กระทรวงการคลัง-ธปท. เผย ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้’ ช่วยไปแล้วกว่า 5 หมื่นรายการ คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 4.13 แสนรายการที่ลงทะเบียนไว้ เผยติดต่อลูกหนี้ที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่ไม่ได้
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ‘มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ โดยระบุว่ามหกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก และถือว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ
โดยผลการจัดมหกรรมฯ รูปแบบ ‘ออนไลน์’ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้นมากกว่า 1.88 แสนราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 4.13 แสนรายการ ประกอบด้วยลูกหนี้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่นๆ 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากจำนวนลูกหนี้ที่ทำรายการมาทั้งหมด ช่วยไปแล้วเพียง 5 หมื่นกว่ารายการ เนื่องจากยังมีลูกหนี้ค่อนข้างมากที่ลงทะเบียนมาแต่ติดต่อไม่ได้ พร้อมทั้งย้ำว่าหากการเจรจายังไม่พอใจ สามารถโต้แย้งได้จนถึงสิ้นเดือนนี้ แม้การลงทะเบียนจะปิดไปแล้ว
โดยประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุดคือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่น 5% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่อประเภทอื่นๆ 10%
สำหรับผลการจัดงานมหกรรมฯ ‘รูปแบบสัญจร’ จำนวน 5 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 3.4 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพจำนวนมากที่สุด 1.3 หมื่นรายการ รองลงมาคือการขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 1 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7,000 รายการ
กระทรวงการคลังและ ธปท. ยังย้ำว่า ถึงแม้ว่าการจัดงานมหกรรมฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ดังนี้
- มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง
- ธปท. ได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้
- หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ
- คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน
- ธปท. จะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่นๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน (Responsible Borrowing) เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ‘มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ จะจบลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือโครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตลอดเวลา”
ขณะที่ ธปท. ย้ำว่าลูกหนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อเจ้าหนี้ได้ตลอดเวลา เนื่องจาก ธปท. ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะยาวอยู่ ซึ่งจะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68