ในระยะเวลาปีถึงสองปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในงานสำคัญครั้งไหนเราเชื่อว่าคุณจะต้องได้เห็นภาพของคนดังสวมชุดกูตูร์อลังการ พร้อมเครื่องประดับสุดเซอร์เรียลที่เป็นเอกลักษณ์ จนในที่สุดชื่อของ Schiaparelli (สเกียปาเรลลี) ก็ได้ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามอีกครั้งนับตั้งแต่แบรนด์ถือกำเนิดขึ้นมาโดย Elsa Schiaparelli ในปี 1927 ก่อนจะปิดตัวลงในปี 1954 พร้อมการชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งนับร่วม 60 ปี (ถึงแม้ว่าจะกลับมาทำในปี 2014 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็ตาม) โดย Daniel Roseberry ดีไซเนอร์ ชาวอเมริกัน ผู้พลิกชะตาทั้งตัวเขาเองจากดีไซเนอร์ว่างงาน สู่หนึ่งในดีไซเนอร์ที่น่าจับตามองที่สุดในโลกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน
An American in Paris
ภาพของอเมริกันชนที่จับพลัดจับผลูไปอยู่ในมหานครแห่งความฝันอย่างปารีส มักจะถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครที่ได้ไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ ชวนฝัน ราวกับความฝันที่กลายเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นมิวสิคัลเรื่องคลาสสิก An American in Paris เมื่อปี 1951 หรืออย่าง Carrie Bradshaw ที่แค่หันไปเจอหอไอเฟลจากระเบียงห้องพักของโรงแรม Hôtel Plaza Athénée ในตอน An American Girl in Paris: Part Une ของซีซันไฟนอล ซีรีส์ Sex and The City ก็เผลอกรี๊ดออกมาพลางกระโดดโลดเต้น และล่าสุดก็คงหนีไม่พ้น Emily จาก Emily in Paris ที่จิกกัดมุมมองความแฟนตาซีในสายตาของอเมริกันชนในปารีสได้อย่างแสบสัน
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างให้พอเห็นภาพว่าเมื่อเราพูดถึงคำว่า ‘American in Paris’ เราจะนึกถึงอะไร แต่นั่นก็ยังไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับวันที่ 1 กรกฎาคม 2019 เมื่อเหล่านางแบบเดินออกมาบนรันเวย์ในคอลเล็กชัน Haute Couture Fall Winter 2019/2020 พร้อมกับจิตวิญญาณของห้องเสื้อโอต์กูตูร์สัญชาติฝรั่งเศส Schiaparelli ที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับสปอตไลต์ที่สาดส่องไปที่ดาวดวงใหม่ของวงการ Daniel Roseberry ผู้เดบิวต์ด้วยการนั่งสเกตช์ภาพพร้อมหูฟังอยู่กลางรันเวย์ เป็นจุดศูนย์กลางของความคิดสร้างสรรค์และเรื่องราวของตัวเขา
Daniel Roseberry เดินทางจากการเป็นดีไซเนอร์ว่างงานอยู่นานหลายเดือน ทำได้เพียงนั่งสเกตช์แบบชุดในสตูดิโอเล็กๆ ในย่านไชน่าทาวน์ นิวยอร์ก สู่ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันผู้ปฏิวัติและสร้างสีสันให้แก่วงการกูตูร์แห่งฝรั่งเศส ที่ไม่เคยผ่านงานกูตูร์หรือแม้กระทั่งพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เขามีเวลาเพียง 63 วัน ในการเนรมิตทุกอย่างให้เกิดขึ้นหลังจากเข้ามานั่งเก้าอี้ตำแหน่ง Artistic Director ให้ห้องเสื้อในตำนานแห่งนี้
Daniel เกิดและโตในครอบครัวเคร่งศาสนาจากเท็กซัส ทั้งพ่อและพี่ชายของเขาเป็นบาทหลวง ทำให้วัยเด็กของเขาเกี่ยวพันกับศาสนาและมักจะใช้เวลาอยู่ในโบสถ์เป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันเขาผู้ชื่นชอบการวาดภาพมาโดยตลอดก็รู้ดีว่าการจะไปถึงความฝัน นิวยอร์กคือตัวเลือกเดียวเท่านั้น
เขาย้ายมานิวยอร์กและเข้าศึกษาที่ Fashion Institute of Technology ก่อนที่ในปี 2008 จะได้ร่วมงานกับแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่าง Thom Browne พร้อมกับตำแหน่ง Design Director ของเสื้อผ้าทั้งผู้หญิงและผู้ชายในช่วงห้าปีสุดท้ายก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกชนิดที่ว่ายังไม่มีแพลนจะทำอะไรต่อในปี 2019
เขาได้กล่าวในพอดแคสต์ Question The Self with Jedidah Jenkins ว่าสมัยที่เขายังอยู่ที่ Thom Browne เส้นทางการทำงานของเขาขับเคลื่อนและถูกผลักดันโดยบทวิจารณ์ ถึงขั้นว่าเขาลงมือเขียนบทวิจารณ์คอลเล็กชันในแบบที่เขาอยากจะให้เป็น เพื่อเป็นการกระตุ้นเป้าหมายในการทำงานรวมไปถึงเส้นทางชีวิตของเขา ที่ในเพียงไม่กี่ปีต่อมา เขาไม่ได้กลายเป็นเพียงดีไซเนอร์ที่คนแฟชั่นพูดถึง แต่ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่มุ่งความสนใจมายังสิ่งที่เขาทำ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนที่ ‘บ้าในแฟชั่นหรือหลงใหลในเสื้อผ้า’ เลยแม้แต่น้อย ตามคำบอกเล่าของเขาในพอดแคสต์ แต่สิ่งที่เขาชอบคือการสร้างจินตนาการให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
“คุณไม่จำเป็นต้องมีความแตกต่างถึงขนาดว่าเป็นเหมือนนกหายากใกล้สูญพันธุ์เลยก็ได้ สิ่งที่คุณต้องทำคือหาสิ่งที่คุณชอบ สิ่งที่ทำให้คุณเกิดอารมณ์ แล้วก็แค่พยายามทำให้สิ่งเหล่านั้นกลมกลืนหรือแม้แต่ก๊อบปี้ไปกับชีวิตของคุณ” เขากล่าว “ช่วงอายุยี่สิบกว่าๆ ตอนที่ยังทำงานกับ Thom Browne ผมคิดว่าตอนนั้นผมพอมองเห็นภาพและจินตนาการได้ว่าการเป็นหัวหน้าห้องเสื้อเป็นอย่างไร การเป็นคนที่ออกไปโค้งคำนับหลังจบโชว์ การเผชิญหน้ากับสื่อ หลายครั้งที่ผมเห็น Thom ออกไปหลังจบโชว์ ตอนนั้นผมก็คิดว่าผมน่าจะพอเข้าใจได้บ้างว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร แต่ความเป็นจริงแล้วผมไม่รู้อะไรเลย”
จากดีไซเนอร์ที่ประสบการณ์การทำเสื้อผ้าโอต์กูตูร์เป็นศูนย์ การย้ายประเทศ ย้ายทีม พร้อมกับประวัติศาสตร์ร่วมหลายสิบปีของแบรนด์ และแน่นอนกับความคาดหวังจากผู้คน ที่สุดท้ายแล้วผลงานเดบิวต์คอลเล็กชันกลับได้รับคำชมอย่างท่วมท้น รวมไปถึงจาก Tim Banks ซึ่งเป็น Editor-at-Large แห่ง Business of Fashion หนึ่งในนักวิจารณ์แฟชั่นในดวงใจของเขาที่กล่าวว่าผลงานเดบิวต์ของเขาคือ ‘Fashion Orgasm’
“ก่อนที่โชว์แรกของผมจะเริ่ม เพื่อนสนิทผม Hanya Yanagihara (ผู้เขียนหนังสือ A Little Life และบรรณาธิการแห่งนิตยสาร The New York Times Style Magazine) บอกผมว่า ‘อย่าอ่านคำวิจารณ์เด็ดขาด เพราะบทวิจารณ์ที่ดีจะไม่ดีพอสำหรับคุณ และบทวิจารณ์ที่แย่ก็จะหลอกหลอนคุณไปตลอด’ แต่สุดท้ายแล้วทุกบทวิจารณ์ทุกผลตอบรับผมอ่านหมด และกลับกลายเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้ผมรับรู้ถึงความรู้สึกและความเข้าใจของคนอื่นที่มีต่องานของผม ถ้าเป็นบทวิจารณ์ที่ออกมาแย่ ผมจะพยายามวิเคราะห์ว่ามาจากความผิดพลาดทางการสื่อสารของผมเอง หรือว่าคนเขียนบทวิจารณ์นั้นไม่ได้อยากที่จะเข้าใจงานของผม”
1927-2021: 94 Years In Between
นับตั้งแต่ Elsa Schiaparelli ดีไซเนอร์ชาวเยอรมนี ได้เปิดตัวแบรนด์ Schiaparelli ในปี 1927 พร้อมสเวตเตอร์ไหมพรมถักลายโบสีขาวจนกลายเป็นไอเท็มเด็ดและจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นและการสร้างชื่อของเธอ ซึ่งแม้ว่าตัวเธอจะจากไปตั้งแต่ปี 1973 แต่ตำนานสิ่งที่เธอสร้างสรรค์ไว้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน Daniel ได้กล่าวกับ Hamish Bowles แห่ง Vogue Runway ว่า เขาไม่ได้ต้องการทำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอีกครั้งให้เป็นความรู้สึกแบบ Nostalgic กับขุมทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์เกือบร้อยปีที่แล้ว แต่เขาต้องการพาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน โดยเฉพาะกับความหลงใหลใน Surrealism ที่เห็นได้ทันทีตั้งแต่การหยิบคู่สีที่ตรงกันข้ามกับ Shocking Pink เอกลักษณ์ของแบรนด์ และชุดเดรสผ้าไหมสีขาวพองสูงเหนือหัวราวกับว่านางแบบเพิ่งลุกขึ้นมาจากเตียงหรือไม่ก็กำลังลอยอยู่บนก้อนเมฆ
ความหลงใหลใน Surrealism จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เริ่มต้นขึ้นในปี 1934 ช่วงเดียวกับที่แบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Ultra-Modern Haute Couture’ ตั้งแต่ในยุคมัยนั้น พร้อมการร่วมงานกับศิลปินแนว Surrealism อย่าง Salvador Dali และ Jean Cocteau ที่เชื่อมต่อ Elsa กับศิลปะลัทธิเหนือจริง และทำให้แฟชั่นที่เป็นของชั่วคราวมาไวไปไวก้าวขึ้นไปอีกขั้น เป็นงานศิลปะชิ้นคลาสสิกให้เราได้ศึกษา รวมถึงตัวของ Daniel เองที่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้สิ่งที่ Elsa สร้างขึ้นมาเป็นพื้นฐานต่อยอดขึ้นไป ที่นับตั้งแต่เดบิวต์คอลเล็กชันของเขาสู่คอลเล็กชัน Spring/Summer 2022 ล่าสุดที่ “โลกของ Schiaparelli ยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น” เขากล่าวกับ British Vogue “การตอบรับจากผู้คนทำให้เราเหมือนเป็นจุดตรงกลางของความป๊อปคัลเจอร์และปารีเซียงคราฟต์”
Pop Culture and Parisian Craft
สิ่งที่ทำให้เห็นการตอบรับได้ดีที่สุดคือเหล่าคนดังที่ปรากฏตัวพร้อมกับผลงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น Beyoncé, Kim Kardashian, Michelle Obama, Cardi B, Adele, Tilda Swinton, Lizzo, Hailey Bieber, Zendaya และอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลุคในชีวิตประจำวันหรือพรมแดงของพวกเธอก็ตาม
รวมถึงการอยู่ร่วมหน้าประวัติศาสตร์เดียวกับเหตุการณ์สำคัญของโลกยุคปัจจุบันอย่าง Inauguration Day พิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ของ Joe Biden เมื่อต้นปี ที่ Lady Gaga ปรากฏตัวพร้อมกับชุดเดรสแขนยาวทรงแจ็กเก็ตสีกรมท่า ตกแต่งด้วยชายกระโปรงบานทำจากผ้าไหมสีแดงสด พร้อมกับเข็มกลัดนกพิราบสีทองประดับบนอก ซึ่งตัวเขาเองมีเวลาไม่ถึง 10 วัน หลังจากได้รับสายตรงจากทีมงานของ Lady Gaga ว่าต้องการให้เขาดีไซน์ชุดสำหรับเธอโดยเฉพาะ
“เป็นช่วงเวลาที่คุณไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลอย่างไรกับอาชีพของคุณ รวมทั้งกับแบรนด์ด้วย จนกระทั่งผ่านไปแล้วคุณถึงได้เริ่มเข้าใจ” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNN Style “ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดในช่วงชีวิตเลยก็ว่าได้”
แน่นอนว่าเมื่อพิธีดังกล่าวถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแต่สะท้อนความหวังใหม่ของโลกใบนี้ และที่สำคัญกับความสามารถของเขาที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้ว “การที่จะให้ผู้คนเข้าใจโลกของ Schiaparelli และงานของผมได้ดีที่สุดคือพรมแดง เพราะผู้หญิงทุกคนล้วนแต่เป็นผู้หญิงที่เซ็ตค่ามาตรฐานใหม่ของคัลเจอร์ในตอนนี้ ผมรู้ว่าอาจจะไม่ใช่การร่วมงานกับศิลปินอย่าง Dali แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในคัลเจอร์ สำหรับผมเองคิดว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ Elsa ทำในช่วงเวลาของเธอ” เขากล่าวในรายการ The Fashion Show with Suzy Menkes “คุณไม่ต้องมีอีโก้ที่มากมายอะไร เพียงแต่คุณต้องมีอีโก้ที่แข็งแกร่งมากพอ คุณต้องรู้ให้แน่ชัดว่าสิ่งที่คุณทำอยู่คืออะไร และคุณเป็นใคร”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำถามและการเปรียบเทียบผลงานยุครุ่งเรืองของแบรนด์โดย Elsa และเขาในปัจจุบัน มักจะถูกพูดถึงอยู่เสมอ ซึ่งเขาเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำถามนี้ได้แน่นอน พร้อมกับให้สัมภาษณ์กับรายการ Fashion Portrait ว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้สัญชาตญาณสูง ถ้าคุณพยายามคิดหรือวิเคราะห์มากเกินไปว่าอะไรคือ Elsa อะไรคือผม เพราะสำหรับผมแล้วมีแค่สัญชาตญาณที่ทำให้ผมรู้สึกคอนเน็กต์กับแบรนด์ ผมคิดว่าตัวผมคือผู้ที่มาร่วมคอลลาบอเรชันกับ Elsa”
คำตอบของ Daniel สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ผลงานของเขา ที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มว่าทุกสิ่งจะต้องสวยสะกด ทุกลุคสามารถขึ้นปกนิตยสารได้ จิวเวลรีทุกชิ้นจะต้องใหญ่และตะโกนให้คุณสนใจจนไม่สามารถละสายตาได้ อย่างเช่นคอลเล็กชัน Fall Winter 2021/2022 ทั้งสร้อยคอทรงปอดประดับด้วยไรน์สโตนที่ Bella Hadid ใส่เดินบนพรมแดงเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
หรือช่อดอกไม้ที่ทำจากทองเหลืองเป็นทรงคล้ายชุดเกาะอกที่ปรากฏพร้อมกับ Lorde บนหน้าปกนิตยสาร Vogue US ยิ่งตอกย้ำความชัดเจนของ Surrealism ที่เป็นดีเอ็นเอของแบรนด์อย่างแท้จริง เพราะแม้กระทั่งเครื่องประดับตั้งแต่ต่างหู สร้อยคอ แหวน กำไล ถุงมือ รวมไปถึงกระเป๋า ในคอลเล็กชัน Ready to Wear สรีระและอวัยวะของร่างกายมักจะถูกหยิบมาใช้อยู่เสมอ ทั้งดวงตา จมูก ฟัน หรือแม้แต่หัวนม ที่ล้วนแต่ถ่ายทอดมาจากความหลงใหลในสรีระของผู้หญิงในแบบสิ่งสวยงามปราศจากเรื่องเพศ เป็นอีกจุดเชื่อมต่อระหว่าง Elsa และ Daniel แน่นอนว่าผลตอบรับนั้นดีเกินคาด ทำให้ Schiaparelli ได้กลับไปเปิดบูติกที่ห้างสรรพสินค้า Bergdorf Goodman อีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงปี 1930s และในปี 2012 นับตั้งแต่ที่ Diego Della Valle นักธุรกิจชาวอิตาเลียนหันมาลงทุนชุบชีวิตแบรนด์ในตำนานนี้
Alternative Couture / Future of Fashion
หากคุณเห็นงานของ Schiaparelli ตอนนี้ คงสงสัยว่านอกจากเหล่าคนดังแล้วใครจะซื้อชุดของเขา คนแบบไหนจะซื้อต่างหูทรงจมูกมาใส่ในชีวิตประจำวัน เสื้อเบลเซอร์พร้อมเข็มขัดทรงซิกซ์แพ็ก การบาลานซ์ความคิดสร้างสรรค์กับการทำสิ่งที่ขายได้ สำหรับ Daniel แล้วไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อคุณสามารถผสานสองสิ่งนี้ได้ด้วยเป้าหมายเดียวที่จะกระตุ้นต่อมจินตนาการของผู้คนที่เห็น เล่นกับจิตวิญญาณความเชื่อของวงการแฟชั่นกับรูปแบบของโอต์กูตูร์ สิ่งที่เขาทำไม่ได้เพื่อความแมส สำหรับเขาคือการหาคัลท์ระหว่างสิ่งที่คนต้องการและสิ่งที่เขาต้องการ ดีไซเนอร์บางคนอาจจะเดินเข้าสตูดิโอพร้อมกับการยึดมั่นในความคิดของตัวเอง และไม่เสียเวลารอให้ใครมาบอกว่าอะไรสวยไม่สวย อะไรขายได้ไม่ได้ สำหรับ Daniel การเชื่อมต่อกับผู้คน การกระตุ้นต่อมจินตนาการให้เริ่มทำงาน คือสิ่งที่เขานึกถึงตลอดเวลา
Daniel กล่าวกับ Tim Blanks ในรายการ BoF LIVE ถึงอนาคตของวงการแฟชั่นในช่วงการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง สิ่งที่เขาว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือการที่วงการแฟชั่นต้องยอมรับว่าบางสิ่งที่พวกเขานำเสนอออกมานั้นมันช่างดูปิดหูปิดตาจากโลกภายนอกเสียเหลือเกิน สาเหตุที่วงการแฟชั่นนั้นหมกหมุ่นกับการคาดเดาอนาคตของตัวเองด้วยการตั้งคำถามว่าอนาคตของแฟชั่นจะเป็นเช่นไร ก็เพราะลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของทุกคนรู้ดีว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งความจำเป็น “คำถามเดียวที่ผมสนใจคือจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อความฝันของคุณเป็นจริงแล้ว เพราะสิ่งเดียวที่ผมรู้ก็คือคุณก็แค่ต้องหาความฝันใหม่ต่อไป นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของเราเท่านั้น”
อ้างอิง:
- www.schiaparelli.com
- www.businessoffashion.com/community/people/daniel-roseberry
- www.businessoffashion.com/reviews/fashion-week/a-fashion-orgasm-at-schiaparelli
- wwd.com/fashion-news/fashion-scoops/schiaparelli-permanent-store-bergdorf-goodman-cardi-b-lady-gaga-1234961727/
- www.vogue.com/article/schiaparelli-appoints-daniel-roseberry-artistic-director
- www.vogue.com/fashion-shows/fall-2019-couture/schiaparelli
- www.vogue.co.uk/news/gallery/schiaparelli-ss22
- edition.cnn.com/style/article/daniel-roseberry-schiaparelli-couture/index.html
- www.youtube.com/watch?v=_D9ngntbE9s
- www.youtube.com/watch?v=arLpCb9xr-4
- www.youtube.com/watch?v=5UJ9ROURmHI&t=103s
- open.spotify.com/episode/2TT6Bhhk9rH6wjKhfRJXg2?si=dd5a1c766a6f430d