×

เปิดภารกิจจำลองปกป้องโลกของยาน DART ‘พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ไม่ให้โลกถูกชน’

โดย Mr.Vop
27.09.2022
  • LOADING...
ดาวเคราะห์น้อย

เมื่อเวลา 06.14 น. เช้าวันนี้ (27 กันยายน) ตามเวลาไทย กล้อง DARCO ที่ติดตั้งอยู่บนยาน DART ได้บันทึกภาพวินาทีการพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์ Dimorphos สำเร็จ โดยเห็นผิวของดาวเคราะห์น้อยขนาดสนามฟุตบอลนี้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนภาพตัดไปหลังยานพัง

 

ประชากรโลกเวลานี้มี 7.75 พันล้านคน หากสมมติให้เกิดสึนามิทุกๆ วัน วันละครั้ง แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิต 3 แสนคน จะต้องใช้เวลามากกว่า 70 ปี มนุษย์จึงจะหมดไปจากโลก แต่สำหรับการเข้าชนของดาวเคราะห์น้อยขนาด 96 กิโลเมตรขึ้นไป แรงทำลายจะมากมายมหาศาลจนสามารถคร่าทุกชีวิตบนโลกให้จบสิ้นลงได้ในการชนเพียงครั้งเดียว

 

มีดาวเคราะห์น้อยอันตรายหลายดวงในระบบสุริยะที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก ไม่วันใดก็วันหนึ่งในอนาคตอาจเกิดเรื่องร้ายที่ไม่คาดฝัน จริงอยู่ที่เรามีโอกาสน้อยมากที่จะพบกับการเข้าชนของดาวเคราะห์น้อยขนาดหลายสิบกิโลเมตรดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็ก คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 150 เมตรขึ้นไป ก็มีอำนาจการทำลายในระดับที่สามารถกวาดล้างมหานครขนาดใหญ่บนโลกให้พินาศลงได้ การศึกษาวิธีการในการเบี่ยงเบนเส้นทางดาวเคราะห์น้อยและดาวหางจึงเป็นเรื่องจำเป็นและคุ้มค่าอย่างยิ่งในการลงทุน

 

เรื่องนี้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯฯ (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2015 ทั้งสองค่ายและอีกหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมทั้งองค์การด้านการบินอวกาศในอีกหลายประเทศ เช่น DLR จากเยอรมนี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการ AIDA หรือ Asteroid Impact and Deflection Assessment ขึ้นมา โดยมียานอวกาศ 2 ลำในโครงการคือ ยาน AIM หรือ Asteroid Impact Mission จากฝั่ง ESA ทำหน้าที่หลักในการสังเกตการณ์ และยาน DART หรือ Double Asteroid Redirection Test จากฝั่ง NASA ทำหน้าที่หลักในการเข้าชนดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย

 

ถือเป็นความพยายามจากนานาชาติเป็นครั้งแรกของโลกที่จะทำให้ดาวแม่ของพวกเราดวงนี้มีระบบป้องหายนะจากดาวเคราะห์น้อย 

 

ยาน DART

 

แต่ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น นั่นคือในปี 2016 ฝั่ง ESA ประสบปัญหาทางด้านเงินทุนจึงขอถอนตัวไป คงเหลือเพียงฝั่ง NASA ที่คงเดินหน้าต่อไปในโครงการนี้ ทาง NASA แก้ปัญหาการที่จะไม่มียาน AIM คอยสังเกตการณ์โดยใช้วิธีส่งดาวเทียมจิ๋วชื่อ LICIACube เกาะติดไปพร้อมยาน DART ระหว่างเดินทาง และให้ดาวเทียมแยกตัวออกไปสังเกตการณ์ก่อนจะมีการทดสอบการเข้าชน และใช้วิธีการสังเกตการเข้าชนเพิ่มเติมด้วยกล้องโทรทรรศน์จากผิวโลก

 

ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายที่จะใช้ในการทดสอบของโครงการ DART นี้คือ 65803 Didymos หรือ 1996 GT ดาวเคราะห์น้อยขนาดกว้างราว 800 เมตรดวงนี้มีลักษณะแตกต่างจากดาวเคราะห์น้อยโดยปกติทั่วไป นั่นคือมันมีบริวารขนาด 170 เมตร ชื่อ ‘Dimorphos’ หรือก็คือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอีกดวงโคจรอยู่โดยรอบ คล้ายดวงจันทร์ ความเร็วในการโคจรตกรอบละ 11 ชั่วโมง 57 นาที

 

ยาน DART ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 ข้ามผ่านอวกาศระยะทาง 9.6 ล้านกิโลเมตรจากโลกมุ่งสู่ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย ยานลำนี้ถูกออกแบบมาโดยอาศัยข้อมูลของยาน Deep Impact ที่เข้าชนดาวหาง Temple 1 ในปี 2005 เพื่อให้มีโมเมนตัมในการชนเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงความเร็วในการโคจรของ Dimorphos ที่แม้ในครั้งนี้อาจจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย คือไม่ถึง 1 มิลลิเมตรต่อวินาที แต่ก็จะส่งผลถึงองศาที่เปลี่ยนตามไปด้วย ในแง่ของการปกป้องโลกในอนาคต มุมองศาที่เปลี่ยนแปลงไปแม้ไม่มากนี้ เมื่อพบกับระยะทางห่างจากโลกที่ค่อนข้างไกล มุมองศาก็จะค่อยๆ ถ่างกว้างขึ้นจนดาวเคราะห์น้อยอันตรายจะพ้นไปจากวิถีพุ่งชนโลกได้

 

 

และเมื่อเวลา 06.14 น. ที่ผ่านมาของเช้าวันนี้ (27 กันยายน) ตามเวลาในประเทศไทย กล้อง DARCO หรือ Didymos Reconnaissance and Asteroid Camera for Optical navigation ที่ติดตั้งอยู่บนยาน DART ก็ได้บันทึกภาพวินาทีการพุ่งเข้าชน Dimorphos ได้สำเร็จ โดยเห็นผิวของดาวเคราะห์น้อยขนาดสนามฟุตบอลนี้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนภาพตัดไปหลังยานพัง โดยมีกล้องโทรทรรศน์บนโลกคอยจับภาพเหตุการณ์ครั้งนี้เอาไว้ด้วย ขั้นตอนหลังจากนี้คือการใช้เครื่องมือบนดาวเทียม LICIACube วัดค่าความเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายอย่างละเอียด ซึ่งจะทำไปพร้อมๆ กับการคำนวณตัวเลขโดยทีมนักดาราศาสตร์บนโลกด้วย โดยจะใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินสังเกตค่าความเร็วรวมทั้งมุมโคจรในขณะที่ดาวเคราะห์น้อย Dimorphos ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยบริวารโคจรผ่านด้านหน้าและด้านหลังของดาวเคราะห์น้อยดวงแม่คือ Didymos 

 

ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้จะถูกนำไปใช้ต่อยอดในการออกแบบยานอวกาศที่จะใช้เบี่ยงเบนวิถีดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่จะสร้างขึ้นจริงในอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อที่จะทำหน้าที่ปกป้องโลกของเราให้ปลอดภัยจากวัตถุอวกาศที่แสนอันตรายเหล่านี้ 


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising