×

ตำรวจไซเบอร์ตั้งฐานปราบอาชญากรรมออนไลน์ภาคเหนือ ขยายผลจับเครือข่ายเว็บพนัน เงินหมุนเวียน 274 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
14.05.2025
  • LOADING...
cyber-police-northern-thailand-crime-base

วันนี้ (14 พฤษภาคม) ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของ บช.สอท. ได้จัดการประชุมสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ 

 

เพื่อวางแนวทางการบริหารงานและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยประกาศความพร้อมในการเปิดที่ทำการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 (บก.สอท.4) ณ ที่ทำการแห่งใหม่ อำเภอแม่ริม ในวันพรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม) เพื่อยกระดับการรับมือภัยไซเบอร์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนรวม 17 จังหวัด

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า การจัดตั้ง บก.สอท.4 ในภูมิภาคนี้ เป็นไปตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เชิงรุก และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการของตำรวจไซเบอร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ

 

ในการแถลงข่าวเดียวกันนี้ ผบช.สอท. ได้เปิดเผยผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่นของตำรวจไซเบอร์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

 

  1. ทลายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ เจ้าหน้าที่ บช.สอท. ได้เข้าตรวจค้นและทลาย 3 เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ชื่อดังในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา จากการสืบสวนพบว่าเครือข่ายเหล่านี้มียอดเงินหมุนเวียนรวมกันกว่า 274 ล้านบาท มีสมาชิกจำนวนมาก และสามารถจับกุมผู้ต้องหาซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบ (แอดมิน) ได้หลายราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลติดตามผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

  1. ช่วยเหลือเหยื่อหลอกลวงตามโครงการ ‘ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน EP.5’ ตำรวจไซเบอร์สามารถติดตามและอายัดเงินคืนให้แก่อดีตข้าราชการบำนาญ วัย 77 ปี ซึ่งตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม จนสูญเสียเงินในบัญชีไปกว่า 8 แสนบาท โดยสามารถติดตามอายัดเงินคืนมาได้จำนวน 797,601 บาท และได้ส่งมอบคืนให้กับผู้เสียหายเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจับกุมเจ้าของบัญชีม้าที่เกี่ยวข้องได้

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ได้ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง 4 พฤติกรรมหลักที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวง คือ หลอกให้โลภ, หลอกว่ามีเวลาจำกัด, หลอกให้กลัว (โดยมักแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ), และหลอกให้อยู่คนเดียว พร้อมแนะนำว่า หากเผชิญสถานการณ์ที่เข้าข่ายพฤติกรรมเหล่านี้ ให้รีบปรึกษาคนใกล้ชิด หรือติดต่อสายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ผบช.สอท. ยอมรับว่าปัจจุบันมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีข้อมูลประชาชนจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรั่วไหลของข้อมูล และอาชญากรรมออนไลน์ได้กลายเป็นอาชญากรรมที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับกลุ่มอาชญากรทั่วโลก จากสถิติในปี 2567 พบว่ามีผู้เสียหายจากคดีออนไลน์เฉลี่ยสูงถึงวันละ 1,200 ราย และรูปแบบการหลอกลวงก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท. ไตรรงค์ เชื่อมั่นว่า การมีหน่วยงานในส่วนภูมิภาคอย่าง บก.สอท.4 จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถประสานงานกับผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเหยื่อได้ทันท่วงที 

 

พร้อมเน้นย้ำว่าตำรวจไซเบอร์เป็นหน่วยงานส่วนกลางที่พร้อมเป็นที่พึ่งและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานตำรวจอื่นๆ ในการรับมือกับอาชญากรรมพิเศษ เช่น ผู้มีอิทธิพลและการซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์

 

“ประชาชนต้องตระหนักรู้ว่าภัยอาชญากรรมออนไลน์เหมือนเชื้อโรค ท่านต้องป้องกันตัวเอง ถ้ารู้เท่าทันเราก็จะไม่เกิดความเสียหาย” ผบช.สอท. กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising