×

Global Boiling ร้อนถึง Supply Chain ไทย รับมือ CBAM ภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนยุโรป

17.05.2024
  • LOADING...

ยุคโลกร้อน (Global Warming) กำลังถูกแทนที่ด้วยยุคโลกเดือด (Global Boiling) เป็นผลจากอุณหภูมิโลกที่สูงจนทุบสถิติครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี กระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และธุรกิจ แม้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกำลังกดดันให้ภาคธุรกิจหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นำโดยสหภาพยุโรปที่เตรียมบังคับใช้ ‘มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)’ กำลังตามมาด้วยการกำหนดมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหรัฐอเมริกา (US-CBAM)

 

ในบทความนี้ บลูบิคจะพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับ CBAM ผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย รวมถึงแนวทางการรับมืออย่างถูกต้อง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว 

 

CBAM คืออะไร

 

CBAM มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยพุ่งเป้าไปที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่อยู่นอกกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงปัญหา Carbon Leakage หรือการที่ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากสหภาพยุโรปไปอยู่ในประเทศที่ไม่มีกฎระเบียบการควบคุมก๊าซคาร์บอน ซึ่งรายละเอียดและความคืบหน้าเกี่ยวกับ CBAM มีดังต่อไปนี้

 

EU-CBAM เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบาย The European Green Deal และเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ฉบับแรกของโลกที่สนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU) โดย CBAM ถูกบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 และปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน (ครอบคลุมสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม) ต้องรายงานข้อมูลรายไตรมาส ได้แก่ ปริมาณสินค้านำเข้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย EU จะประเมินและปรับระบบเพื่อเข้าสู่ระยะบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2569 และอาจพิจารณาขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นเพิ่มเติม

 

ประเด็นที่น่าติดตามคือ การบังคับใช้ CBAM ของสหภาพยุโรปกำลังจุดชนวนความสนใจของประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ลด Carbon Leakage และมาตรฐานผลิตภัณฑ์บังคับ (Mandatory Product Standards-MPS) แนวโน้มเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมเป็น Green Business

 

ผลกระทบและการเตรียมตัวของภาคธุรกิจไทย

 

การบังคับใช้ CBAM ส่งผลกระทบและเป็นความเสี่ยงสำหรับบริษัท อุตสาหกรรม และประเทศทั่วโลกที่เป็นคู่ค้ากับสหภาพยุโรป รวมถึงไทย ทั้งในระยะสั้นและยาวหากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

 

ผลกระทบในระยะสั้น

ต้นทุนการส่งออกจะสูงขึ้น: เนื่องจากผู้นำเข้าอาจผลักภาระราคาที่ต้องจ่ายสำหรับสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงให้กับผู้ส่งออกที่เป็นประเทศคู่ค้า แม้สัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่าย CBAM จากไทยไป EU อยู่ที่ร้อยละ 5.47 ของผลิตภัณฑ์ CBAM ของไทยไปทั่วโลก ทำให้ผลกระทบอาจอยู่ในวงจำกัด แต่การให้ความสำคัญและเตรียมบังคับใช้ CBAM ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทย และมาตรการอื่นที่ใกล้เคียงกับ CBAM ของประเทศต่างๆ ในอนาคต เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับผู้ประกอบการไทย

 

ผลกระทบระยะยาว

ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง: แม้ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปไม่มาก แต่มูลค่าการส่งออกสินค้า CBAM ไปยังภูมิภาคนี้ ซึ่งประกอบด้วย เหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำซึ่งขยายตัวได้อย่างดีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวรับ CBAM หรือมาตรการอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันได้ทัน อาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดใน EU หรือประเทศอื่นๆ ให้กับคู่แข่ง เช่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ CBAM ได้มากกว่า

 

แนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจไทย

 

สำหรับผู้ส่งออกไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด นอกจากจะต้องดำเนินการตามข้อบังคับ เพื่อให้ยังคงสามารถส่งออกไปสหภาพยุโรป เช่น การขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry จัดทำข้อมูล และทวนสอบค่า Embedded Emission (ปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตและขนส่ง) ผู้ส่งออกกลุ่มนี้ยังต้องหาแนวทางการรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการหาแนวทางการลดการปล่อย Embedded Emission ในระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

 

ผู้ส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปสหภาพยุโรป หรือผู้ส่งออกที่มีประเทศปลายทางอื่นๆ ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากสหภาพยุโรปมีแผนขยายผลไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ที่กำลังพิจารณาการออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน การบริหารจัดการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลดปล่อยคาร์บอนจะกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญ

 

Carbon Accounting Platform-CAP ตัวช่วยกลยุทธ์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้องค์กร

 

การบรรลุเป้าหมายนโยบายรักษ์โลก ต้องเริ่มจากการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อกำหนดแนวทางการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น Carbon Accounting Platform จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่นอกจากจะช่วยรองรับ CBAM แล้ว ยังช่วยสนับสนุนนโยบายด้านความยั่งยืน และเสริมสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้แก่

 

1. การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและเตรียมความพร้อมรับเกณฑ์อื่นในอนาคต (Compliance)

ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มบังคับให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับแต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยปริมาณและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในรายงานประจำปี ซึ่งการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากจากฝ่ายรวมถึงคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น CAP จึงเป็นตัวช่วยสำคัญของกระบวนการเตรียมความพร้อม เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเมื่อถึงวันที่ต้องบังคับใช้ ป้องกันการถูกลงโทษหรือค่าปรับต่างๆ ในอนาคตได้ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงสูญเสียรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

2. การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Operational Optimization)

  • การลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะทรัพยากรและพลังงาน: การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางธุรกิจด้วย CAP จะทำให้องค์กรสามารถหาและกำหนด GHG Hotspot หรือกิจกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทำให้บริษัทสามารถวางแผนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และปรับปรุงกระบวนการการทำงานที่เกี่ยวข้องได้
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุน: ปัจจุบันมีสถาบันการเงินมากกว่า 740 แห่งทั่วโลก พร้อมสนับสนุนบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่สนใจจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อาทิ การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐาน Climate Disclosure Program-CDP
  • ชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) และความพึงพอใจของลูกค้า: การให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ สร้างจุดขายให้กับสินค้า/บริการดึงดูดลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อสูงสุดของโลกอย่าง Gen Y และ Z ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายและสินค้ารักษ์โลก ที่สำคัญพวกเขายินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้าเหล่านี้
  • การดึงดูดและรักษาพนักงานคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z: ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและอยากทำงานกับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ตรงกับสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า

 

3. การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจ (Business Transformation)

การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนสามารถเพิ่มผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์สินค้า/บริการใหม่ๆ และความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2015 adidas เปิดตัวรองเท้าที่ผลิตจากวัตถุ Upcycled จากขยะพลาสติกในมหาสมุทร (Ocean Plastic Waste) ที่เก็บและจัดการโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง Parley ภายใต้โครงการชื่อ adidas x Parley for the Oceans แน่นอนว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย จนต้องเพิ่มกำลังผลิตจาก 1 ล้านคู่ในปี 2015 เป็น 15 ล้านคู่ในปี 2020 ยิ่งไปกว่านั้นมีการขยายการใช้ Upcycled ในการผลิตเสื้อผ้าอีกด้วย  เพื่อตอกย้ำว่า adidas จริงจังกับนโยบายสร้างความยั่งยืน นอกจากความสำเร็จด้านยอดขายแล้ว adidas ยังได้ใจกลุ่มลูกค้ารักษ์โลก และทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมลดแรงกดดันต่อองค์กรอีกด้วย

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจ เป็นผลจากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากองค์กรนานาชาติ ภาครัฐ รวมถึงประชาชน ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวและบรรจุประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ แน่นอนว่าการรับมือกับความท้าทายดังกล่าวภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก จำเป็นต้องมีตัวช่วยอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเร่งรัดการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

สำหรับ บริษัท อีโคเอ็กซ์ จำกัด (EcoX) นับเป็นบริษัทในเครือบลูบิค กรุ๊ป ที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมหรือ Green Tech

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X