×

ไม่บังคับผู้โดยสารแจงของมีค่าก่อนบินไปนอก กรมศุลฯ แจง เจตนาอำนวยความสะดวก เตรียมแก้ประกาศให้ตรงเจตนารมณ์

08.03.2018
  • LOADING...

เรียกเสียงวิจารณ์สนั่นหวั่นไหว สำหรับ ประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 ซึ่งมีเนื้อหาสาระระบุให้ กรณีเดินทางออกนอกประเทศ หากจะนำของมีค่าออกไป เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากร

 

ร้อนถึงกรมศุลกากรต้องออกมาแถลงชี้แจงยืนยันว่า เนื้อหาสาระในประกาศดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติ

 

วันนี้ (8 มี.ค.) ชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานโฆษก แถลงข่าวชี้แจงว่า เนื้อหาของประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ

 

แต่วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่อาจมีสิ่งของต้องนำไปต่างประเทศ เช่น เพื่อนำไปแสดงนิทรรศการ หรือ เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ แล้วเกรงว่าหากนำของดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศอาจถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบและตั้งข้อสงสัยว่าของนั้นเป็นของที่เพิ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศและอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากร ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลายุ่งยากในการหาเอกสารหลักฐานประกอบคำชี้แจง

 

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรจึงมีบริการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถไปพบเจ้าหน้าที่ก่อนออกเดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้บันทึกสิ่งของนั้นไว้เป็นหลักฐาน

 

รองอธิบดีกรมศุลกากร เน้นย้ำว่า การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้บังคับผู้โดยสาร ไม่มีบทลงโทษผู้โดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือไม่ และโดยปกติที่ผ่านมาก็แทบไม่มีผู้โดยสารมาแจ้งอยู่แล้ว โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีเพียง 82 ราย เฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 10 ราย และคนที่นำมาแสดงให้ดูก็มักจะเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น กองถ่ายทำภาพยนตร์

 

“มาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการบังคับ ขึ้นอยู่กับว่าท่านคิดว่าสิ่งของที่นำออกไปเวลานำกลับมาจะมีปัญหาหรือไม่ เช่น หากท่านเป็นนักธุรกิจนำของไปขาย หรือไปจัดแสดง ซึ่งมีปริมาณเยอะ และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกเรียกตรวจ แนะนำว่าควรนำไปแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกเวลานำกลับเข้ามา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปพิสูจน์

 

ส่วนการใส่นาฬิกาหรือนำกล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก ไปเที่ยวต่างประเทศ ท่านไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะหลักปฏิบัติของเราไม่ได้มุ่งเน้นกับผู้โดยสารโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เราใช้หลักบริหารความเสี่ยงตามฐานข้อมูลในการสุ่มตรวจตามปกติ” รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าว

 

ส่วนประเด็นการซื้อของที่ Duty Free ขาออก เมื่อนำกลับเข้ามาในประเทศต้องดำเนินการตามกฎหมาย คือ สิทธิในการยกเว้นอากรตามกฎหมายกำหนดคือ ของนั้นมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20,000 บาท

 

ส่วน สุรา ไม่เกิน 1 ลิตร บุหรี่ ไม่เกิน 200 มวน ก็ได้รับการยกเว้น แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

 

สำหรับเนื้อหาสาระในประกาศที่ 60/2561 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 นั้น รองอธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า สาระสำคัญในประกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่เหตุที่ต้องนำมาออกเป็นประกาศกรมศุลกากรใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. กรมศุลกากร พ.ศ. 2469 ถูกยกเลิก โดย พ.ร.บ. กรมศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการยังมีผลในทางปฏิบัติจึง จึงต้องออกประกาศกรมฯ ฉบับดังกล่าวขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมศุลกากร ยอมรับว่า เนื้อหาในประกาศส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจผิด ขณะนี้ทางกรมฯ อยู่ระหว่างการปรับแก้ประกาศ ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเจตนารมณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะพยายามปรับแก้ให้เร็วที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising