×

‘ดารุมะ ซูชิ’ เวาเชอร์บุฟเฟต์ทิพย์ กับความเสียหายหลัก 100 ล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2022
  • LOADING...
ดารุมะ ซูชิ

กลายเป็นกระแสร้อนบนสื่อออนไลน์เวลานี้ สำหรับกรณี ‘ดารุมะ ซูชิ’ ที่จำหน่ายเวาเชอร์บุฟเฟต์ในราคาใบละ 199 บาท ไปแล้วกว่า 1.2 แสนใบ แต่ลูกค้าไม่สามารถใช้บริการได้ เนื่องจากเจ้าของบริษัทผู้ควบคุมทุกอย่างได้ตัดการติดต่อและบินออกนอกประเทศไทย ทิ้งความเสียหายไว้ให้ผู้ได้รับผลกระทยหลายภาคส่วน ที่คิดเป็นเงินมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

 

THE STANDARD สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนปัจจุบันมีการดำเนินคดี และเยียวยาผู้เสียหายอย่างไรกันบ้าง

 

รู้จักธุรกิจ ‘ดารุมะ ซูชิ’ 

 

ดารุมะ ซูชิ เป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นแบบบุฟเฟต์ ภายใต้สโลแกน ‘กินไม่อั้น ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม’ มีเจ้าของธุรกิจชื่อ เมธา ชลิงสุข หรือบอล อายุ 42 ปี มีร้านแรกตั้งอยู่ที่ซอยอุดมสุข 50 ปัจจุบันร้านถูกขยายกิจการในรูปแบบของแฟรนไชส์ไปมากกว่า 26 สาขา จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับ ดารุมะ ซูชิ พบว่ามีการจดทะเบียนนิติบุคคลในนาม บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และมีผลประกอบการดังนี้

  • 2559 รายได้ 11.33 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท
  • 2560 รายได้ 26.48 ล้านบาท กำไร 6 แสนบาท
  • 2562 รายได้ 39 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
  • 2563 รายได้ 43.76 ล้านบาท กำไร 1.7 ล้านบาท
  • 2564 รายได้ 45.62 ล้านบาท กำไร 1.2 ล้านบาท

 

จุดเริ่มต้นดราม่า ‘เวาเชอร์บุฟเฟต์ 199 บาท’

 

ทางร้าน ดารุมะ ซูชิ ได้จัดโปรโมชันพิเศษด้วยการเปิดจำหน่ายเวาเชอร์บุฟเฟต์แซลมอนในราคา 199 บาท (ราคารวม VAT จะอยู่ที่ 212 บาท) มีอายุใช้งาน 6 เดือน โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไปผ่านทางแอปพลิเคชันที่ชื่อ ‘Daruma Sushi’ ซึ่งผลตอบรับจากผู้บริโภคเป็นไปอย่างดี และยังมีกลุ่มแม่ค้าคนกลางซื้อเวาเชอร์เพื่อไปเก็งกำไร ขายต่อให้ลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อย โดยเวาเชอร์ถูกขายไปไม่น้อยกว่า 1.2 แสนใบ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท

 

แต่ปัญหาทุกอย่างเริ่มแดงขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร้านซูชิดังกล่าวทยอยขึ้นป้าย ‘ปิดร้านเป็นเวลา 1 วัน เพื่อปรับปรุงระบบ’ และถัดมา 1 วันร้านก็ยังไม่เปิด ทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคเริ่มชวนกันตั้งข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันยังพบว่าช่องทางติดต่อของร้าน ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์ส่วนกลางของร้านก็ล่ม

 

กระทั่งผู้จัดการร้านสาขาหนึ่งออกมาให้ข้อมูลที่สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคและพนักงานว่า เจ้าของบริษัท (เมธา ชลิงสุข) ได้ออกจากแชตไลน์กลุ่มของร้านดารุมะ ซูชิทั้งหมด พร้อมลบบัญชีไลน์ และจนถึงปัจจุบันไม่มีใครติดต่อเจ้าของบริษัทได้ ก่อนมีการเปิดเผยภายหลังว่าเมธาได้ออกนอกประเทศไทยไปเมื่อคืนวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 23.00 น. โดยมีจุดหมายคือ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

 

เจ้าของบริษัทไม่อยู่คนเดียว เหตุใดร้านสาขาทุกแห่งจึงล้มทั้งหมด

 

รูปแบบธุรกิจ ดารุมะ ซูชิ ถูกชำแหละให้เห็นไส้ใน ให้เห็นความชัดเจนขึ้นในรายการ ‘โหนกระแส’ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อ ‘แพน’ ในฐานะผู้จัดการร้าน เปิดเผยข้อมูลชวนช็อก และเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดร้านสาขาทุกแห่งจึงล้มทั้งหมด แม้เจ้าของบริษัทไม่อยู่เพียงคนเดียว 

 

ซึ่งข้อมูลโดยสรุปที่ได้จากรายการ โหนกระแส พบว่าเมธา ในฐานะเจ้าของบริษัท เป็นผู้ควบคุมและดูแลทุกอย่างของร้านดารุมะ ซูชิ ทั้ง 26 สาขา เพียงคนเดียว ไม่มีทีมบริหาร ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชี และไม่มีแม้สำนักงานของบริษัทเป็นหลักแหล่ง รวมถึงการติดต่อสั่งวัตถุดิบกับซัพพลายเออร์เจ้าต่างๆ ที่ปกติจะส่งวัตถุดิบอย่างปลาแซลมอนให้กับร้านในสาขาต่างๆ ส่งผลให้ ณ วันนี้กลุ่มซัพพลายเออร์ไม่ได้ส่งของให้ร้านสาขาแล้ว ทำให้ร้านทั้ง 26 สาขาจำเป็นต้องปิดบริการอย่างในปัจจุบัน

 

จากบุฟเฟต์ 199 บาท สู่ความเสียหายหลัก 100 ล้านบาท

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตอนนี้มูลค่าความเสียหายของ ดารุมะ ซูชิ มีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วนดังนี้

  • เวาเชอร์บุฟเฟต์ 199 บาท ถูกขายให้กับผู้บริโภคและแม่ค้าคนกลางไปมากกว่า 1.2 แสนใบ คิดเป็นความเสียหาย 25 ล้านบาท
  • ซัพพลายเออร์ที่ส่งปลาแซลมอนให้ร้าน ได้รับความเสียหายจากการค้างค่าปลากว่า 30 ล้านบาท (คาดว่ามีซัพพลายเออร์ได้รับผลกระทบ 2-3 เจ้า)
  • นักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดคนละ 2.5 ล้านบาท ทั้งหมด 20 สาขา คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
  • พนักงานไม่ได้รับเงินเดือนอย่างน้อยประมาณ 395 คน

 

ธุรกิจถูกจัดฉากมาเพื่อทุจริตตั้งแต่แรก?

 

ภายหลังประเด็นเวาเชอร์บุฟเฟต์ของ ดารุมะ ซูชิ เป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจและตั้งคำถามว่า การจัดทำโปรโมชันดังกล่าวถูกเซ็ตหรือจัดฉากเพื่อทุจริตโดยเจ้าของบริษัทตั้งแต่แรกแล้วหรือไม่

 

ข้อมูลจากรายการ โหนกระแส มีการเปิดเผยว่า ปลาแซลมอนที่ร้านรับมาจากซัพพลายเออร์ตอนนี้อยู่ในเรตราคาไม่ต่ำกว่า 380 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งชัดเจนว่าราคานี้ไม่สามารถสร้างกำไรในการจำหน่ายแซลมอนในรูปแบบบุฟเฟต์ 199 บาท และยังไม่รวมกับที่ลูกค้าสามารถสั่งเมนูอื่นๆ จากทางร้านอีก

 

นอกจากนี้ กลิ่นความไม่ชอบมาพากลปะทุหนักขึ้นอีกครั้ง เมื่อพบว่ารูปแบบกิจการแฟรนไชส์ของดารุมะ ซูชิ มีวิธีการดูแลร้านสาขาที่ผิดแผกจากธุรกิจแฟรนไชส์อื่นๆ ตรงที่ผู้สนใจลงทุนทำร้านนี้จะจ่ายเงินก้อน 2.5 ล้านบาท ให้เจ้าของบริษัทเพียงครั้งเดียว ส่วนเรื่องค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน (ไม่มีการทำสัญญาจ้างงาน) หรือแม้แต่วัตถุดิบหลักอย่างปลาแซลมอน เจ้าของบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทั้งหมด 

 

อีกทั้งยังมีข้อมูลพบว่า สาขาบิ๊กซีพระราม 2 มีการขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุน 2 เจ้า แต่เป็นร้านเดียวกัน ส่งผลให้เจ้าของบริษัทรับเงินไปแบบเนียนๆ 5 ล้านบาท โดยที่เจ้าของแฟรนไชส์ทั้ง 2 คนมารู้ภายหลังว่าเป็นเจ้าของร้านเดียวกัน

 

เสียงของผู้เสียหาย-ผู้จัดการร้านที่ถูกลอยแพ

 

ผู้เสียหายบางส่วนเล่าว่าเคยไปรับประทานแล้วเห็นว่าคุ้มค่า จึงสนใจซื้อคูปองของทางร้านเพื่อไปขายทำกำไร โดยจะซื้อคูปองผ่านทางแอปพลิเคชันของร้าน ในราคาใบละ 212 บาท แล้วไปขายต่อราคา 240 บาท ให้กับลูกค้าผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งตั้งเป็นกลุ่มลูกค้าขึ้นมาโดยเฉพาะ แรกเริ่มก็จะซื้อคูปองมาตุนไว้ครั้งละ 40 ใบ เมื่อขายหมดก็จะสั่งซื้อใหม่ ทำกำไรดี ซึ่งทำมาได้ 2 ปีครึ่งแล้ว แต่ระยะหลังมีลูกค้าซื้อเป็นจำนวนมาก จึงซื้อกักตุนคูปองเพิ่มขึ้น จนล่าสุดมีอยู่ถึง 527 ใบ ลงทุนเงินไปกว่า 1 แสนบาท จนกระทั่งมาเกิดเรื่อง ทำให้เกิดความเสียหายกับตนอย่างมาก

 

ขณะที่ อัญพัชร์ ปิยะสถิตย์โชติ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเล่าว่า ทางเจ้าของแบรนด์จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท แต่ไม่มีสำนักงาน ที่ผ่านมามีการจ่ายเงินให้พนักงานตามปกติ ในส่วนของตนเองมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสาขาแฟรนไชส์ต่างๆ หากปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางบริษัท เหนือการควบคุมคุณภาพทั้งของอาหารและการให้บริการ เป็นผู้ฝึกสอนพนักงานก่อนที่จะกระจายให้ไปทำงานอยู่ตามสาขาต่างๆ รวมถึงการออร์เดอร์วัตถุดิบ แต่การจ่ายเงินเจ้าของบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

 

ผู้เสียหายแห่แจ้งความ-เจ้าหน้าเร่งรวมหลักฐาน-เอาผิดทางคดี

 

วานนี้ (20 มิถุนายน) รัชพล ศิริสาคร ทนายความ พาผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จากกรณีซื้อเวาเชอร์บุฟเฟ่ต์จากดารุมะ ซูชิ เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์

 

โดยรัชพลเปิดเผยว่า ได้รวบรวมผู้เสียหายบางส่วนมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. เพื่อเอาผิดเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ร่วมขบวนการที่เกี่ยวข้องด้วย บริษัทดำเนินคดีข้อหา ฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.ฟอกเงิน

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีสัญญาจ้างลูกจ้าง และไม่มีสำนักงานของบริษัท ซึ่งจากที่รวบรวมเบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 400 คน มูลค่าความเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท จึงอยากให้ตำรวจเร่งตรวจสอบว่าเจ้าของแฟรนไชส์ยังอยู่ในประเทศหรือไม่ และอยากให้ บก.ปคบ. เป็นเจ้าภาพรับทำคดีนี้

 

ขณะที่ พ.ต.อ. เชษฐ์พันธ์​ กิติเจริญศักดิ์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผกก.1 บก.ปคบ) เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องทั้งหมดไว้พิจารณา มีแนวโน้มว่าจะรวมผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์เป็นสำนวนเดียวกันได้ โดยจากพฤติการณ์เข้าข่ายลักษณะการฉ้อโกง แต่ยังต้องรอการสอบสวนอย่างละเอียด ทั้งผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และผู้ที่ซื้อเวาเชอร์ พร้อมยอมรับว่าการซื้อขายแฟรนไชส์มีพฤติกรรมคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ ส่วนผู้เสียหายรายอื่นๆ สามารถทยอยมาแจ้งความได้ที่ ปคบ. เพื่อรวบรวมผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายต่อไป

 

ส่วนตัวเมธา จากการตรวจสอบเบื้องต้นตอนนี้พบว่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ส่วนจะไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือไม่ยังไม่ยืนยัน ตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบ เพราะขณะนั้นยังไม่เป็นคดีความ

 

ทางด้าน พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะตั้งใจฉ้อโกง ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากยังไม่กลับมาประเทศไทยจะพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ยืนยันว่าจะทำสุดความสามารถ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องคือเจ้าของแฟรนไชส์เพียงคนเดียว หลังจากนี้จะตรวจสอบทุกอย่าง เช่น เส้นทางการเงิน การกระทำความผิดว่ามีใครเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยเบื้องต้นเข้าข่ายฐานความความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และหากมีการโอนเงินไปยังบุคคลใดก็อาจเข้าข่ายฟอกเงินด้วย แต่เบื้องต้นขณะนี้ทราบว่าทางร้านมีบัญชีหลักเพียงบัญชีเดียว

 

เบื้องต้นแบ่งผู้เสียหายเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปบริโภค ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปขายต่อ และผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์ โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์นั้นต้องดูเจตนาว่ามีเจตนาหลอกลวงประชาชนหรือไม่ หากไม่มีเจตนาหลอกลวงประชาชนก็ถือว่าไม่มีความผิด ส่วนร้านค้าที่ขายปลาแซลมอนให้ทางแฟรนไชส์นั้นก็สามารถมาแจ้งความดำเนินคดีไว้ได้เช่นกัน

 

ร้านอาหาร-กระทรวงแรงงาน ประกาศช่วยเหลือลูกจ้าง

 

ทันทีที่กระแสข่าวเรื่องลูกจ้างของร้านดารุมะ ซูชิ ถูกลอยแพ ทำให้บรรดาร้านอาหารหลายแห่งออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า พร้อมเยียวยาลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวด้วยการรับสมัครพนักงานที่ได้รับผลกระทบเข้าทำงาน เช่น ชินคันเซ็น ซูชิ และ Jones Salad 

 

ด้าน บุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ (21 มิถุนายน) ตนได้รับมอบหมายจาก สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกจ้าง ซึ่งผู้จัดการร้านดารุมะ ซูชิ ได้นำลูกจ้างจำนวน 50 คน มายื่นขอรับเงินประกันการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 8 

 

นอกจากนี้สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 ยังได้มาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่างๆ เช่น เซ็นทรัล รีเทล และไทยเบฟเวอเรจ รวมจำนวนกว่า 1,000 อัตรา เพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงาน และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

 

ขณะที่สุชาติได้เร่งสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานในสังกัดเร่งตรวจสอบช่วยเหลือคุ้มครองลูกจ้างกว่า 395 ชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วนที่สุด

 

พร้อมย้ำว่าลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้องฯ คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising