×

คลังจับมือแบงก์ชาติ ดึงแบงก์-นอนแบงก์กว่า 60 แห่ง ร่วมจัด ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้’ เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่วันนี้ – 30 พฤศจิกายน

26.09.2022
  • LOADING...
มหกรรมร่วมใจแก้หนี้

กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมจัดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยดึงแบงก์และนอนแบงก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ เข้าร่วมกว่า 60 ราย

 

วันนี้ (26 กันยายน) สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยมหกรรมนี้ มีสถาบันการเงิน/ผู้ให้บริการทางการเงิน ภาคเอกชนและภาครัฐ (SFIs) กว่า 60 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ ที่อยู่อาศัย นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ หนี้ค่าประกันชดเชย บสย. หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และสินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินภาครัฐ

 

โดยรูปแบบการจัดงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์’ จัดให้ลูกหนี้เข้าร่วมลงทะเบียนได้ที่ www.bot.or.th/debtfair ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 – 30 พฤศจิกายน 2565

 

ระยะที่ 2 ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร’ จัดงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 โดยมีเจ้าหนี้ที่เข้าร่วม ได้แก่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีการสัญจรในกรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ และชลบุรี ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.

 

สำหรับขั้นตอนและเงื่อนไขการแก้หนี้ หลังจากลูกหนี้ลงทะเบียนในช่วงวันที่ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565 แล้ว ภายใน 3-4 วันหลังการลงทะเบียนสำเร็จ ธปท. จะส่งเรื่องให้เจ้าหนี้ที่เข้าร่วมตามที่ผู้ลงทะเบียนระบุ จากนั้นเจ้าหนี้จะติดต่อกลับลูกหนี้ภายใน 14 วัน หลังรับคำขอจากแบงก์ชาติ เพื่อเจรจาเงื่อนไขกับลูกหนี้

 

ดังนั้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ธปท. แนะนำว่าลูกหนี้ควรตรวจสอบประเภทหนี้ของตนเอง และมีหนี้กับผู้ให้บริการทางการเงินรายใดบ้าง รวมถึงตรวจสอบรายได้และรายจ่าย ว่าตนเองสามารถชำระหนี้ได้เท่าไร เพื่อประกอบการพิจารณา

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1 ปี 2564 จากโควิด และล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 88% ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (Smooth Takeoff) การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 

 

องค์ประกอบแรก ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้

 

องค์ประกอบที่ 2 ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ (Do’s and Don’ts) ซึ่งหลักๆ คือ ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้

 

องค์ประกอบที่ 3 บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐมีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภาคเอกชนยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้างและลูกหนี้ ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ก่อหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising