×

เดวิด คาเมรอน กลับมาในฐานะ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ คำถามและความท้าทายที่รออยู่

21.11.2023
  • LOADING...

ข่าวสำคัญทางการเมืองอังกฤษในเวลานี้ คือการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค โดยมีการแต่งตั้ง เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาขุนนางที่จะมีนามเรียกขานว่า ‘ลอร์ด คาเมรอน’ (Lord Cameron) กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่

 

การเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวของคาเมรอน นำมาซึ่งการตั้งคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งที่ดูจะแหวกกรอบธรรมเนียมปฏิบัติในทางการเมือง ที่ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมักจะไม่กลับมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล การที่สมาชิกสภาขุนนางมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีที่มีความสำคัญมาก เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ ข้อครหาเกี่ยวกับการทำงานกับภาคเอกชนในอดีต รวมถึงความท้าทายในกิจการต่างประเทศที่รอเขาอยู่

 

เส้นทางการเมืองของเดวิด คาเมรอน

 

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 ซึ่งไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมาก ทำให้คาเมรอนในฐานะหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) ต้องร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (The Liberal Democrats) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี โดยมีเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่เขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2015 และจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ ภายใต้นโยบายที่จะให้มีการลงประชามติเพื่อกำหนดทางเลือกของอังกฤษต่อสหภาพยุโรป 

 

ในการลงประชามติดังกล่าว คาเมรอนสนับสนุนนโยบายที่ให้อังกฤษอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อไป (Remain) หรือ Britain Stronger in Europe อย่างไรก็ตาม จากผลการลงประชามติที่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เห็นชอบให้อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) โดยชนะฝ่ายที่ต้องการให้อยู่ต่ออย่างเฉียดฉิว (51.9% to 48.1%) ทำให้เขาต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ท่ามกลางเสียงตำหนิและการโจมตีอย่างรุนแรงถึงความพ่ายแพ้ของเขาในการลงประชามติ รวมถึงมีการกล่าวโทษเขาในฐานะที่ทำให้เกิดการลงประชามติ ซึ่งนำไปสู่ Brexit ที่วุ่นวายต่อมาอีกหลายปีนับจากนั้น

 

หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่กี่เดือนต่อมาเขาก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญด้วย ซึ่งเขาได้ลดบทบาทและภารกิจของตนเองในทางการเมือง และในงานสาธารณะลง โดยหันไปทำงานเป็นผู้ประสานงานของภาคเอกชนในกิจการต่างๆ (Lobbyist) รวมถึงยังได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิต และบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อว่า ‘For the Record’ ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2019 ก่อนที่จะกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

การแต่งตั้งที่ฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง?

 

แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แต่หากพิจารณาในบริบทของรัฐธรรมนูญอังกฤษแล้ว การแต่งตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นถือเป็นอำนาจโดยสมบูรณ์ของนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของตนเอง 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Convention) ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในทางการเมืองอังกฤษ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาใดสภาหนึ่งของรัฐสภาอังกฤษ กล่าวคือ อาจเป็นสมาชิกสภาสามัญ (Member of the Commons) หรือสมาชิกสภาขุนนาง (Member of the Lords) ก็ได้

 

โดยในกรณีของเดวิด คาเมรอนนั้น แม้ว่าเขาจะพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญในปี 2016 แล้ว แต่ด้วยมีประกาศแต่งตั้งให้เขาเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ทำให้เขามีสิทธิที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติ แม้ว่าจะยังไม่มีกระบวนการแต่งตั้งเขาอย่างเป็นทางการก็ตาม และเขายังเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 30 ปี ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขุนนาง โดยอดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่ได้รับการแต่งตั้งคือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในปี 1992 ที่มีชื่อตำแหน่งว่า ‘Baroness Thatcher’

 

แม้การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ของคาเมรอนจะดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะปัจจุบันไม่ค่อยปรากฏกรณีที่ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะอีกครั้ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น เพราะหากนับย้อนไปตั้งแต่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในปี 1721 มีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งถึง 14 คน โดยครั้งสุดท้ายที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ต้องย้อนกลับไปในปี 1970 เมื่อเซอร์อเล็กซ์ ดักลาส-โฮม (Sir Alec Douglas-Home) นายกรัฐมนตรีช่วงปี 1963-1964 กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของเซอร์เอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Sir Edward Heath)

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงบริบทในทางรัฐธรรมนูญและในทางประวัติศาสตร์แล้ว การกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของคาเมรอนในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ โดยไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอีก

 

ข้อกังวลทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น

 

แม้ว่าการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของคาเมรอน จะไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ แต่การเข้ารับตำแหน่งของเขาในฐานะสมาชิกสภาขุนนางนั้นตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชน และเกิดข้อกังวลในทางรัฐธรรมนูญว่า การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีของคาเมรอน จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสภาสามัญได้หรือไม่

 

สืบเนื่องจากที่กล่าวข้างต้นว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกสภาใดสภาหนึ่งในรัฐสภาอังกฤษ ด้วยเหตุที่รัฐมนตรีเป็นผู้ที่ใช้อำนาจในการบริหารประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภา หรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของสมาชิกสภาสามัญและสมาชิกสภาขุนนางนั่นเอง

 

เมื่อคณะรัฐมนตรีอังกฤษมีบทบาทสำคัญทางการเมือง และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ ประกอบกับแนวคิดประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ที่ว่าผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศจะต้องมีความยึดโยงหรือเกี่ยวพันกับประชาชน และเมื่อสมาชิกสภาสามัญเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ในขณะที่สมาชิกสภาขุนนางนั้นมาจากการแต่งตั้งและการสืบตระกูล จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอีกประการหนึ่งที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญเท่านั้น และโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีก็มักจะมาจากสมาชิกสภาสามัญเช่นกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบและเชื่อมโยงกันได้ระหว่างสภาสามัญกับคณะรัฐมนตรี โดยจะมีข้อยกเว้นให้สมาชิกสภาขุนนางเพียงคนเดียวที่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี คือ ประธานสภาขุนนาง (The Leader of the House of Lords) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานในภารกิจระหว่างรัฐบาลกับสภาขุนนาง

 

ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีความแตกต่างจากรูปแบบของไทย หากจะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่ายนั้น คณะรัฐบาลอังกฤษอาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ คณะรัฐมนตรี (Cabinet of the United Kingdom หรือ Cabinet Ministers) ซึ่งมีสถานะคล้ายกับคณะรัฐมนตรีของไทย โดยประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี (Prime Minister) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (Secretaries of State) และรัฐมนตรีอาวุโส (Senior Ministers) ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายและบริหารประเทศในภาพรวม และรัฐมนตรี (Junior Ministers) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ Ministers of State, Parliamentary Under Secretaries of State and Parliamentary Secretaries ซึ่งจะรับผิดชอบงานเฉพาะด้านของกระทรวงที่เรียกรวมกันว่า Government Departments เช่น Department for Education มี Secretary of State for Education เป็นรัฐมนตรีว่าการ และจะมีผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีก คือ Minister of State for Universities, Minister of State for School Standards, Parliamentary Under-Secretary of State for the School System and Student Finance และ Parliamentary Under-Secretary of State for Children, Families and Wellbeing เป็นต้น

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการส่วนใหญ่จะต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญ เพื่อรับการตรวจสอบและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสภาสามัญในฐานะผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ใน Government Departments นั้น จะมีทั้งสมาชิกสภาสามัญและสมาชิกสภาขุนนาง โดยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า หากรัฐมนตรีผู้ใดเป็นสมาชิกของสภาใดก็จะต้องรับผิดชอบหรือเข้าแถลงชี้แจงหรือดำเนินการต่างๆ ต่อสภาแห่งนั้น ด้วยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่สภาทั้งสองซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน จะไม่ก้าวล่วงหรือเกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ของกันและกัน

 

แม้ในอดีตที่ผ่านมา จะเคยมีกรณีที่สมาชิกสภาขุนนางหลายคนเคยรับตำแหน่ง Secretaries of State ไม่ว่าจะเป็นในสมัยรัฐบาลของกอร์ดอน บราวน์ (2007-2010) คือ ลอร์ดแมนเดลสัน (Lord Mandelson) ในตำแหน่ง First Secretary of State และลอร์ดอดันนิส (Lord Adonis) ในตำแหน่ง Secretary of State for Transport และรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน (2019-2022) คือ บารอนเนส มอร์แกน (Baroness Morgan) ในตำแหน่ง Secretary of State for Digital, Culture, Media and Sport 

 

แต่กรณีของคาเมรอนนั้นเป็นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่ตำแหน่งที่มีความสำคัญ (Great Offices: นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง (Chancellor of the Exchequer) รัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Secretary) และรัฐมนตรีมหาดไทย (Home Secretary)) ในห้วงเวลาที่อังกฤษอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการแข่งขันกันระหว่างประเทศต่างๆ ในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและหมากเกมของความสัมพันธ์ทางการทูต กลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาลอังกฤษ การทำหน้าที่ของคาเมรอนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และสมควรได้รับการตรวจสอบจากสมาชิกสภาสามัญ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่ด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้กล่าวมา ทำให้คาเมรอนในฐานะสมาชิกสภาขุนนาง ไม่สามารถเข้าไปตอบข้อซักถามหรือได้รับการตรวจสอบจากสภาสามัญได้อย่างเต็มที่ โดยจะมีเพียงรัฐมนตรีลำดับรอง (Minister of State) ในด้านต่างประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาสามัญเท่านั้นที่จะไปเข้าไปชี้แจงในที่ประชุมสภาสามัญได้ 

 

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่สมาชิกสภาขุนนางจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่การที่คาเมรอนในฐานะสมาชิกสภาขุนนางที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะเข้ารับตำแหน่งที่สำคัญลำดับที่สี่ของรัฐบาลอังกฤษ จึงเกิดเป็นข้อกังวลของประธานสภาสามัญ และก่อให้เกิดความไม่สบายใจของสมาชิกสภาหลายคนว่า จะดำเนินการตรวจสอบการทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญเช่นคาเมรอนในสภาสามัญได้อย่างไร 

 

ความท้าทายและข้อครหาที่คาเมรอนต้องเผชิญ

 

นอกจากข้อกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำหน้าที่ของคาเมรอนแล้ว ความท้าทายสำคัญที่รอคอยเขาอยู่ มีทั้งประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสงครามยูเครน หรือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมไปถึงกรณี Brexit ที่หลายคนยังคงไม่ให้อภัยเขาที่ผลักดันให้เกิดการลงประชามติ และทำให้อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีใครคาดคิด

 

แต่ก่อนจะถึงความท้าทายในการทำหน้าที่นั้น การเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ เขายังต้องเผชิญกับข้อครหาถึงบทบาทของเขาในกรณีอื้อฉาว Greensill ในปี 2021 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าใช้อิทธิพลในการติดต่อทั้งทางโทรศัพท์ และการส่งข้อความไปยังรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ Greensill Capital บริษัทธุรกิจการเงินชื่อดังจากมาตรการฟื้นฟูธุรกิจในช่วงโควิดของรัฐบาล

 

นอกจากนั้นแล้ว เขายังเคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้ Illumina ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิทยาศาสตร์พันธุกรรม-ชีวภาพของสหรัฐอเมริกา ชนะการประมูลในสัญญามูลค่ากว่า 123 ล้านปอนด์จากรัฐบาลอังกฤษ และยังปรากฏบทบาทของเขาในอีกหลายบริษัท ซึ่งนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยถึงธุรกิจหรือการงานที่เขาทำในช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้เพื่อความโปร่งใส โดยเฉพาะบทบาทในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทเอกชน ผู้ทำหน้าที่นักประสานงาน (Lobbyist) ระหว่างบริษัทต่างๆ กับภาครัฐด้วย

 

แม้คาเมรอนจะแถลงในโอกาสแรกที่เข้ารับตำแหน่งว่า เขาลาออกจากทุกธุรกิจและทุกกิจกรรมที่เขาทำทั้งหมดแล้ว แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการงานต่างๆ ที่เขาทำในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ปฏิเสธที่จะเผยแพร่ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่คาเมรอนทำก่อนเข้ารับตำแหน่งด้วย ประกอบกับช่องว่างที่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกสภาสามัญ และยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขุนนางอย่างเป็นทางการ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานที่ผ่านมาของเขายังไม่ถูกเปิดเผย

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสร้างความกังวลจากการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของคาเมรอน คือมุมมองและจุดยืนของเขาหลายเรื่องนั้นดูจะขัดกับนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ เช่น ประเด็นว่าด้วย Brexit ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเขาสนับสนุนการอยู่ต่อในสหภาพยุโรป จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายกับสหภาพยุโรปว่า หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร รวมถึงความกังวลต่อการที่คาเมรอนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน รวมถึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงด้วย อีกทั้งในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2010-2016 นั้น มีการขนานนามว่าเป็นยุคทอง (The Golden Era) แห่งความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีน ประกอบกับกรณีที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า มีส่วนสนับสนุนการลงทุนในโครงการท่าเรือของจีน ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศศรีลังกา อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ดังนั้น บทบาทดังกล่าวของเขาย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ทำไมถึงต้องเป็นคาเมรอน?

 

การเข้ารับตำแหน่งที่สร้างความแปลกใจในวงการเมืองอังกฤษครั้งนี้ แม้แต่ตัวคาเมรอนเองก็ได้ยอมรับในการแถลงข่าวขณะเข้ารับตำแหน่งว่า เป็นเรื่องที่ไม่ปกตินักที่อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง (it was ‘not usual’ for a former PM ‘to come back’.)

 

โดยคาเมรอนได้ระบุถึงเหตุผลในการกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศว่า ในห้วงเวลาที่ชาติของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่น่าหวาดหวั่นทั้งในตะวันออกกลางและยูเครน ประสบการณ์ที่เขามีมาน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาล และเขาต้องการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีซูนัคในการปฏิบัติหน้าที่ในห้วงเวลาที่ยากลำบากนี้ 

 

เป็นที่คาดกันว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรีซูนัคในครั้งนี้ เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลของเขาระหว่างรัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยังคงดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) และซูนัคต้องการสร้างทีมในแนวทางของตัวเอง เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์และความนิยมของรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่ตกต่ำเป็นอย่างมากก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงในปี 2025 โดยเขาคาดหวังว่าความโดดเด่นของคาเมรอนในฐานะอดีตผู้นำประเทศ และความสามารถของเขาจะมีส่วนช่วยให้การบริหารงานของคณะรัฐมนตรีเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

 

มีผู้วิจารณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากนายกรัฐมนตรีซูนัคคิดว่า การแต่งตั้งคาเมรอนในครั้งนี้เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาของเขา แสดงว่านายกรัฐมนตรีซูนัคกำลังเผชิญกับปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่า เพราะการเลือกให้คาเมรอนกลับมาสู่รัฐบาลอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่า ทางเลือกของนายกรัฐมนตรีซูนัคนั้นมีอยู่ไม่มากนัก และแม้จะดูเหมือนว่าการแต่งตั้งคาเมรอนจะเป็นแนวคิดที่ดีในการกอบกู้ความนิยม หรือแก้ไขปัญหาเสถียรภาพในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ แต่ก็ทำให้เห็นว่า พรรคนั้นขาดซึ่งตัวเลือกหรือแนวคิดใหม่ๆ 

 

ดังนั้น แม้ว่านายกรัฐมนตรีซูนัคหวังจะใช้การปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่การแต่งตั้งคาเมรอน และข้อครหาต่างๆ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองอื่นที่กำลังถาโถมเข้าสู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขานั้น อาจไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ไขสถานการณ์ย่ำแย่ที่นายกรัฐมนตรีซูนัคกำลังเผชิญอยู่ได้มากนัก

 

นอกจากนั้นแล้ว หลายฝ่ายยังเชื่อว่า การที่คาเมรอนตัดสินใจที่จะกลับเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองอีกครั้งนั้นเป็นเพราะความทะเยอทะยานของเขาเอง เนื่องจากเส้นทางการเมืองของเขานั้นเหมือนต้องสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันด้วยผลการลงประชามติ Brexit ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้เขายังมีความปรารถนาที่จะมีบทบาทในทางการเมืองอีกครั้ง

 

การกลับมาอีกครั้งของคาเมรอน ในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ และสมาชิกสภาขุนนาง จึงถือเป็นบทพิสูจน์ของเขาอีกครั้งว่าจะประสบความสำเร็จได้ตามที่เขาตั้งใจไว้หรือไม่ ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานาประการที่รอคอยเขาอยู่

 

ภาพ: Wiktor Szymanowicz / Anadolu via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising