×

ย้อนรอย ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ หนังจุดกระแส T-Wind ต่างแดน ก่อนฉายเปิดเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง

08.07.2022
  • LOADING...
2499 อันธพาลครองเมือง

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • 2499 อันธพาลครองเมือง เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่สร้างตามมาตรฐานระดับสากล จนได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทำรายได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ 70 ล้านบาท และจุดกระแส T- Wind ของภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ 
  • ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก จากผู้กำกับคนเดียวกัน ก็สร้างประวัติศาสตร์ทำเงินได้ถึง 150 ล้านบาท กู้วิกฤตศรัทธาของภาพยนตร์ไทยและเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ในปี 2546 ที่นอกจากจะกวาดรายได้ไปถึงหลักร้อยล้านบาทในเมืองไทยแล้ว ยังตระเวนฉายในต่างประเทศด้วย โดยขึ้นถึงอันดับ 14 ของบ็อกซ์ออฟฟิศ อเมริกา
  • ในปี 2545 ภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คว้ารางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ถัดจากนั้น 2 ปี ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด ก็คว้ารางวัล Prix du Jury นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลัก รวมทั้งภาพยนตร์อย่าง Wonderful Town ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ก็ได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถึง 18 แห่งทั่วโลก 

ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามสำหรับการเปิดเทศกาลภาพยนตร์ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ด้วยภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ต้องบอกว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะครั้งหนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เคยจุดกระแสให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคัก

 

ต้องบอกว่าภาพยนตร์ไทยมียุครุ่งเรืองและตกต่ำสลับกันไป ภาพยนตร์เรื่องไหนประสบความสำเร็จก็จะมีผู้สร้างภาพยนตร์แนวนั้นออกมาจนกลายเป็นความจำเจ ผู้เขียนจำได้ว่าในยุคหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท ในปี 2529 ประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศ หลังจากนั้นก็มีภาพยนตร์แนวปะ ฉะ ดะ ผัวๆ เมียๆ มาให้ดูไม่ขาดสาย จนกระทั่งในปี 2534 กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ จุดกระแสภาพยนตร์วัยรุ่นแนวกระโปรงบานขาสั้นของไทย จนมีผู้สร้างภาพยนตร์แนวนี้ออกมาจนเกร่อ ทำให้ภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ยุคตกต่ำจนแทบไม่มีภาพยนตร์ไทยออกฉายในโรงภาพยนตร์  

 

กระทั่งการมาถึงของ 2499 อันธพาลครองเมือง ผลงานการกำกับของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร สร้างจากบทประพันธ์เรื่อง เส้นทางมาเฟีย ของ สุริยัน ศักดิ์ไธสง เข้ามาฉีกกรอบภาพยนตร์วัยรุ่นแบบเดิมๆ ด้วยการเล่าเรื่องราวของแก๊งวัยรุ่นย้อนยุค โดยใช้นักแสดงใหม่ทั้งหมด ผลที่ออกมาคือภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จด้านรายได้ และสร้างกระแสให้คนดูในยุคนั้นไปค้นหาประวัตินักเลงแต่ละคนในเรื่อง รวมไปถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตูดิโอและผู้กำกับรุ่นใหม่ให้หันกลับมาสนใจภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง 

 

2499 อันธพาลครองเมือง

 

2499 อันธพาลครองเมือง เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่สร้างตามมาตรฐานระดับสากล จนได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทำรายได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ 70 ล้านบาท และจุดกระแส T- Wind ของภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ 

 

ช่วงนั้นกระแสภาพยนตร์ไทยเรียกได้ว่าคึกคักมากทีเดียว เพราะหลังจาก 2499 อันธพาลครองเมือง เพียง 2 ปี ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก จากผู้กำกับคนเดียวกัน ก็สร้างประวัติศาสตร์ทำเงินได้ถึง 150 ล้านบาท กู้วิกฤตศรัทธาของภาพยนตร์ไทยและเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง 

 

ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ในปี 2546 ที่นอกจากจะกวาดรายได้ไปถึงหลักร้อยล้านบาทในเมืองไทยแล้ว ยังตระเวนฉายในต่างประเทศด้วย โดยขึ้นถึงอันดับ 14 ของบ็อกซ์ออฟฟิศ อเมริกา ด้วยจำนวนฉายเพียง 361 โรง น้อยกว่าจำนวนโรงฉายของภาพยนตร์อันดับ 1 ถึง 10 เท่า ทำให้ องค์บาก กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่คนต่างชาติรู้จักมากที่สุดในยุคนั้น และในปี 2547 ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ก็กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินในเมืองไทย และขายลิขสิทธิ์ไปฉายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยทำรายได้ในสิงคโปร์ถึง 33 ล้านบาท ติดอันดับที่ 5 ภาพยนตร์ทำเงินช่วงที่ออกฉายในเกาหลีใต้ และขึ้นอันดับ 4 ที่บราซิล ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเปิดตลาดให้ทั่วโลกรู้จักเสน่ห์ของภาพยนตร์แนวผีไทย เป็นการกรุยทางให้ภาพยนตร์สยองขวัญของไทยในยุคต่อมา

 

นางนาก 

 

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ

 

องค์บาก

 

ขณะที่ภาพยนตร์นอกกระแสของไทยในยุคนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างดีบนเวทีการประกวดระดับนานาชาติ โดยในปี 2545 ภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คว้ารางวัล Un Certain Regard จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ถัดจากนั้น 2 ปี ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด ก็คว้ารางวัล Prix du Jury นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสายหลัก รวมทั้งภาพยนตร์อย่าง Wonderful Town ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ก็ได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถึง 18 แห่งทั่วโลก ทำให้ชื่อของภาพยนตร์ไทยกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์นอกกระแสของโลก และคว้ารางวัลใหญ่ได้จากหลายเวทีในเวลาต่อมา เรียกได้ว่าปี 2540-2550 เป็น T-Wind ภาพยนตร์ไทยลูกแรกในแวดวงภาพยนตร์ระดับนานาชาติ

 

Wonderful Town 

 

มาถึงในยุคหลังๆ ความสำเร็จจากภาพยนตร์ไทยที่ได้ฉายในต่างประเทศ ทำให้ผู้กำกับไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจของคนทำภาพยนตร์ระดับโลก อย่างเช่น บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จากความสำเร็จของ ฉลาดเกมส์โกง ก็มีโอกาสร่วมงานกับ หว่องกาไว ผู้กำกับชื่อดัง ที่มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุด One for the Road วันสุดท้าย…ก่อนบายเธอ, โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, พี่มาก..พระโขนง, แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ฯลฯ ก็ได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยได้ นาฮงจิน ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังของเกาหลีใต้ ร่วมเป็นโปรดิวเซอร์และผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศ เกาหลีใต้ 

 

ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่า 2499 อันธพาลครองเมือง เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ที่ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และฉีกกรอบเดิมๆ เข้าสู่ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่ และจากวันแรกที่ฉายจนกระทั่งผ่านมา 25 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กลับมาสร้างกระแสให้คนกรุงเทพฯ หันมาสนใจภาพยนตร์และหนังกลางแปลงอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising