×

การศึกษาไทย (ยัง) น่าห่วง? คุยกับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงเรื่องการศึกษาไทย เด็กเกิดน้อยลง มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2021
  • LOADING...
ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กว่า 20 ปีในแวดวงการศึกษาของ ดร.แพรว มองว่า การศึกษาของไทยเป็นที่น่าเศร้าเมื่อเทียบประสิทธิภาพและเม็ดเงินที่ถูกใช้ไปกับการศึกษาของไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด
  • การจะแก้ไขเรื่องนี้ได้นั้นทุกเรื่องต้องทำไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการทำให้ ‘ครูมีคุณภาพและมีอัตราส่วนที่เหมาะสมกับห้องเรียน’ และยกระดับโรงเรียนที่มีมาตรฐานให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับการสร้างนักเรียนที่มีศักยภาพ
  • ขณะที่การระบาดของโควิดแม้จะก่อให้เกิดวิกฤต แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สร้างโอกาสให้กับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เช่นเดียวกัน เพราะใช้จังหวะนี้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และปรับกระบวนการเรียนการสอนให้ทันสมัย
  • ส่วนความท้าทายของมหาวิทยาลัยในอนาคตคือ เมื่อเด็กเกิดน้อยลง แต่จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีเท่าเดิม มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวโดยเร็ว หลักสูตรต้องสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ทุกหลักสูตรต้องเน้นการสร้าง Soft Skills ที่จำเป็นในอนาคต

ถึงดีกรีการศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกของ ‘ดร.แพรว-ดาริกา ลัทธพิพัฒน์’ ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพ จะไม่ได้จบในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยตรง 

 

แต่ ดร.แพรว ก็มีความเข้าใจในเรื่องของการศึกษาไม่น้อยทั้งจากการที่อยู่ในครอบครัวที่อยู่ในแวดวงการศึกษามาแล้วถึง 3 รุ่น ซึ่งได้ซึมซับเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ตลอดจนการพูดคุยกับคนในครอบครัว ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญการได้ไปเรียนในต่างประเทศตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี ทำให้ได้รู้จักการศึกษาในมุมจากต่างประเทศด้วย 

 

ระบบการเรียนในไทยและต่างประเทศแตกต่างกันมาก 

เมื่อถูกถามว่าการศึกษาของไทยและต่างประเทศแตกต่างกันอย่างไร? ดร.แพรว ฉายภาพถึงช่วงที่ไปเรียนยังต่างประเทศ แม้จะยังเด็กมากและไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงระบบการศึกษาในไทยและต่างประเทศ แต่หลังจากกลับมาย้อนมองกลับไปในยุคเกือบ 40 ปีก่อน พบว่า การศึกษาและมุมมองในการพัฒนาเด็กระหว่างโรงเรียนในต่างประเทศและโรงเรียนในประเทศไทยนั้นแตกต่างกันมาก

 

เราค่อนข้างคุ้นหูมากเรื่องเรียนแบบท่องจำหรือครูเป็นใหญ่ในห้อง ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ได้พูดถึงการวางผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ Student-Centered แต่โรงเรียนที่ตัวเองไปเรียนในต่างประเทศนั้น รู้สึกว่าเป็นห้องเรียนของเด็กมากกว่าเป็นห้องเรียนของครู ซึ่งเหล่านี้เป็นภาพที่กลับด้านของการศึกษาในประเทศไทยในยุค 40 ปีที่แล้ว

 

“โรงเรียนในต่างประเทศห้องเรียนเป็นของนักเรียนมากกว่า แน่นอนครูคือคนที่แนะนำไปสู่จุดต่างๆ แต่ครูไม่ใช่พระเจ้าที่ชี้ซ้าย ชี้ขวานักเรียนได้”

 

ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

แม้การมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของนักเรียนได้มากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วจะสัมฤทธิ์ผลมากที่สุดถ้าขนาดห้องเรียนเล็ก ถ้ายังเป็นห้องเรียนขนาด 40-60 คนต่อห้อง และมีครูเพียง 1 คนที่สอนอยู่หน้าชั้น เรื่องเหล่านี้ยังพัฒนาได้ยาก 

 

ภาพการศึกษาของไทยโดยทั่วไปยังแตกต่างกับโรงเรียนระดับอินเตอร์ ที่จะมีมาตรฐานที่ชัดเจน ทั้งจำนวนนักเรียนต่อห้อง ถ้าเป็นเด็กเล็กไม่เกิน 15 คน โตขึ้นมาหน่อยไม่เกิน 18 และ 20 กว่าคนตามลำดับ และนอกจากครูประจำชั้นแล้ว ยังมีผู้ช่วยสอน (Teacher Assistant) อีก 1-2 คน ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ระบบ Student-Centered มีประสิทธิผลมากขึ้น 

 

“นอกจากอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนแล้ว การทำให้การเรียนการสอนแบบ Student-Centered ได้ผลที่ดีต้องมีระบบซัพพอร์ตที่ช่วยให้ติดตามพัฒนาการของเด็กทั้งในด้านสมรรถนะและด้านพฤติกรรมด้วย เพราะต้องเก็บข้อมูลของเด็กแต่ละคนค่อนข้างใกล้ชิด หมายถึงว่า ครูต้องรู้ว่าทุกๆ สัปดาห์หรือสองสัปดาห์พัฒนาการของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ใครเริ่มช้าต้องดึงออกมาและเสริมในจุดที่นักเรียนไม่สามารถพัฒนาได้เอง จะไปรอสิ้นเทอมแล้วค่อยปรับไม่ทันการณ์เอา”

 

การศึกษาไทย (ยัง) น่าห่วง

กว่า 20 ปีในแวดวงการศึกษาของ ดร.แพรว มองว่า การศึกษาของไทยเป็นที่น่าห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อเทียบประสิทธิภาพและเม็ดเงินที่ถูกใช้ไปกับการศึกษาของไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 

 

แต่เมื่อดูที่ผลลัพธ์ผ่านการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) กลับพบว่าในช่วงปี 2547-2561 มีแนวโน้มที่คงที่หรือลดลงในบางด้านด้วยซ้ำ ขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมดของประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งทะลุไปกว่าหกแสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.15 ของ GDP ในปี 2556 โดยหากเทียบกับ 79 ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในปี 2561 ไทยอยู่อันดับที่ 68 ในด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ในด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ในด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไทยนำหน้าเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น

 

“การศึกษาของไทยพัฒนาค่อนข้างช้า ยิ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่เราทุ่มลงไป สะท้อนว่าการบริหารจัดการงบประมาณยังไม่ดีพอ นอกจากนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือคุณภาพโรงเรียน คุณภาพครู รวมไปถึงอัตราส่วนที่เหมาะสมของครูต่อห้องเรียน

 

“ประเด็นที่พูดกันเยอะมากๆ ตอนนี้คือ ในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย คือการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างโรงเรียน ซึ่งเราพบว่าโรงเรียนหลายแห่งมีการบริหารจัดการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เช่น ยังมีเรื่องครู 1 คน สอน 2 ชั้นปี สอนหลายวิชารวมถึงวิชาที่ตนเองไม่ได้ถนัดด้วย ไปจนถึงเรื่องความพร้อมของทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ความปลอดภัยในโรงเรียน เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสรร แต่เป็นประเด็นปัญหาของการบริหารจัดการ”

 

ทุกเรื่องต้องไปพร้อมกัน

ดร.แพรว ให้ความเห็นว่า การจะทำให้คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานดีขึ้น ต้องทำหลายๆ เรื่องพร้อมกัน เรื่องแรกคือทำ ‘ครูให้มีคุณภาพ’ ถ้าครูยังไม่มีคุณภาพและมีความพร้อมเป็นครู เราก็ทำให้เด็กนักเรียนมีคุณภาพไม่ได้ ซึ่งหนึ่งในทางแก้ไขที่กระทรวงได้ทำคือปรับโครงสร้างเงินเดือนของบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะครู เพราะค่าตอบแทนของครูจะทำให้คนที่มีศักยภาพหันกลับเข้าสู่การประกอบอาชีพครูเพิ่มมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็เกิดปรากฏการณ์สมองไหลไปสู่ภาคส่วนอื่นเหมือนที่ผ่านมา อีกอย่างที่เรามักจะได้ยินเรื่องปัญหาหนี้สินของครู ซึ่งหากยังมีหนี้ที่เยอะก็จะสร้างปัญหากวนใจ ทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างมีคุณภาพได้ 

 

ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของผู้ที่เข้ามาเรียนครู แต่ก่อนนักเรียนระดับหัวกะทิจะไปเรียนสายอื่นๆ ก่อน แต่ตอนนี้มีการกำหนดแล้วว่า ถ้าจะเรียนเป็นครูต้องมีเกรดเฉลี่ยเท่าไร ตรงนี้จะช่วยให้เราเพิ่มครูที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

ในแง่ของการจัดการโครงสร้าง ดร.แพรว มองว่า เราต้องมาดูจำนวนโรงเรียนที่มีความเหมาะสมกับครูที่ผลิตได้ในแต่ละปี โดยเฉพาะขนาดของโรงเรียนที่มีความสำคัญในการใช้งบประมาณอย่างมีคุณภาพ 

 

“ตอนนี้เรามี 3 หมื่นกว่าโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สพฐ. จำนวนห้องเรียนเกือบ 3.4 แสนห้องเรียน ครูต่อห้องเรียนประมาณ 1 ต่อ 1.38  แต่จริงๆ เราควรมีไม่เกิน 2 หมื่นโรงเรียนที่มีคุณภาพหรือได้มาตรฐานเป็นอย่างน้อย หรือดีที่สุดคือ 1.6-1.8 หมื่นโรงเรียนด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะทำให้สามารถลดห้องเรียนเหลือประมาณ 2.6 แสนห้องเรียน ครูต่อห้องเรียนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 1.59 แน่นอนว่าการจัดการเรียนการสอนก็จะมีคุณภาพมากขึ้น”

 

“คุณภาพของครูและการพัฒนาโรงเรียนที่มีศักยภาพให้สามารถรองรับนักเรียนจากโรงเรียนที่ยังไม่ได้มาตรฐานได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ก่อน ซึ่งก็จะมีเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาอีก เช่น เราจะมีการประเมินครูอย่างไรว่า ครูมีคุณภาพและให้ความสนใจกับจัดการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีศักยภาพจริงๆ ซึ่งนี่เป็นประเด็นปลีกย่อยในการบริการจัดการคุณภาพครู นอกเหนือไปจากการจำกัดจำนวนโรงเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย”

 

การศึกษาก็ถูกดิสรัปต์จาก ‘เทคโนโลยี’

อย่างไรก็ตาม ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเรามักนึกถึงเรื่อง ‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’ (Digital Transformation) ในทุกๆ วงการ ‘การศึกษา’ ก็เหมือนกับทุกอุตสาหกรรมที่ต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต้องเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากน้อยแค่ไหน แต่จำเป็นต้องมีเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

 

ที่ผ่านมาการจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่การระบาดของโรคโควิดได้เข้ามาเร่งให้เรื่องเหล่านี้เร็วขึ้น แม้โควิดจะมีข้อเสียมากมาย แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ปรับตัว   

 

“ความเป็นไปได้ในการสอนแบบ Online หรือ E-Learning ตอนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีตัวกระตุ้น แต่ตอนนี้มีปัจจัยกระตุ้นแล้วจึงทำได้ขึ้นมาทันที สำหรับมหาวิทยาลัย กว่าจะกระตุ้นให้อาจารย์แต่ละท่านซึ่งมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงมากมาใช้เทคโนโลยีและปรับแนวทางการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่พอเจอโควิดกลายเป็นโอกาสให้กับคนที่ไม่เคยเปิดรับการสอนในแบบใหม่ๆ ยอมรับการใช้เทคโนโลยีในการสอน มาเริ่มใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้ลองสอนในรูปแบบใหม่ๆ ได้มาลองคิดหาวิธีการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ห้องเรียน Online ยังน่าสนใจอยู่”

 

ดร.แพรว ขยายความต่อว่า ได้ใช้วิกฤตนี้ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการสอนใหม่ เช่น หลัง Pandemic ครั้งนี้แล้วจะไม่กลับมาเป็นการสอนในห้องเรียนในบางคลาสเรียนแล้ว ด้วยบางส่วนไม่มีความจำเป็น หรือมีประสิทธิภาพกว่า ถ้าเป็นคลาสแบบ Online การให้นักศึกษาเรียนจากที่ไหนก็ได้ในช่วงเวลาใดก็ได้เป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่าในบางครั้ง แต่อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายคลาสที่ยังต้องเข้ามาพบปะกับอาจารย์และนักศึกษาด้วยกันเอง 

 

“มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็ต้องปรับตัวเหมือนกับทุกที่ ที่โดนผลกระทบจากโควิด ทำให้ต้องเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ในช่วงแรกมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นเราปิดเทอมจึงกระทบไม่มาก ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้ช่วงเวลานี้ในการจัดซื้ออุปกรณ์แล็ปท็อปให้กับอาจารย์ทุกคนสำหรับใช้เป็นอุปกรณ์การสอน ส่วนนักศึกษาพยายามช่วยในหลายๆ เรื่อง

 

“เราถือว่าปรับตัวเร็วมาก ซึ่งนอกจากอุปกรณ์ของอาจารย์แล้ว นักศึกษาใหม่ตั้งแต่ปีนี้จะได้ iPad ส่วนตัว ในแง่ของการสอนเราก็ปรับเช่นกัน แต่ก่อนการสอน 3 ชั่วโมงในห้องเรียนอาจจะดูไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่พอขยับไปออนไลน์ ความสนใจของนักศึกษาในคลาส 3 ชั่วโมงหายไปทันที ดังนั้น เราจึงมี Framework ให้อาจารย์เป็นแนวทางในการทำการเรียนการสอน Online เช่น การบรรยายจะไม่เกินกี่นาที และสลับด้วยวิดีโอ และแบบฝึกหัดสั้นๆ”

 

ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

53 ปีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ปัจจุบัน ‘มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์’ ก่อตั้งมา 53 ปีแล้ว ตัว ดร.แพรว เข้ามานั่งตำแหน่งอธิการบดีเป็นท่านที่ 6 ซึ่ง ดร.แพรว กล่าวว่า ในแต่ละช่วงของการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีแต่ละท่าน สถานการณ์ในแต่ละยุคต่างกัน หน้างานไม่เหมือนกันเลย เช่น ยุคก่อตั้งเป็นยุคที่รัฐบาลต้องการเพิ่มจำนวนบัณฑิตปริญญาตรีให้มากขึ้น เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่มหาวิทยาลัยของรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงให้ใบอนุญาตมหาวิทยาลัยเอกชนเพื่อเร่งสร้างนักศึกษาในระดับปริญญาตรีให้มาก แต่ในยุคต่อมา เป็นยุคที่มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างมาก และมีการให้ใบอนุญาตเปิดมหาวิทยาลัยมากขึ้นด้วย เป็นต้น

 

แม้บริบทจะต่างกัน แต่ ดร.แพรว ย้ำว่า อธิการบดีทุกคนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ความสำคัญไม่ต่างกันคือ ‘คุณภาพ’ ซึ่ง “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ถ้าบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่การแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยสูงขึ้น มันง่ายมากที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเสียจุดโฟกัส และนำไปสู่สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือนักศึกษาจบไปไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือประกอบอาชีพได้ กลายเป็นงูกินหางที่กลับมาทำลายพวกเรา”

 

“สิ่งที่จะทำให้ผู้ที่จบไปมีคุณภาพนั้นนอกจากความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้แล้ว Soft Skills ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้บรรจุเรื่องการสร้าง Soft Skills เข้าเป็นแกนหลักในการเรียนของนักศึกษา Soft Skills 6 ด้าน หรือ 6 DNA ของมหาวิทยาลัย คือ 1. ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ 2. ทักษะการทำงานเป็นทีม 3. ทักษะการสื่อสาร 4. ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา 5. ทักษะด้านการมีความคิดสร้างสรรค์ 6. ทักษะทางเทคโนโลยี และ DNA ที่เน้นมากที่สุดคือทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้คาดหวังว่านักศึกษาต้องจบไปทำธุรกิจ แต่ทักษะนี้พูดถึงเรื่องที่ว่า เห็นปัญหาต้องเข้าไปแก้ เห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ใช่เห็นปัญหาแล้วหลบ และพยายามเสนอในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานและสิ่งต่างๆ ที่เราทำอยู่”  

 

เด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง มหาวิทยาลัย (อาจ) ไม่จำเป็นอีกต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยในอนาคตคือ การที่เด็กเกิดน้อยลง และเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อาจทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยอีกต่อไป 

 

เรื่องนี้ ดร.แพรว มองว่าอาจมีให้เห็นบ้างในต่างประเทศ แต่ยังไม่ค่อยเห็นเท่าไรในเมืองไทย ที่เด็กจบมัธยมศึกษาจะไม่เรียนต่อ และเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองและหางานทำเลย 

 

ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

 

“ส่วนตัวมองว่านอกเหนือจากการเป็นที่พัฒนาบุคลากรของชาติแล้ว มหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น และเป็นกลไกที่สำคัญของสังคมในการเป็นสถานที่ให้นักวิชาการ ผู้มีความรู้ และความสนใจในสิ่งต่างๆ มารวมตัวกัน เพื่อทำงานวิจัย ค้นคว้าหรือพัฒนาศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ สร้างองค์ความรู้ใหม่โดยไม่มีกรอบจำกัดทางความคิด

 

“ในส่วนการเป็นสถานที่ที่ผลิตบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาตินั้น จริงอยู่ในบางสาขาวิชามีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าอาจไม่จำเป็นที่จะต้องได้ปริญญาจึงจะทำงานได้ดี เพียงแค่ได้เรียนรู้ ฝึกฝน ผ่านระดับวิชาชีพก็ทำงานได้ แต่ในอีกหลายสาขาวิชาก็ยังจำเป็นต้องผ่านกระบวนการในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยจะมีกระบวนการพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในการออกไปทำงาน การใช้ชีวิต 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ผู้จ้างงานน่าจะมั่นใจในระดับหนึ่งว่า นอกจากความรู้แล้ว คนคนนั้นมีมนุษยสัมพันธ์ที่ใช้ได้ มีวินัย และความอุตสาหะที่จะเรียนให้จบ คงจะช่วยผู้จ้างงานในการกรองผู้สมัครเข้าทำงานได้ในระดับหนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้ผ่านการหล่อหลอมตรงนี้ แต่มีความรู้อย่างเดียว คงไม่เพียงพอกับการทำงานในโลกที่ผันผวนและไม่แน่นอนในอนาคต

 

“มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถานที่เพิ่มทักษะต่างๆ นอกเหนือจากวิชาความรู้ ที่ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองในการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะอยู่ช่วงชีวิตไหนหรือการทำงานแบบไหน และกลายเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศไทยต่อไป” ดร.แพรวกล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising