×

ก.ล.ต. เข้ม จ่อสั่งบริษัทขายหุ้นกู้เปิด Key Financial Ratio สำคัญเพิ่ม เล็งคุมเข้มขายหุ้นกู้ PO ต้องมีเรตติ้ง A ขึ้นไป

24.11.2023
  • LOADING...
หุ้นกู้

สำนักงาน ก.ล.ต. จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ThaiBMA จ่อออกเกณฑ์คุมเข้มบริษัทออกขายหุ้นกู้ ต้องเปิดเผยข้อมูล Key Financial Ratio ที่สำคัญเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนเครดิตจริงมากขึ้น และเล็งยกระดับเกณฑ์ขายหุ้นกู้ PO โดยกำหนดให้มีเรตติ้ง A ขึ้นไป

 

พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ในการปรับเพิ่มเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ โดยจะกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องเพิ่มการเปิดเผยข้อมูล Key Financial Ratio ที่สำคัญเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินที่สะท้อนฐานะเงินสดของบริษัท โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้ทำ Focus Group กับผู้ประกอบธุรกิจไปแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอหลักการต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. หากได้รับความเห็นชอบจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป (เฮียริ่ง) เนื่องจากเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูล Financial Ratio ของเกณฑ์เดิมอาจยังไม่สะท้อนข้อมูลด้านเครดิตเรตติ้งของบริษัทได้ดีเพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

“ก.ล.ต. คงต้องไปปรับเกณฑ์ข้อมูลที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ต้องเปิดเผย นอกจากจะไปเพิ่มการเปิดเผยข้อมูล Key Financial Ratio ที่ให้สะท้อนเครดิตของผู้ออกให้มากขึ้นแล้ว อาจจะไปเพิ่มเรื่องข้อมูล Benchmarking ของอุตสาหกรรมของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ว่ามีข้อมูล Financial Ratio ค่าเฉลี่ยเป็นอย่างไร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับในเซกเตอร์นี้อยู่ที่เท่าไร โดยจะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ThaiBMA เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบได้ดีมากขึ้น”

 

นอกจากนี้ อาจพิจารณาในฝั่งการยกระดับหลักเกณฑ์ในการดูแลคุ้มครองนักลงทุนหุ้นกู้ที่เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป (PO) ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้หุ้นกู้ที่ขาย PO ต้องอยู่ในระดับ Investment Grade หรือมีเรตติ้งระดับ BBB ขึ้นไป โดยเบื้องต้น ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะยกระดับอันดับเครดิตเรตติ้งขั้นต่ำสำหรับหุ้นกู้ที่จะขายแบบ PO โดยต้องมีเครดิตเรตติ้งที่ระดับ A ขึ้นไป เพื่อให้หุ้นกู้คุณภาพดีเข้าถึงนักลงทุนได้ในวงกว้าง แต่จะสามารถออกเป็นหลักเกณฑ์ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการและผลการเฮียริ่ง 

 

อีกทั้งมีแผนพิจารณาจะยกระดับการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า (Sales Conduct) ในการกำกับดูแลการขาย High Yield Bond สำหรับกลุ่ม High Net Worth ที่จำเป็นในการพิสูจน์การจัดกลุ่มลูกค้าที่มาลงทุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  

 

ซีไอเอ็มบีแนะ ต้องศึกษาภาระหนี้สินของกิจการ-ธรรมาภิบาลบริษัท 

 

ติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออม ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การลงทุนของหุ้นเอกชนไทยในปีนี้ หลังจากเกิดประเด็นที่สร้างความไม่เชื่อมั่นกรณีหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระนั้น เชื่อว่าความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ที่เป็นข่าวเป็นความเสี่ยงด้านการกำกับดูแลกิจการของแต่ละบริษัท ไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ 

 

ดังนั้น เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท จึงแนะนำผู้ลงทุนควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อธรรมาภิบาล, ความยั่งยืนของการประกอบธุรกิจ, ภาระหนี้สินของกิจการ ตลอดจนประสบการณ์การทำงานของคณะผู้บริหาร

สำหรับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มีอยู่แล้ว แต่ภาพรวมบริษัทที่ออกหุ้นกู้ระดับ Investment Grade ธนาคารเห็นการบริหารจัดการดอกเบี้ยได้ค่อนข้างดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่ผ่านมา และในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง เนื่องจากทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ผู้ลงทุนจึงควรทราบว่ากำลังรับความเสี่ยงอะไรอยู่บ้าง และผลตอบแทนที่คาดหวังคุ้มค่ากับความเสี่ยงนั้นหรือไม่ 

 

ส่วนการประเมินความเสี่ยงหรือความน่าสนใจเปรียบเทียบระหว่างการลงทุน High Yield Bond กับหุ้นกู้ระดับ Investment Grade วิธีการประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนของ High Yield Bond และ Investment Grade Bond เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่กล่าวไว้ข้างต้น 

 

อย่างไรก็ตาม High Yield Bond มักจะมีความไม่แน่นอนทางด้านเครดิตสูงกว่า และความพร้อมของข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่า จึงยากต่อการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างถูกต้อง ดังนั้น แนะนำว่าเฉพาะนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และมีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโดยละเอียดเท่านั้นที่จะพิจารณาการลงทุนใน High Yield Bond มากกว่า Investment Grade Bond 

 

“เรายังมองว่าตราสารหนี้ยังคงเป็นพอร์ตหลักของลูกค้าในปี 2567 โดยเราแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนในระยะสั้นถึงระยะกลาง เน้นลงทุนในบริษัทที่มีธุรกิจแข็งแกร่ง หนี้สินอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และที่สำคัญที่สุดคือธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์ของบริษัท นอกจากนี้ เราแนะนำพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจระยะยาวจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงแล้ว สำหรับลูกค้าที่สามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ เราแนะนำให้กระจายความเสี่ยงไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศสกุลเงินดอลลาร์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือผ่านกองทุนก็ตาม”

 

ติยะชัยกล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความสำคัญ มีความเข้มงวดและรอบคอบในการคัดเลือกตราสารหนี้เอกชนก่อนจำหน่ายให้กับลูกค้ารายย่อย โดยธนาคารมีคณะกรรมการการลงทุนที่ประเมินความเสี่ยงของตราสารหนี้ ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) แต่รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในแต่ละสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ตลอดจนความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นหลัก และยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีบริการซื้อ-ขายหุ้นกู้ผ่านตลาดรองสำหรับลูกค้ารายย่อยตามสภาพคล่องตลาด

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X