“ฉันชื่อเกรตา ธันเบิร์ก และฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อทำข้อตกลง”
ถ้อยคำผ่านวิดีโอของเด็กสาวชาวสวีเดน ที่กลายเป็นหญิงสาววัย 18 ปี เมื่อเข้าสู่ปี 2021 ได้ไม่นาน ดังกังวานในเวทีประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจโลก World Economic Forum ที่ต้องจัดแบบทางไกล จากสถานการณ์โควิด-19
ครั้งแล้วครั้งเล่า และนี่เป็นอีกครั้งที่ ‘อดีตเด็กสาว’ ผู้ปลุกให้เยาวชนลุกฮือกดดันผู้นำโลกให้แก้ปัญหาโลกร้อน ได้ส่งเสียงถึง ‘ผู้ใหญ่’ ให้เลิกวางนโยบายโลกสวย แล้วเยียวยาโลกอย่างจริงจังเสียที เพราะ “มันเลยจุดที่ระบบในปัจจุบัน จะกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้แล้ว
“เราได้ยินผู้นำโลกและรัฐบาลนานาประเทศพูดถึงภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ แต่แทนที่จะแก้ปัญหาในทันที เหมือนที่ควรทำกับสถานการณ์วิกฤต พวกเขากลับกำหนดเป้าหมายที่คลุมเครือ ไม่เพียงพอ และเป็นเพียงแค่หลักการในอนาคตเท่านั้น”
การประชุม World Economic Forum แบบ New Normal ในเมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 25-29 มกราคม ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ประเด็น ‘รักษ์โลก’ ถูกพูดถึงมากแค่ไหนในการประชุมที่เป็นสัญลักษณ์แห่งลัทธิทุนนิยมนี้ THE STANDARD ได้รวบรวมมาเล่าให้ฟัง
เศรษฐกิจโลก ‘สีเขียว’
ทุนนิยม กับ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฟังดูเหมือนแม่เหล็กคนละขั้ว เพราะภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมไม่ใช่หรือที่เป็นต้นตอการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก จนนำโลกของเรามาสู่จุดที่อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเข้าขั้นวิกฤต
แต่ดูเหมือนผู้นำทางธุรกิจเล็งเห็นแล้วว่า ‘ธุรกิจสีเขียว’ และ ‘พลังงานทดแทน’ เป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต เป็นการกอบโกยความมั่งคั่ง ที่อย่างน้อยครั้งนี้จะไม่เบียดเบียนโลก
ช่วงเวลาหนึ่งวันเต็มของช่วงสัปดาห์การประชุม อุทิศให้กับการพูดถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล สู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนกว่า
บิล วินเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Standard Chartered Bank วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ยึดหลักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะสร้างโอกาสการลงทุนมากถึง 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1,500 ล้านล้านบาท
“เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นทรัพย์สินที่น่าสนใจ…ไม่ใช่แค่ประโยชน์ต่อสังคม แต่มันสร้างผลกำไรได้ด้วย”
ที่ประชุมเองยอมรับว่า เหล่าผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคต่างใส่ใจกับอนาคตทางกายภาพของโลกมากขึ้น อันที่จริงพวกเขากำลัง ‘ประท้วง’ กับแบรนด์ที่ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ
“แล้วภาคธุรกิจเองก็ตระหนักแล้วว่า ธุรกิจจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยในโลกที่กำลังล้มเหลว” แอน ไคร์นส์ (Ann Cairns) รองประธานบริหาร Mastercard กล่าว
การลงทุนที่ผลตอบแทน…อาจนานหลายปี
สิ่งที่เหล่าผู้นำภาคธุรกิจถกเถียงกันอย่างดุเดือด คือถ้าภาคเอกชนเอาจริงกับการลงทุนในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ‘ทำลายโลก’ สู่เศรษฐกิจ ‘พิทักษ์โลก’ หรืออย่างน้อยก็ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก แล้วผลตอบแทนหรือ ‘ภาวะเท่าทุน’ ต้องรออีกนานแค่ไหน
3-7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (100-210 ล้านล้านบาท) คือค่าเฉลี่ยเม็ดเงินที่ต้องใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจโลกให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างน้อยนั่นเป็นราคาที่ต้อง ‘จ่าย-ลงทุน’ ในความคิดของฟิลิปป์ฮิลเดอแบรนด์ รองประธาน BlackRock หนึ่งในบริษัทผู้จัดการทรัพย์สินรายใหญ่ที่สุดของโลก
และนั่นเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องใช้ “ทุกปี นานหลายปีทีเดียว…ดังนั้น ภาครัฐต้องพร้อมที่จะใช้เงินสาธารณะมากระตุ้นให้ภาคเอกชนพร้อมจะอัดฉีดเงินเข้าร่วมด้วย เพราะหากรัฐบาลไม่เอาจริง เราไม่มีทางเลยที่จะหาเงินมากขนาดนั้นมาขับเคลื่อน (เศรษฐกิจสีเขียว) ได้ในแต่ละปี”
วินเทอร์ส จาก Standard Chartered มองว่า ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพอย่างมากที่จะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ตอนนี้ภาคเอกชนสงวนท่าทีและยังไม่กล้าลงทุน
แต่หากเป้าหมายหลักคือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ฟาตีห์ ไบรอล กรรมการบริหารทรวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA มองว่า “จะเป็นไปไม่ได้เลย หากขาดการขับเคลื่อนด้านพลังงานสะอาดในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา” ที่คิดเป็น 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ธุรกิจโปร่งใส…ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ทัศนคติของผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคที่ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ มากขึ้น เป็นเสียงเล็กๆ ที่รวมกันเป็นขุมพลังที่ขับเคลื่อนยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจได้เช่นกัน
เพราะในการประชุม WEF ปีนี้ บริษัทชั้นนำกว่า 60 แห่งประกาศว่า ได้ลงนามที่จะยึดหลักความโปร่งใสในการให้ข้อมูล ESG คือข้อมูลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลแก่ประชาชนทั่วไปว่า การดำเนินงานของทางบริษัทสร้างผลกระทบด้านดีและด้านบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
ในจำนวน 60 บริษัทนี้ มีบริษัทที่เราอาจรู้จักกันดี อาทิ Mastercard, Nestle, Siemens, PayPal, Heineken, Deloitte, Sony, Unilever, Dell, และ Royal Dutch Shell เป็นต้น
“ข่าวดีคือบริษัทหลายแห่งให้ความสำคัญกับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมามากขึ้น” บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft กล่าว พร้อมเสริมว่า ก้าวสำคัญต่อไปคือการขับเคลื่อนให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และบริการที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค
“เราต้องผลักดันให้บริษัทต่างๆ กล้าที่จะให้เงินทุนสนับสนุนระบบนิเวศของการสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะหากผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมีราคาแพงเกินไป มันก็ไม่เหมาะกับตลาดผู้บริโภค บริษัทใหญ่ๆ จึงต้องเข้าช่วย เพื่อให้เกิดการผลิตในปริมาณมาก จนกดราคาลงจนประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้”
นำร่องสร้างเมืองปลอดคาร์บอน
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีประชุม WEF คือ การที่รัฐบาลท้องถิ่น 9 เมืองทั่วโลก และบริษัท 70 แห่งประกาศโครงการริเริ่มชื่อ ‘เมืองปลอดคาร์บอน’ (Net Zero Carbon Cities)
จินตนาการเมืองที่ผู้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย มีเทคโนโลยีอัจฉริยะทำให้การบำบัดน้ำดีขึ้น ขยะเกือบทั้งหมดรีไซเคิลได้ อาคารบ้านเรือนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เมืองที่ปราศจากหมอกควันพิษ ผู้คนไม่ต้องใส่หน้ากากเวลาอยู่กลางแจ้ง เพราะแทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาเลย
นั่นคือสิ่งที่โครงการริเริ่มนี้พยายามสร้างขึ้น เริ่มจากกรอบการทำงานที่รัฐบาลของเมืองต่างๆ จะนำไปปรับใช้เพื่อปรับโครงสร้างและระบบนิเวศของเมืองเสียใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นระบบเชิงหมุนเวียนมากขึ้น
เมืองที่เกือบตรงกับอุดมคติของ ‘เมืองปลอดคาร์บอน’ ในโครงการนี้ ปัจจุบันเราได้เห็นบ้างแล้ว ยกตัวอย่าง เมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ เมืองเซาเปาโลของบราซิล และกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน แม้จะยังไม่ปลอดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ก็ตาม
ทุกสายตาจับจ้อง COP26
เวทีประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจยังมีเนื้อหาถึงปัญหาโลกร้อนขนาดนี้ ยิ่งต้องจับตาว่า การประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 จะเข้มข้นแค่ไหน เพราะเป็นการประชุมหลังครบ 5 ปี ‘ข้อตกลงปารีส’
นั่นหมายความว่า เฟสแรกของเป้าหมายยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือหากเป็นไปได้ไม่ให้เกินเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส ได้ผ่านไปแล้ว ถึงเวลาเข้าสู่เฟสสอง ที่นานาประเทศจะประกาศเป้าหมายใหม่ที่จริงจังมากขึ้น
มาร์ค คาร์นีย์ ทูตพิเศษด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศและการเงินของสหประชาชาติ เรียกร้องในเวทีประชุม WEF ให้ผู้นำธุรกิจทุกคนเข้าร่วมในการประชุม COP26 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน ในกรุงกลาสโกว์ แคว้นสกอตแลนด์ ของสหราชอาณาจักร
“ถ้าคุณไม่เข้าร่วม ก็อย่าหาว่าเรากีดกันคุณ เพราะคุณเลือกจะหนีออกไปเอง”
นานาประเทศทยอยประกาศเป้าหมายลดโลกร้อนของตนเองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนใหญ่มุ่งสู่ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ และ ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’ เร็วสุดคือ นิวซีแลนด์ ภายในปี 2025 และช้าสุดคือจีน ภายในปี 2060
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในชาติเอเชียที่ประกาศบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์แล้ว
เยาวชน…จับตาคุณอยู่
ระหว่างการประชุม WEF มีการเปิดเผยผลสำรวจที่เรียกได้ว่า เป็นผลสำรวจความคิดเห็นที่ ‘ยิ่งใหญ่’ ที่สุดในโลก จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ผลสำรวจนี้ชื่อว่า ‘The Peoples’ Climate Vote’ จัดทำขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีที่แล้ว ด้วยการส่งแบบสอบถามประชาชนกว่า 1.22 ล้านคน ใน 50 ประเทศผ่านโลกออนไลน์ ถามถึงประเด็นด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 64% เห็นพ้องว่าควรประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ซึ่งในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามนี้ กว่าครึ่งหรือราว 5.5 แสนคน เป็นเยาวชนอายุ 14-18 ปี
ผลสำรวจ ‘The Peoples’ Climate Vote’ ยังสอบถามถึงแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่คนเห็นด้วยมากที่สุด มี 4 วิธีด้วยกัน ดังนี้
หนึ่ง อนุรักษ์ป่าไม้และผืนดิน (54%)
สอง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานทดแทน (53%)
สาม การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับโลก (52%)
สี่ การลงทุนในธุรกิจและงานเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (50%)
แต่จะบอกว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลกเป็น ‘การขอที่มากเกินไป’ ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เพราะเชื่อหรือไม่ว่า จนถึงปัจจุบัน มีประเทศที่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศแล้วอย่างน้อย 38 ประเทศ
เด็กด่า…กับผู้ใหญ่หนีความจริง
การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้หมายความว่า รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะต้องกำหนดนโยบาย และดำเนินการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน
แต่ความเร่งด่วนนั้น ดูจะไม่ทันใจเยาวชนหลายคน รวมถึงตัวธันเบิร์กด้วย
“เป้าหมายอย่าง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 มันเป็นเป้าหมายที่เท่ากับการยอมแพ้” นักเคลื่อนไหวสาวชาวสวีเดน กล่าว
“มันเหมือนกับการตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วเห็นเพลิงกำลังไหม้บ้าน แต่คุณกลับตัดสินใจว่ารอไปก่อน 10, 20 หรือ 30 ปี ก่อนจะโทรเรียกหน่วยดับเพลิง แล้วยังไปตีตราคนที่พยายามปลุกคนอื่นให้ตื่นขึ้นว่า พวกกระต่ายตื่นตูม”
“พวก (ผู้ใหญ่) อย่างคุณ มีเวลามาแล้วถึงสามทศวรรษของการ บลา บลา บลา พวกคุณต้องการเวลาอีกแค่ไหนกัน” ใช่ นี่คงเหมือนเด็กด่าผู้ใหญ่
แต่ก็ต้องถามตัวเองกลับว่า สิ่งที่ ‘เด็กด่า’ มันจริงแค่ไหน และเราจะปล่อยให้ถูกด่าว่า ‘หนีความจริง’ อีกนานแค่ไหน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.weforum.org/agenda/2021/01/greta-thunberg-climate-response-rogoff-greenpeace-unccd/
- www.dw.com/en/davos-green-transition-is-50-trillion-investment-opportunity/a-56375018
- www.fastcompany.com/90597676/50-global-businesses-including-mastercard-nestle-and-unilever-announce-commitment-to-transparency
- www.theguardian.com/environment/2020/dec/12/un-secretary-general-all-countries-declare-climate-emergencies-antonio-guterres-climate-ambition-summit
- thestandard.co/climate-emergency/
- www.weforum.org/agenda/2021/01/these-are-the-top-impacts-from-the-davos-agenda/
- www.finextra.com/the-long-read/112/davos-2021-key-leader-takeaways-and-what-they-mean-for-fintech-and-the-environment
- www.washingtonpost.com/world/2021/01/29/davos-merkel-macron-coronavirus/