×

เจาะแนวคิดสองผู้บริหาร บมจ. DELTA และ PPS ผ่านความสำเร็จด้วยดีเอ็นเอของความยั่งยืน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
28.01.2020
  • LOADING...

การสร้างสรรค์ธุรกิจให้เกิดผลกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแส Disruptive ของยุคดิจิทัลคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้บริหาร กับบทบาทในการทำให้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่เห็นคุณค่าความยั่งยืนดังกล่าวไปพร้อมกันด้วยความเข้าใจ และน่าจะยากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัวในวันที่การอดทนรอคอยอะไรต่อมิอะไรของมนุษย์เริ่มลดน้อยถอยลงทุกที ซึ่งหลายองค์กรก็ได้พยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งพลิกวิกฤตหรือปัญหาที่เกิดขึ้นให้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีแบบก้าวกระโดดให้กับธุรกิจ เช่น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) และบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) ที่ THE STANDARD จะพาไปเจาะแนวคิดผู้บริหารของ บมจ. ทั้งสองแห่งถึงวิธีการจัดการวัฒนธรรมของความยั่งยืนว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร  

 

 

“ผมมองว่าจริงๆ แล้วทุกบริษัทมักจะมีการแทรกแนวคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า แต่ในการทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริง กิจการต้องลงทุนลงแรงและลงทรัพยากรจำนวนมาก นั่นหมายถึงการลงทุนระยะยาวที่ต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดการพัฒนาและผลกำไรอย่างยั่งยืนที่อาจจะไม่ได้เห็นผลอย่างชัดเจนในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เราจึงพยายามผลักดันเรื่อง Sustainable Development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยวิธีบริหารงานแบบบนลงล่าง โดยให้กลุ่มผู้บริหารเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วจึงถ่ายทอด สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ลงมาถึงพนักงานภายในองค์กรทุกคนต่อไป”

 

เค เค ชง (K. K. Chong) Head of Strategic Communication บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) ผู้นำในอุตสาหกรรมการออกแบบ ดำเนินการผลิต และให้บริการในธุรกิจ โซลูชันสำหรับการจัดการพลังงานและการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Best Sustainability Awards มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 30,000-100,000 ล้านบาทเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ไขข้อสงสัยให้ THE STANDARD ได้ทราบถึงสาเหตุในการตัดสินใจสร้างวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายในบริษัท  

 

เมื่อถามถึงวิธีการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนให้เป็นเสมือนดีเอ็นเอของพนักงาน DELTA ทุกคน เค เค ชง กล่าวว่า “ความจริงธุรกิจพลังงานทั้งหมดของเราเริ่มดำเนินงานตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) นับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2004 คุณจะเห็นได้จากพันธกิจ ความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ การใช้พลังงานสะอาด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของ DELTA มาโดยตลอด ซึ่งตรงกับสโลแกนที่ว่า ‘Smarter. Greener. Together.’ ซึ่งสามข้อดังกล่าวเป็นพื้นฐานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว และทุกๆ วันเราได้ย้ำเตือนสิ่งเหล่านี้ใหักับพนักงานผ่านจอทีวีติดผนังขนาดใหญ่ที่ติดอยู่ทั่วบริษัทมาโดยตลอด อีกทั้งเรายังมีกิจกรรมรายสัปดาห์ที่ชื่อว่า ‘SD Week’ สำหรับการพูดคุยไอเดียต่างๆ กับทุกๆ ฝ่าย มีแคมเปญต่อต้านการคอร์รัปชัน มีการอบรมจรรยาบรรณ RBA (Responsible Business Alliance) ให้กับซัพพลายเออร์ เราลงทุนทั้งเรื่องเวลา งบประมาณ เทคนิคต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำกับพนักงาน นอกจากนี้โรงงานที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่นี้ยังผ่านการรับรองโรงงานสีเขียว มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่หลังคา และได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมหลายมาตรฐาน”

 

ถึงแม้ว่า เค เค ชง จะมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมไปสู่ทุกระดับจากหลากหลายโปรเจกต์ที่เกิดขึ้น แต่เจ้าตัวยอมรับว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้นไม่ง่าย และต้องกำหนดขอบเขตการดำเนินงานให้ชัดเจน หากจะทำให้ทุกอย่างประสบผลสำเร็จ

 

 

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แต่ความยากอยู่ที่การลงมือทำในรายละเอียดต่างๆ จึงเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะสร้างให้ทุกภาคส่วนในองค์กรเชื่อมั่นในเรื่องนี้ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเริ่มก่อน จากจุดนี้เราจึงจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD Committee) ระหว่างทีมบริหารขึ้นมา เพื่อเป็นการสนับสนุนและแสดงออกให้พนักงานทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญในคณะกรรมการฯ เรามีทีมงานเพื่อดำเนินโปรเจกต์ด้านต่างๆ เช่น ทีมจัดการด้านพลังงาน ทีมบรรษัทภิบาล ทีมจิตอาสา และโปรเจกต์อื่นๆ ตลอดจนการให้คำแนะนำในการตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน และอะไรเป็นเรื่องที่ทีมบริหารต้องการรับรู้ ซึ่งเราแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้กับทีมอยู่เสมอและมีการติดตามทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ลงทุนไปกับทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีการประชุม Sustainability Development Committee อยู่เป็นประจำ เพื่อรายงานด้านความยั่งยืนว่าเราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง และจะสามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร”

 

 

มาต่อกันที่ ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) ที่คว้ารางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Highly Commended in Sustainability Awards ในกลุ่ม mai  

 

“ผมมองว่าความยั่งยืนก็คือเรื่องพื้นฐาน คือการทำธุรกิจที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับผลกำไร เพราะถ้าธุรกิจไม่มีกำไร เราก็อยู่ไม่ได้ และเหตุผลสำคัญกว่านั้นคือเราต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดีขึ้นตามไปด้วย เพราะความจริงแล้ว PPS เองไม่ได้มีสินค้าและผลิตภัณฑ์อะไรที่เป็นผลงานของเราเอง เพราะเราเป็นที่ปรึกษาเรื่องการก่อสร้าง ผลงานการก่อสร้างก็เป็นของเจ้าของงาน ดังนั้นพูดตามตรงว่าธุรกิจของเราขาดคนอื่นไม่ได้ บริษัทจึงต้องมอบคุณค่าที่เป็นความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน (Sustainable Partnership) ที่เราสร้างมาโดยตลอด และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงยังอยู่ได้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะ PPS เริ่มธุรกิจด้วยแนวคิดตรงนี้”

 

 

ขณะที่ ดร.พงศ์ธร ก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่าการจะทำให้ทุกระดับเข้าใจถึงคอนเซปต์ด้านความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งกับธุรกิจของ PPS ที่พนักงานส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามไซต์งานเพื่อควบคุมงานก่อสร้างหลายแห่งทั่วประเทศ ความเข้าใจและความต่อเนื่องจึงเป็นแนวทางสำคัญที่สุด   

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำค่อนข้างยาก เริ่มแรกต้องระบุความยั่งยืนของเราออกมาให้ชัดเจนก่อน เพราะแม้เราจะทำสิ่งนี้มาหลายปีแล้วก็ยังมีหลายคนเข้าใจว่าความยั่งยืนเป็นงาน CSR กันอยู่เลย เราจึงต้องมีการอบรมทบทวนวัฒนธรรมอยู่ตลอด วิธีการคือสอนให้ลงมือทำแล้วก็ให้รางวัล ตอนที่ให้รางวัลก็ทำการกำหนดว่าสิ่งที่เราอยากได้เป็นประมาณไหน คุณค่าที่เราต้องการคืออะไร และ PPS มีการมอบรางวัลเรื่องกิจกรรมความยั่งยืนทุกปีด้วยการให้บุคลากรเสนอโครงการมาแต่ละปีว่าเขาอยากจะทำอะไร เราให้พนักงานที่ไซต์งานทำ เพราะพนักงานส่วนใหญ่ของเราอยู่ที่นั่น ส่วนกลยุทธ์ของสำนักงานใหญ่ก็คือปรับใช้ระบบไอทีหลักที่จะมีกิจกรรมเข้าไป เช่น กิจกรรม PPS Run for Love ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ทำให้คนในองค์กรมาวิ่งด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องมาวิ่งด้วยกันจริงๆ หรือ White Engineer วิศวกรสีขาว เป็นกิจกรรมที่เน้นสื่อสารว่าวิศวกรที่ดีต้องมีที่ยืน และการให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านวิศวกรเป็นหลัก”   

 

 

แต่แม้การบริหารจะยากแค่ไหน ดร.พงศ์ธร ก็อดภูมิใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม PPS ไม่ได้


“เรื่องแรกคือกิจกรรมพวกนี้ทำให้ทุกคนมีความผูกพันกับบริษัทมากขึ้น ผมเชื่อว่าการทำงานมีเงินเดือนเป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าสมมติว่างานที่ทำไม่มีความสุข แล้วได้รับเงินเดือนเยอะๆ คนทำงานก็อยู่ด้วยเหตุผลเรื่องของรายได้ แต่ PPS พนักงานทุกคนอยู่ด้วยคุณค่าและความสุขจากสิ่งที่พวกเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเรื่องที่สองคือเรื่องสุขภาพ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากกิจกรรม PPS Run for Love เพราะพวกเขาออกกำลังกายกันด้วยการวิ่งอยู่บ่อยๆ ทำให้ระยะหลังมานี้พนักงานของเรารูปร่างดีกันหมดเลยครับ”

 

 

ทั้งหมดนี้คือมุมมองของสองผู้บริหารที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์อันมีค่าที่นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับองค์กร ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นมุมมองเรื่องความยั่งยืนย่อมขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละองค์กรว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจคืออะไร แล้วย้อนกลับมาออกแบบระบบการทำงานเพื่อการสร้างวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนที่ทุกคนในองค์กรสามารถนำไปต่อยอดเพื่อความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X