×

ถ้าสหรัฐฯ-จีน เปิดศึกสงครามค่าเงิน Currency War ส่งผลอะไรต่อตลาดและนักลงทุน

โดย SCB WEALTH
07.08.2019
  • LOADING...
Currency War

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มเปิดฉากระลอกใหม่หลังการเจรจาไม่คืบหน้า และล่าสุดอาจลุกลามบานปลายกลายเป็น ‘สงครามค่าเงิน’ หรือ Currency War ที่หากเกิดขึ้นจริงจะสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ไปทั่วโลก
  • สงครามค่าเงินเป็นเรื่องที่น่ากลัว ส่งผลกระทบที่รุนแรงในวงกว้าง ซึ่ง SCBS ยังเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างอเมริกาและจีนคงยังไม่ถึงระดับสงครามค่าเงินเต็มรูปแบบ เพราะทรัมป์เองคงไม่ได้ต้องการจะชนกับจีนให้แหลกลาญกันไปข้าง ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัวรุนแรง และส่งผลถึงการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ในปีหน้าได้
  • ผลของการทำสงครามไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็มักจะต้องมีต้นทุนเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายเท่านั้นเอง 

หลังจากที่โลกสงบสุขมาพักใหญ่ๆ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มเขย่าโลกอีกครั้ง ด้วยสงครามการค้าระลอกใหม่กับจีนที่กำลังลุกลามจนอาจกลายเป็นสงครามค่าเงิน หรือ Currency War 

 

ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม 2562 ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังคึกคัก โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 เดือน แต่อยู่ดีๆ  ทรัมป์ก็ออกมาเขย่าโลกด้วยอาวุธคู่ใจของเขา นั่นคือการทวีตกล่าวหาว่าจีนไม่มีความจริงใจในการเจรจา โดยระบุในเนื้อหาว่า อะไรๆ ก็จะลงตัวแล้ว ข้อตกลงที่จะเซ็นกันก็ได้แล้ว แต่จู่ๆ จีนก็มาเปลี่ยนข้อตกลงในตอนท้าย หลังจากนั้นมาตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงกันทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 10%

 

นอกจากจะกดดันจีนในเรื่องของการค้าแล้ว ทรัมป์ยังกดดัน Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเรื่องที่ว่า ดอกเบี้ยในประเทศสูงเกินไป ทำให้แข่งขันได้ลำบาก ขณะเดียวกันเงินเฟ้อก็ไม่สูง และควรลดดอกเบี้ยลงมาได้แล้ว จนในที่สุดทาง Fed ก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาในการประชุมเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งหยุดการดูดสภาพคล่องออกจากระบบเร็วขึ้นสองเดือน 

 

แต่ผ่านไปได้เพียงหนึ่งวัน ทรัมป์ก็ทวีตว่า การเจรจาทางการค้าไม่ก้าวหน้าไปไหนเหมือนเดิม จีนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คงหวังจะไปเจรจาจริงจังหลังจากที่เลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ ในปี 2020 ดังนั้นเขาขอประกาศเลยว่า อเมริกาจะเก็บภาษี 10% ในสินค้ามูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนอีกครั้ง 

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการเป็นเงินสกุลหลักอันดับหนึ่งของโลก ที่ถูกมองว่ามีความปลอดภัยสูง ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทั้งจากธนาคารกลางจีนเอง และการตีความจากตลาดการเงิน ว่าผู้กำหนดนโยบายจะต้องทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษี และเรื่องนี้เองที่ทางทรัมป์กล่าวหาว่า “จีนแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนกว่าความเป็นจริง” เป็นการเอาเปรียบอเมริกา และดูเหมือนว่าอเมริกาจะหาทางตอบโต้อีก โดยอาจใช้การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกรงว่า พัฒนาการของความขัดแย้งจะนำไปสู่สงครามค่าเงิน ดั่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

ค่าเงินอ่อนแล้วดีอย่างไร

หลายประเทศพยายามดำเนินนโยบายทำให้เงินตัวเองอ่อน เพื่อทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวดีขึ้น ส่งผลให้ตัวเลข GDP ดูดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวียดนาม ที่การส่งออกขยายตัวจนปัจจุบันยอดส่งออกสูงกว่าไทยแล้ว และยังสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อย่างมากมาย

 

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนถือว่ายกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเครื่องมือที่อเมริกาใช้มาตลอดคือ กำแพงภาษี ที่ทำให้สินค้าจากจีนแพงขึ้น ส่วนจีนก็โต้กลับโดยใช้วิธีปรับค่าเงินให้อ่อนค่า เพื่อลดผลกระทบจากกำแพงภาษี ทำให้ทรัมป์ไม่พอใจ และมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า อาจจะนำไปสู่สงครามค่าเงิน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จะส่งผลกระทบอะไรบ้างมาดูกัน

 

ผลกระทบ 1: ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูงขึ้น กระทบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้ากับจีน ทั้งนี้ การที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าผ่านระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่มีผลต่อจิตวิทยาตลาดมาก เพราะเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดมา 11 ปีแล้ว การที่จีนยอมปล่อยให้ค่าเงินหยวนผ่านระดับนี้ไป ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งให้เห็นว่า ทางจีนก็พร้อมจะตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม จีนก็จะไม่ปล่อยให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนจนเกินไป เพราะจะไปกระทบกับส่วนอื่นๆ เช่น ความกังวลว่าค่าเงินจะอ่อนค่าเร็ว นำไปสู่การเทขายค่าเงินหยวน และส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรง (ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ตลาดหุ้นจีนลดลงไปแล้ว 6%) 

 

ทั้งนี้ หลังจากที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเกิน 7 หยวนต่อดอลลาร์ PBoC หรือธนาคารกลางจีน ก็ออกมาระบุว่าจะควบคุมไม่ให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเงินกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าช่วยลดความกังวลของตลาดการเงินได้บ้าง ส่งผลให้วานนี้ ( 6 ส.ค.) ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ตอบรับในเชิงบวกโดยฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกท่านติดตามต่อไป เพราะล่าสุด (ช่วงเช้าวันที่ 8 ส.ค.) ค่าเงินหยวนยังคงเคลื่อนไหวเกิน 7 หยวนต่อดอลลาร์

 

ผลกระทบที่ 2: เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวแรงขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีโอกาสขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางด้านสหรัฐฯ ก็ตอบโต้ออกมาอย่างหนักหน่วงโดยกล่าวหาว่าจีนเป็นประเทศที่เข้าไปบิดเบือนค่าเงินหรือ Currency Manipulation เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ส่งผลต่อปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ทำให้หลายฝ่ายกลัวว่าสงครามการค้าจะยกระดับขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

 

ผลกระทบที่ 3: ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องลดดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าที่เคย เพื่อช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้ตลาดการเงินผันผวน ขาดเสถียรภาพ สร้างความเสี่ยงการเกิดฟองสบู่ 

 

แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าสหรัฐฯ จะใช้วิธีกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าจนเกินไป มากกว่าจะใช้วิธีบริหารค่าเงินทางตรงผ่านกองทุน Exchange Stability Fund ที่ไม่ได้มีเงินในกองทุนมากนัก (ประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์) และการแทรกแซงค่าเงินโดยตรงจะส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ผลกระทบที่ 4: ตลาดหุ้นโลกผันผวน โดยระยะสั้น ตลาดหุ้นมักจะได้รับประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจากเงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น รวมถึงการที่ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงส่งผลบวกต่อผลกำไรของภาคธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ รวมถึงราคาทองคำที่มักจะปรับตัวขึ้น เพราะระดับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่น่าจูงใจสำหรับผู้ฝากเงิน ส่วนในระยะยาวตลาดหุ้นจะปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนย่อมมีบางประเทศที่ได้รับประโยชน์ และบางประเทศเสียประโยชน์ แต่โดยส่วนใหญ่ผลของการทำสงครามไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็มักจะต้องมีต้นทุนเสมอ อยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายเท่านั้นเอง 

 

ย่างก้าวของจีนในการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ถือว่าทำได้อย่างสุขุม ทั้งเรื่องศิลปะในการปรับค่าเงิน การประกาศให้เห็นแผนของการดูดสภาพคล่องเพื่อให้ตลาดเห็นว่าไม่ได้ต้องการจะทำให้ค่าเงินอ่อนมากอย่างที่กังวล การตอบโต้ก็ไม่ได้รุนแรงมาก แค่ประกาศไม่ซื้อสินค้าเกษตรจากอเมริกา ซึ่งก็แทบไม่ได้ซื้ออยู่แล้ว ไม่ได้ตอบโต้โดยวิธีเพิ่มกำแพงภาษีกลับต่อสินค้าอเมริกา

 

สงครามค่าเงินเป็นเรื่องที่น่ากลัว ส่งผลกระทบที่รุนแรงในวงกว้าง ซึ่ง SCBS ยังเชื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างอเมริกาและจีนคงยังไม่ถึงระดับสงครามค่าเงินเต็มรูปแบบ ยังอยู่ในระดับอ่อนๆ และทรัมป์เองก็คงไม่ได้ต้องการจะชนกับจีนให้แหลกลาญกันไปข้าง ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัวรุนแรง และส่งผลถึงการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ในปีหน้าได้

 

บทเรียนสงครามค่าเงินในอดีต

ในอดีตเคยเกิดสงครามค่าเงินขึ้นหลายครั้ง หนึ่งในครั้งที่เป็นกรณีศึกษาและมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เมื่อราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา

 

ในอดีตช่วงทศวรรษ 80 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในช่วงนั้นค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในระดับที่ 300-350 เยนต่อดอลลาร์ ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าจากอเมริกามหาศาล อุตสาหกรรมต่างๆ ในอเมริกาอ่อนแอลง 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ ที่ทั้งดีกว่าและถูกกว่าสินค้าของอเมริกา จนนำไปสู่ข้อตกลงพลาซ่าหรือ Plaza Accord ที่เป็นข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลักหรือ G5 ในยุคนั้น ที่ประกอบไปด้วย อเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีตะวันตก โดยใจความสำคัญของข้อตกลงนี้ คือให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตกเพิ่มค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

สิ่งที่ตามมาคือ ค่าเงินดอลลาร์ลดลง 51% เมื่อเทียบกับเงินเยน เศรษฐีญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นจึงทำการซื้อกิจการ และอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาเป็นว่าเล่น 

 

แต่ผลกระทบในระยะยาวก็หนักหน่วง สินค้าของญี่ปุ่นดูแพงขึ้นมากในสายตาชาวโลก สินค้าของอเมริกาสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ กำไรของอุตสาหกรรมการผลิตแย่ลง ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่น ไทยเองก็เป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะการลงทุนเริ่มย้ายจากธุรกิจพื้นฐานอย่างการผลิตไปสู่ธุรกิจด้านการเงินผ่านการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ พอฟองสบู่แตกก็ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซายาวถึง 20 ปีหรือที่เรียกกันว่า 2 ทศวรรษที่หายไป

 

จะเห็นได้ว่า สงครามค่าเงินเมื่อครั้ง Plaza Accord เป็นสงครามที่ไม่มีการยิงขีปนาวุธออกมาแม้แต่ลูกเดียว แต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 

 

ญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตกคือประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองทั้งคู่ ทั้งสองประเทศถูกควบคุมในหลายๆ เรื่องจนไม่อาจหลีกเหลี่ยงการปรับค่าเงินให้แข็งไปได้ เยอรมนีตะวันตกยังโชคดีที่หลังจากนั้นไม่นานม่านเหล็กแห่งโซเวียตได้พังทลายลง ส่งผลให้เกิดการรวมประเทศกับเยอรมนีตะวันออก การเปลี่ยนมาใช้นโยบายตลาดเสรีแทนที่คอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนได้ แต่ญี่ปุ่นไม่มีโชค ส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดยาว และต้องย้ายฐานการผลิตมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ณ วันนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนถือว่ารุนแรงในระดับหนึ่ง แต่จีนคือเบอร์สองของโลก และไม่สามารถเข้ามาควบคุมได้เหมือนกับญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตกในอดีต 

 

ความตึงเครียดของความขัดแย้งคงจะขึ้นๆ ลงๆ เป็นระลอก แต่ก็สร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้พอสมควร 

 

หลายๆ บริษัทเริ่มวางแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต SCBS คาดการณ์ว่า ภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทางด้านกลุ่มประเทศในเอเชียใต้อย่าง บังกลาเทศ ปากีสถาน รวมถึงอินเดีย ก็น่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X