×

ประชาธิปัตย์ ยืนยันจุดยืนเดินหน้าตั้ง สสร. แก้ รธน. เรียกร้องอย่าขยายกรอบเวลาศึกษาเกิน 30 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
25.09.2020
  • LOADING...
ราเมศ รัตนะเชวง

(25 กันยายน) ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวานนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาโดยตลอดถึงหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 256 รวมถึงการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกทั้งยังมีการขับเคลื่อนผลักดันจนรัฐบาลได้บรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วน ซึ่ง ส.ส. ของพรรคก็ได้ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในชุดที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน จนมีการดำเนินการแล้วเสร็จ และยื่นรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นพรรคจึงไม่หวั่นไหวกับคำกล่าวหาที่ว่า ประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เป็นความจริง พรรคต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด

 

ทั้งนี้ ราเมศ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์วานนี้ที่มี ส.ส. คนหนึ่งเสนอญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนรับหลักการนั้น พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า พรรคไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนรับหลักการเหมือนที่เกิดขึ้น มีการบอกล่วงหน้าให้พรรคได้ทราบไม่ถึงชั่วโมง และทันทีที่ทราบ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. ของพรรค จึงได้เรียกประชุม ส.ส. ของพรรค ที่ห้อง 210 เพื่อกำหนดท่าทีของพรรค 

 

“ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทั้งๆ ที่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควรที่จะได้เดินไปตามครรลอง เหตุผลที่ผมบอกอย่างนั้น เพราะเราได้ศึกษาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเยอะ ชุดของท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ศึกษามาแล้วหลายเดือน เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนรับหลักการนั้น ผมก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องใดอีก คนที่เสนอให้ตั้งและคนที่เห็นด้วยจะต้องตอบคำถามให้ชัดด้วย” ราเมศ กล่าว

 

นอกจากนี้ตอบคำถามต่อว่า ในเมื่อประชาธิปัตย์ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนรับหลักการ แต่เหตุใดจึงต้องส่ง ส.ส. ไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ราเมศกล่าวว่าพรรคมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งบุคคลเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย เพราะพรรคได้ยืนยันเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 และการตั้ง สสร. รวมไปถึงอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน และอีกหลายมาตรา รวมถึงการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่พรรคเตรียมไว้สำหรับการพูดคุยใน สสร. ดังนั้นพรรคจึงจำเป็นต้องส่ง ส.ส. เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ตั้งขึ้นมาก่อนรับหลักการชุดนี้ด้วย เพื่อเป็นการควบคุมในประเด็นที่พรรคพยายามนำเสนอ

 

“ถ้าเกิดประชาธิปัตย์เราไม่ส่ง เราจะไปควบคุมประเด็นได้อย่างไร เราต้องตามกลับไปเพื่อที่จะควบคุมประเด็นว่า ประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตราที่เราได้ยื่นญัตติไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นที่จะต้องไปดูในรายละเอียด ควบคุมให้อยู่ในหลักการของพรรคว่า เรายืนยันอย่างหนักแน่นในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีกรอบระยะเวลา 30 วัน ผมก็เรียกร้องว่าอย่าขยายกรอบระยะเวลาของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว เพราะปิดสมัยประชุมครั้งนี้ 2 เดือน ฉะนั้นมีเวลา 2 เดือนที่จะเตรียมการให้พร้อม เมื่อเปิดสมัยประชุมมา ก็ต้องเข้าสู่โหมดวาระรับหลักการว่า จะรับหรือไม่รับในวาระที่ 1 แม้ตอนนี้จะตอบไม่ได้ว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นพ้องไปในทิศทางใด แต่ผมตอบได้ในฐานะที่ผมเป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ว่า เรายืนยันเปิดรับหลักการในสมัยประชุมหน้า วาระแรกในเรื่องรับหลักการ ประชาธิปัตย์จะรับหลักการที่เราได้เสนอต่อรัฐสภา คือแก้ไขมาตรา 256 และให้มี สสร.” ราเมศ กล่าว 

 

สำหรับคำถามที่มี ส.ส. ของพรรคจำนวน 2 คนเห็นด้วยนั้น ราเมศกล่าวว่า ขอให้ทั้ง 2 ท่านได้ตอบคำถามนี้เอง ถึงเหตุผลในการเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X