×

‘ประชาธิปไตยกับการรับน้อง’ บทเรียนที่ไม่เคยจำ หลังนักศึกษาอุเทนถวายถูกรุ่นพี่เตะจนเสียชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2021
  • LOADING...
ประชาธิปไตยกับการรับน้อง

วันนี้ (9 มิถุนายน) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงกรณีข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาอุเทนถวายจากเหตุการณ์การรับน้องโดยระบุว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของนักศึกษาอุเทนถวายจากเหตุการณ์รับน้องตามที่ปรากฏข่าวการร้องขอความเป็นธรรม หลังนักศึกษาอุเทนถวายเสียชีวิตจากเหตุการณ์การรับน้อง แต่ยังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ 

 

ซึ่ง พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว แล้วรายงานผลให้ทราบโดยด่วน ต่อมาสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้รายงานความคืบหน้าเหตุดังกล่าวให้ทราบ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

 

  1. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ว่าที่ ร.ต. วีรพงษ์ พี่ชายของ วีรพัฒน์ หรือปลื้ม อายุ 22 ปี ได้มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม วีรพัฒน์ได้ไปร่วมกิจกรรมของสถาบัน คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ต่อมาทราบว่านายวีรพัฒน์ถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ห้อง ICU จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ ตามประจำวันข้อ 2 เวลา 16.48 น. ของวันท่ี 30 พฤษภาคม

 

  1. เหตุเกิดที่อาคารเรียนคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เวลาประมาณ 18.00 น.

 

  1. ผู้เสียชีวิต คือ วีรพัฒน์ หรือปลื้ม อายุ 22 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 

 

  1. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ได้ย้ายวีรพัฒน์ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

 

  1. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ ได้มาลงบันทึกประจำวัน แจ้งเหตุเกี่ยวกับการเข้าไปใช้สถานท่ีโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ยังไม่มีรายละเอียดท่ีชัดเจน

 

  1. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลมหาราชฯ ว่าวีรพัฒน์เสียชีวิต โดยเบื้องต้นแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ลิ่มเลือดที่น่องหลุดไปอุดตันเส้นเลือดขั้วปอด

 

สำหรับการดำเนินการของพนักงานสอบสวน มีดังนี้

 

  • หลังจากรับแจ้งเหตุ พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือไปขอรายละเอียด และภาพจากกล้องวงจรปิดท่ีอยู่ภายในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ จะนำส่งมอบให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 9 มิถุนายน

 

  • ได้สอบสวนพยาน ซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ให้การว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ประมาณ 12 คน ได้สั่งให้นักศึกษาชั้นปีที 1 ประมาณ 30 คน มาพร้อมกันท่ีมหาวิทยาลัยฯ เพื่อประชุมเกี่ยวกับเรื่องการจัดกิจกรรม โดยไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตหรือแจ้งให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ทราบ จากนั้นนักศึกษารุ่นพี่ได้มีการทำกิจกรรมและมีการเตะไปที่หน้าอกของวีรพัฒน์จนสลบ จากนั้นจึงได้นำตัววีรพัฒน์ส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว ให้ทำการรักษา

 

  • เบื้องต้นทราบว่าทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว และจะได้ส่งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป

 

  • หากปรากฏพยานหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดเกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายวีรพัฒน์ พนักงานสอบสวนก็จะได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ทั้งนี้ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ ยืนยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมกำชับพนักงานสอบสวนเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยหากพบว่าผู้ใดเก่ียวข้องกับการกระทำความผิดต้องดำเนินคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วน

 

นอกจากนี้ THE STANDARD ยังได้พูดคุยกับ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย แอดมินเพจ ANTI-SOTUS ถึงกรณีดังกล่าว โดยภานุวัฒน์ระบุว่าปัญหาความรุนแรงของการรับน้องนั้นเป็นปัญหาทางการเมือง ที่พยายามสร้างกลุ่มบุคคลที่มีบทบาท มีสถานะเหนือกลุ่มบุคคลหนึ่งเพื่อปกครอง อีกทั้งการรับน้องนอกจากจะสนองความเป็นอำนาจนิยมแล้ว ยังมีผลประโยชน์ที่มหาศาลทั้งเรื่องการซื้อขายเสื้อรุ่น การทำกิจกรรมต่างๆ การจ่ายเงินรุ่น ซึ่งในสถานศึกษาบางแห่งเก็บเงินรุ่นเทียบเท่ากับค่าเทอม ซึ่งมีการเก็บและใช้จ่ายอย่างไม่ได้มีการตรวจสอบอย่าโปร่งใส ฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ระบบการรับน้องยังคงอยู่

 

อีกทั้งสังคมไทยที่ยังต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ ความไว้ใจพี่น้อง พึ่งพากันในระบบเช่น ระบบสิงห์ดำ สิงห์แดง ระบบสิงห์ทองต่างๆ เหล่านี้คือระบบที่กุมไว้ทำให้การรับน้องยังคงอยู่

 

“ถ้าทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ก็แก้ปัญหาเรื่องการรับน้องไม่ได้ เพราะมันผูกขาดและเชื่อมโยงกัน ยิ่งเป็นประชาธิปไตยการคอร์รัปชันก็จะเกิดยาก มันผูกพันกับอำนาจนิยม ยิ่งเป็นประชาธิปไตย อำนาจนิยมก็จะอยู่ไม่ได้” ภานุวัฒน์กล่าว

 

ภานุวัฒน์ยังได้กล่าวถึงกระแสธารของประชาธิปไตยที่ทุกครั้งโหมกระหน่ำพัดมา ทำให้ระบบโซตัสลดลง เช่น ตอน 14 ตุลาฯ ทำให้ระบบโซตัสลดลง หรือแม้กระทั่งปีที่ผ่านมาที่กระแสประชาธิปไตยมาแรง ทำให้ระบบการรับน้องถูกตั้งคำถาม มีแถลงการณ์ต่อต้าน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับโซตัสโดยตรง

 

“ทุกครั้งที่มีคำถามว่าจะแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษาก่อนหรือแก้ปัญหาเรื่องการเมืองก่อน คือถ้าประเทศยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้คุณอย่าไปหวังเลยว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาได้ เพราะทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็ต้องมีการควบคุมอำนาจทางการเมือง ควบคุมอำนาจการศึกษาต่อทันที และควบคุมอำนาจอื่นๆ มันเป็นเงื่อนไขของเผด็จการที่ทำอย่างนี้ทั่วโลก” ภานุวัฒน์กล่าว

 

ภานุวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ชาตินิยมยังได้เชื่อมโยงกับระบบอำนาจนิยมและเผด็จการ รวมถึงการส่งต่อมาที่สถาบันนิยม “มันมีกรณีที่ว่าเด็กถูกเตะเกือบตาย หรือถูกเตะตาย แต่ก็ต้องปิดข่าวเพื่อไม่ให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง ปัญหาคือคุณเห็นค่าสถาบันกับชีวิตคนอันไหนสำคัญกว่า ถ้าคุณเห็นค่าชีวิตคน คุณจะไม่มีคำอธิบายที่บอกว่ากลัวสถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X