 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) กล่าวหาอุซเบกิสถานว่าเป็นรัฐเผด็จการที่ไม่มีฝ่ายค้านอย่างแท้จริง อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งยังถูกมองว่ามีการดำเนินงานที่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่มีอิสระในการทำหน้าที่

แม้ว่าในสายตาสื่อตะวันตกจะมองคาริมอฟว่าเป็นเผด็จการที่ปกครองอุซเบกิสถานยาวนานเกือบสามทศวรรษ แต่ในทางกลับกัน ในสายตาของประชาชนอุซเบกิสถานส่วนใหญ่ชื่นชมในตัวคาริมอฟเป็นอย่างยิ่ง มองว่าแม้เขาจะเป็นผู้นำที่รวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่ก็เพราะความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของอุซเบกิสถานซึ่งถูกแทรกแซงจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอุซเบกิสถานเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจต้องการเข้ามามีอิทธิพล รวมถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม เขาได้พยายามรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างอุซเบกิสถานกับรัสเซีย จีน และสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก

ผมมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอุซเบกิสถานหลายคน พบว่าคนอุซเบกิสถานจำนวนมากรักและศรัทธาในตัวคาริมอฟอย่างมาก ตอนที่เขาเสียชีวิต คนเกือบทั้งประเทศรู้สึกเสียใจ หลายคนร้องไห้กลั้นน้ำตาไม่อยู่ จนถึงขณะนี้บางคนยังน้ำตาไหลถ้าพูดถึงความดีงามของคาริมอฟที่ทำให้กับประเทศ หากไปเยือนเมืองซามาร์คันด์ ก็จะพบเห็นสุสานฝังศพที่ยิ่งใหญ่มโหฬารของเขาตั้งตระหง่านบนพื้นที่สูงใกล้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุซเบกิสถานและสุสานของกษัตริย์คนสำคัญในอดีต

ดังนั้นไม่ว่าโลกจะมองอย่างไร แต่สำหรับคนอุซเบกิสถานแล้ว คาริมอฟคือคนที่วางรากฐานความมั่นคง ความสงบสุข ความเป็นเอกภาพ และค่านิยมความรักชาติ (ที่ไม่ใช่ชาตินิยม) ให้กับอุซเบกิสถาน ส่วนประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟ คือผู้ที่มาสานต่อและปฏิรูปในเวลาที่เหมาะสม

เหตุการณ์ประท้วงรุนแรงที่เมืองอันดิจาน ปี 2005
วันที่ 13 พฤษภาคม 2005 เกิดการประท้วงรัฐบาลที่เมืองอันดิจาน ทางตะวันออกของประเทศ ใกล้พรมแดนของประเทศคีรกีซสถาน เป็นเขตที่ถูกจับตามองจากทางการอุซเบกิสถาน เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีแนวความคิดที่จะแยกตัวเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวต่างๆ เชื่อว่าการประท้วงมีสาเหตุจากความไม่พอใจในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคาริมอฟ

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักธุรกิจที่ถูกจำคุก 23 ราย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกมุสลิมหัวรุนแรง โดยรายงานบางแหล่งระบุว่า คาริมอฟสั่งให้กองกำลังทหารเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงหลายพันคนในเมืองนี้ ซึ่งในการปะทะกันของกองทัพรัฐบาลกับผู้ชุมนุมประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รัฐบาลยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิต 187 คน แต่รายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 1,500 คน

ทั้งนี้คนอุซเบกิสถานจำนวนหนึ่งมองว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนอยู่เบื้องหลังและใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์ รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการปราบปราม หากไม่แล้วคงเสียดินแดนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศระยะยาว

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ OSCE ได้เรียกร้องให้องค์การนานาชาติเข้าไปตรวจสอบ แต่ประธานาธิบดีคาริมอฟยืนยันว่าเป็นเรื่องภายใน สื่อบางสำนักรายงานว่ารัฐบาลได้จับกุมนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน และควบคุมสื่อท้องถิ่น

คาริมอฟตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการออกคำสั่งให้ถอนฐานทัพสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ที่เมืองคาร์ชิ คานาบัด ซึ่งเป็นเมืองที่มีชายแดนติดอัฟกานิสถาน ต่อมาสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้มีมติคว่ำบาตรอุซเบกิสถาน ทั้งนี้การลงโทษดังกล่าวส่งผลให้อุซเบกิสถานหันไปเพิ่มความใกล้ชิดกับรัสเซียและจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปก็ได้รับการฟื้นฟูในภายหลัง เนื่องจากอุซเบกิสถานเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน

การปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ
ภายหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีคาริมอฟในปี 2016 การเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อ ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของอุซเบกิสถานและบริหารประเทศมาถึงปัจจุบัน มีร์ซีโยเยฟถือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับคาริมอฟมากที่สุดคนหนึ่ง

ในยุคของมีร์ซีโยเยฟ เขาได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จนได้รับการกล่าวขานในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการแก้ไขภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประเทศ อาทิ การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองกว่า 30 คน การสั่งปิดคุก Jaslyk ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทรมานและจำคุกผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลอุซเบกิสถาน การให้เสรีภาพในการแสดงออกที่มากขึ้น การลดอำนาจฝ่ายความมั่นคงที่ถูกมองว่ากระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งการออกมาตรการต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น

ความพยายามเหล่านี้ได้ทำลายข้อครหาของคนนอกว่ามีร์ซีโยเยฟคือผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการ เนื่องจากเขาเคยเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกมองว่าเป็นมือขวาของอดีตประธานาธิบดีคาริมอฟ โดยในปี 2017 นักวิเคราะห์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) กล่าวว่า “การปฏิรูปประเทศของมีร์ซีโยเยฟควบคู่กับการปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง นำมาซึ่งความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงของอุซเบกิสถานที่ไม่ได้เห็นมาเป็นเวลายาวนาน”

การเปิดประเทศสู่การค้าเสรีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟ เขาตระหนักว่าอุซเบกิสถานอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย จึงพยายามนำพาประชาชนเกือบ 33 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วยการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา เห็นได้จากการลงนามข้อตกลงทางธุรกิจกับบริษัทอเมริกาเป็นมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์ อีกทั้งการที่ประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟเดินทางไปเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในปี 2018 หรือการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอุซเบกิสถานเดินทางเยือนกองบัญชาการกลางของสหรัฐอเมริกา (CENTCOM) เพื่อหารือความร่วมมือทางทหารระหว่างกันในปี 2019 ชี้ให้เห็นถึงการเดินหน้าสานความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันความเหินห่างจากพันธมิตรเก่าแก่อย่างปากีสถาน ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาต้องยอมรับว่าอุซเบกิสถานเป็นพันธมิตรที่จำเป็นในการทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธในอัฟกานิสถาน

การเลือกตั้งรัฐสภาโอลีย์และพรรคการเมืองของอุซเบกิสถาน
รัฐธรรมนูญปี 1993 กำหนดให้อุซเบกิสถานปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีฝ่ายตุลาการที่ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ปัจจุบันคือ อับดุลลา อารีพอฟ มีรัฐสภาโอลีย์ที่ประกอบด้วยวุฒิสภาจำนวน 100 ที่นั่ง (โดย 84 ที่นั่งได้รับเลือกโดยสภาระดับภูมิภาค มีวาระ 5 ปี และอีก 16 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี) และสภานิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) จำนวน 150 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระ 5 ปี

ตามรัฐธรรมนูญอุซเบกิสถาน กำหนดให้ประธานาธิบดี สมาชิกสภานิติบัญญัติ และสมาชิกสภาระดับท้องถิ่นต่างๆ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงคือพลเมืองทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถโดยการตัดสินของศาล หรือรับโทษจำคุกสำหรับคดีร้ายแรง ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในศูนย์คุมขังก่อนการพิจารณาคดีมีสิทธิ์ลงคะแนน

วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาโอลีย์ ควบไปพร้อมกับการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นระดับอำเภอและจังหวัด ผู้มาออกเสียงเลือกตั้งจะได้รับบัตรลงคะแนน 3 ใบ ทุกใบเป็นกระดาษขนาด A4 ปรากฏข้อความรายละเอียดของพรรคการเมือง ผู้สมัคร และช่องลงคะแนนที่ชัดเจน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้อุซเบกิสถานได้นำระบบทะเบียนอิเล็กทรอนิกสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งตามข้อมูลของ กกต. ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ถูกขึ้นทะเบียนทั้งหมดมีประมาณ 20.5 ล้านคน มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 10,260 แห่ง ในจำนวนนี้ 55 แห่งเป็นหน่วยเลือกตั้งในต่างประเทศ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 71.1

 

 

การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ของอุซเบกิสถานภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งใหม่เรียกได้ว่ามีความโปร่งใสและมีกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพราะได้พัฒนาขึ้นมาจากคำแนะนำของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเพื่อการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Office for Democratic Institutions and Human Rights) ขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE), สมาคมเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งโลก (World Association of Electoral Authorities) และองค์การความร่วมมือโลกอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation)

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีข้อกำหนดใหม่ๆ มากมายที่เอื้อต่อบรรยากาศที่เป็นธรรมและการแข่งขันที่เสรีระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการยกเลิกการสำรองที่นั่งในสภา 15 ที่กับผู้แทนจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งอุซเบกิสถาน (Ecological Movement of Uzbekistan) โดยให้กลุ่มนี้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ลงสนามเลือกตั้งร่วมกับพรรคอื่นๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องมีตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงจากพรรคของตัวเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

พรรคการเมืองและผลการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2019 มีพรรคการเมืองที่แข่งขันกัน 5 พรรค ได้แก่

  1. The National Revival Democratic Party (NRDP) ‘Milliy Tiklanish’ มีสมาชิก 300,000 คน
  2. The People’s Democratic Party (PDP) มีสมาชิก 490,000 คน
  3. The Liberal Democratic Party of Uzbekistan (LDPU) มีสมาชิก 730,000 คน ซึ่งประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟและคาริมอฟได้สังกัดอยู่กับพรรคนี้
  4. The Social Democratic Party Adolat (SDPA) มีสมาชิก 380,000 คน 
  5. The Ecological Party (EP) มีสมาชิก 245,000 คน เป็นพรรคการเมืองและองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในอุซเบกิสถาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2008 

 

พรรคการเมืองในประเทศอุซเบกิสถานสามารถแบ่งเป็นฝ่ายตามอุดมการณ์ได้ดังนี้ พรรค PDP และพรรค SDPA เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ส่วนพรรค LDPU และ พรรค NRDP เป็นพรรคฝ่ายขวา ปัจจุบันพรรคฝ่ายขวามีเสียงข้างมากในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม แม้พรรค LDPU และพรรค NRDP จะมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน แต่ก็มีบ้างที่วิจารณ์กันเอง เช่น พรรค LDPU กล่าวหาพรรค NRDP ว่าเลียนแบบอุดมการณ์และรูปแบบการรณรงค์หาเสียงจากพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศตุรกี ในขณะเดียวกันพรรค NRDP ก็ได้ตอบโต้ว่าพรรค LDPU มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศรัสเซียมากจนเกินไปเช่นกัน

คนอุซเบกิสถานให้ความสนใจกับการดีเบตนโยบายระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ทางทีวีมาก ไม่นิยมประท้วง หรือเดินขบวน หรือปราศรัยโจมตีกันในที่สาธารณะ ผมมีโอกาสซักถามถึงเนื้อหาของการดีเบตว่าพรรคการเมืองทั้งหลายวิจารณ์คู่แข่งกันหนักไหม มีการโจมตีกันเรื่องส่วนตัวบางไหม มีการขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศไหม คำตอบที่ได้คือไม่มี ส่วนใหญ่พรรคการเมืองจะเน้นนำเสนอนโยบายของตัวเองมากกว่า

หลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 20.00 น. แต่ละหน่วยจะนับคะแนนและส่งผลไปยังส่วนกลาง เช้าวันรุ่งขึ้นจะเป็นงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรและผู้สังเกตการณ์ทั้งในและนอกประเทศจะมารวมตัวกัน ณ สถานที่จัดงานในเมืองหลวงทาชเคนต์ เพื่อรายงานสรุปผลการสังเกตการณ์ โดยในช่วงเย็น กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งเบื้องต้น

 

 

 

ในงานแถลงข่าว ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากหลายองค์กรสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO), กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of the Independent States) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประกอบขึ้นมาจากอดีตกลุ่มสาธารณรัฐสังคมนิยมรัฐโซเวียต

นอกจากนี้นิตยสารชื่อดังอย่าง The Economist ยังยอมรับว่า เป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน และยอมรับว่า กกต. ค่อนข้างให้อิสระในการทำงานกับผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ สามารถเลือกเมืองที่จะไปสังเกตการณ์ได้เอง จะไปหน่วยเลือกตั้งไหนก็ได้ โดยจะมีคนขับรถพาตระเวนไปตามหน่วยต่างๆ สัมภาษณ์และพบปะพูดคุยกับประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ได้หมด ทั้งหมดนี้แสดงถึงความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบุอยู่ในมาตรา 8 ของกฎหมายเลือกตั้ง นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์ยังได้รับสิทธิในการยื่นเรื่องร้องเรียนในกรณีที่พบเห็นความผิดปกติในกระบวนการเลือกตั้งต่อ กกต. หรือต่อศาลภายใน 10 วันหลังประกาศผล

ผลการเลือกตั้งใน 150 เขต ปรากฏว่าสามารถสรุปและประกาศผลได้ 128 เขต อีก 22 เขต มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบ 2 ในเขตที่เหลือ ในการเลือกตั้งสภาโอลีย์ครั้งที่แล้วเมื่อปี 2014 ก็เช่นกัน ที่มี 22 เขตต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2 เพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

โดยผลการเลือกตั้งล่าสุดที่ประกาศแล้วมีดังนี้
1. พรรค The Liberal Democratic Party Uzbekistan ได้ 43 ที่นั่ง (เทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ 47 ที่นั่งในรอบแรก และเพิ่มอีก 5 ที่นั่งในรอบสอง รวมได้ 52 ที่นั่ง)

2. พรรค The National Revival Democratic Party ได้ 35 ที่นั่ง (เทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ 28 ที่นั่งในรอบแรก และเพิ่มอีก 8 ที่นั่งในรอบสอง รวมได้ 36 ที่นั่ง)

3. พรรค People’s Democratic Party ได้ 18 ที่นั่ง (เทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ 21 ที่นั่งในรอบแรก และเพิ่มอีก 6 ที่นั่งในรอบสอง รวมได้ 27 ที่นั่ง)

4. พรรค The Social Democratic Party Adolat ได้ 21 ที่นั่ง (เทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ 17 ที่นั่งในรอบแรกและ เพิ่มอีก 3 ที่นั่งในรอบสอง รวมได้ 20 ที่นั่ง)

5. พรรค Ecological Party ได้ 11 ที่นั่ง (ครั้งก่อนได้รับการสำรองที่นั่งไว้ 15 ที่นั่ง)

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่าพรรค LDPU ซึ่งเป็นพรรคที่ประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟสังกัดจะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ผลงานที่ผ่านมาของมีร์ซีโยเยฟตั้งแต่สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรียุคคาริมอฟ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในตำแหน่งประธานาธิบดี ประกอบกับนโยบายการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้านของตัวเขาเองและของพรรคที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย การทำประเทศให้ทันสมัย พัฒนาศักยภาพพลเมืองสู่ตลาดแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

ด้วยผลงานและการชูนโยบายต่อเนื่องเหล่านี้ ทำให้พรรค LDPU มีฐานเสียงหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นกลางและรากหญ้า นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร เป็นต้น ผมมีโอกาสคุยกับนักธุรกิจอุซเบกิสถานที่เคยประกอบธุรกิจในต่างประเทศ แต่ตัดสินใจขนเงินกลับมาลงทุนในอุซเบกิสถานเพราะถูกใจนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของมีร์ซีโยเยฟ

ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าอุซเบกิสถานสามารถประคองประเทศก้าวผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญๆ มาหลายยุคได้โดยราบรื่น ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศเอกราชหลังยุคโซเวียต การปรับตัวในยุคหลังสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนอำนาจหลังยุคคาริมอฟสู่ยุคของมีร์ซีโยเยฟ ที่นำมาสู่การปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน

การเลือกตั้งล่าสุด ผลการเลือกตั้งอาจไม่สำคัญมากหากเทียบกับความสำเร็จอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ลบล้างภาพลักษณ์ในอดีตที่เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างชาติว่าไม่เป็นประชาธิปไตยไปได้อย่างสิ้นเชิง

หากจะสรุปภาพรวมพัฒนาการของอุซเบกิสถานในรอบเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีสองคนที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศ อาจกล่าวได้ว่า 25 ปีของคาริมอฟ เขาคือผู้นำพาอุซเบกิสถานฝ่าคลื่นมรสุมการเปลี่ยนแปลงของโลกมาถึงศตวรรษที่ 21 อย่างราบรื่น วางรากฐานความสงบสุขและความเรียบร้อยภายในได้อย่างดี ทำให้อุซเบกิสถานวันนี้ติดอันดับประเทศที่ปลอดภัยและมีความสงบสุขมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในขณะที่มีร์ซีโยเยฟคือผู้ที่เข้ามาสานต่อและปฏิรูปประเทศในช่วงเวลาที่เหมาะสม สร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับในประเทศและในระดับสากล

ความสงบสุขเรียบร้อยภายในประเทศ ความเป็นเอกภาพ วัฒนธรรมการเมืองที่ไม่นิยมความรุนแรงและความแตกแยกของคนอุซเบกิสถาน การเลือกตั้งที่โปร่งใสและได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงเป็นสัญญาณดีต่อการพัฒนาประเทศและการสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ อุซเบกิสถานจึงเป็นประเทศหนึ่งที่ตอนนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักธุรกิจนักลงทุนกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษในฐานะประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาและมีทรัพยากรมากมาย ที่สำคัญคือกำลังเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ในทางการเมืองก็เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียกลางและเป็นตัวผลักดันสำคัญให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาค

ประเทศไทยโดยเฉพาะนักลงทุนไม่ควรมองข้ามโอกาสในการสานสัมพันธ์กับอุซเบกิสถานเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันอุซเบกิสถานมีสถานกงสุลประจำกรุงเทพมหานคร หวังว่าในอนาคตเราจะมีสถานทูตไทยประจำอุซเบกิสถานเมื่อทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

อ้างอิง:

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X