“อั๊วๆ” – “ลื้อๆ”
คือสรรพนามใช้เรียกแทนกันระหว่าง ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์ และ ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ ที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่สำหรับพวกเขา มันเป็นคำใช้เรียกแทนมิตรภาพที่เดินทางมายาวนานกว่า 40 ปี คุ้นเคยกันทั้งในแง่ของความเป็นเพื่อนร่วมคณะ เพื่อนร่วมรุ่น ไปจนถึงเพื่อนร่วมงาน ที่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเชื่อมโยง เกื้อหนุน และเติมเต็มกันด้วย ‘ดนตรี’
คุณเชื่อไหมว่านักดนตรี ‘ข้างใน’ ไม่เคยแก่ ถ้ายังไม่ค่อยแน่ใจ THE STANDARD เชื่อว่านักดนตรีระดับตำนานอย่าง ปั่น, แต๋ม และตุ่น น่าจะเป็นตัวแทนพิสูจน์เรื่องนี้ได้ดี เพราะเกือบสองปีที่พวกเขากลับมาเล่นดนตรีด้วยกันอีกครั้งในชื่อ ดึกดำบรรพ์ Boy Band โดยเริ่มต้นจากการนัดซ้อมเล็กๆ ด้วยกันหวังสนุก แล้วอัพคลิปง่ายๆ ลงยูทูบ พัฒนาเป็นไลฟ์สดทางโซเชียลมีเดีย ล่าสุดกลายเป็นว่าพวกเขาเพิ่งจะมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก เพราะสำหรับเรา นอกจากพวกเขาจะเป็นบอยแบนด์ที่ (น่าจะ) รุ่นใหญ่ที่สุดของวงการ แต่การดำรงอยู่ของพวกเขาในฐานะนักดนตรียังทันสมัย ทันโลก เกินชื่อ ‘ดึกดำบรรพ์’ ไปเยอะเลย
เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นความคิดที่อยากจะกลับมารวมตัวกันในชื่อวง ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ หน่อยสิครับ ว่านักร้องและโปรดิวเซอร์ระดับตำนานคิดอะไรกันอยู่
ตุ่น: ทุกอย่างเริ่มต้นจากช่วงที่ผมกำลังจะมีคอนเสิร์ตของตัวเองชื่อ ‘รักนิรันดร์’ ซึ่งก็ตั้งใจไว้ว่าอยากจะชวนคนที่รัก ที่ชอบพอกัน หรือคนเคยทำงานด้วยมาเป็นแขกรับเชิญ ซึ่งก็ร่วมถึงปั่นและแต๋มที่เป็นทั้งเพื่อนและเคยร่วมงานกันมา ตอนนั้นเราคุยกันประมาณว่า ถ้า ‘แขกรับเชิญ’ มาร้องกันคนละเพลงมันก็จะธรรมดา ผมเลยตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ให้เพื่อนทั้งสองคนมาร่วมเล่นโฟล์กซอง แล้วร้องเพลงด้วยกันสัก 2-3 เพลงในคอนเสิร์ตนั้น
แต๋ม: ทำงานด้วยกันมา 30 ปี วันหนึ่งพอเราอายุมากขึ้น มันน่าจะ back to the origin กลับมาทำงานด้วยกันอีกครั้ง แล้วบังเอิญว่าตุ่นเขากำลังจะมีคอนเสิร์ตพอดี เราเลยตัดสินใจว่าน่าจะกลับมารวมตัวกันทำอะไรสนุกๆ ตามประสาคนมีอายุร่วมกันสักหน่อย แล้วบังเอิญโชคดีว่าพวกเรามีเพลงของตัวเองกันอยู่เยอะ ปั่นเขาก็มีเพลงฮิต ผมเองก็มีเพลงส่วนหนึ่งซึ่งฮิต ส่วนตุ่นเขาก็มีเพลงที่แต่งไว้แล้วเป็นเพลงฮิตอยู่เยอะแยะ อีกอย่างคือตุ่นเนี่ย เขามีวิธีการทำเพลงที่จะไม่ให้ซ้ำกับสิ่งที่ตัวเองทำมา เพราะเราเบื่อความซ้ำๆ ซากๆ ถ้ากลับมารวมกันก็น่าจะทำอะไรใหม่ มีการร้องแบบใหม่ มีการเรียบเรียงใหม่ การใช้คอร์ดแบบใหม่ พอคิดได้แบบนี้ เฮ้ย มันดีว่ะ ทุกอย่างมันมีความเป็นไปได้ให้เรากลับมารวมตัวกันทำงานตรงนี้ขึ้นมา
ตุ่น: ส่วนที่มาที่ไปของชื่อวง เกิดจากในคอนเสิร์ตนั้นมีช่วงหนึ่งที่ธีร์ ไชยเดช เป็นแขกรับเชิญให้ผมด้วย แล้วพอถึงช่วงที่ผมจะต้องเชิญคุณปั่น ไพบูลย์เกียรติ กับชรัส เฟื่องอารมย์ ขึ้นมาบนเวทีในช่วงของเขา แต่ถึงเวลาพอประกาศไปแล้ว เอ… สองคนนี้เขาก็ไม่ขึ้นมาสักที เราหันไปมองข้างเวที เห็นเขายังทำตัวช้าๆ กันอยู่ ผมเลยหลุดปากออกมาเองว่า “พวกเราเนี่ยเป็นพวกดึกดำบรรพ์ จะทำอะไรก็เลยช้า เอาล่ะ ขึ้นเวทีกันมาได้แล้ว”
ตอนนั้นเราพูดขึ้นมาแบบไม่ได้คิดอะไร แต่พอผ่านไปอีกวัน ซึ่งเป็นวันแสดงคอนเสิร์ตของธีร์ ไชยเดช เขาเองก็เชิญผมไปดู ระหว่างที่ร้องเพลง ธีร์เขาก็เล่าเรื่องให้คนฟังไปเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งเขาก็เล่าว่าเมื่อวานไปดูคอนเสิร์ต ‘รักนิรันดร์’ ของพี่ตุ่น พนเทพ ช่วงที่เขาชอบมากที่สุดคือช่วง ‘ดึกดำบรรพ์’ ผมนั่งฟังอยู่ตรงนั้นแล้วก็รู้สึกตามว่ามันเป็นชื่อที่ดีเหมือนกันนะ คือพูดแล้วมันเห็นภาพ…
แต๋ม: เหมือนเป็นคำประชดว่าเราเป็นพวกดึกดำบรรพ์ (หัวเราะ)
ตุ่น: หลังจากวันนั้น ผมเลยเก็บมาปรึกษากับเขาสองคนว่า ธีร์พูดชื่อ ‘ดึกดำบรรพ์’ ในคอนเสิร์ต ความหมายมันดีเหมือนกันนะ ถ้างั้นเราลองมาเล่นดนตรีกันดูไหม ส่วนตอนหลังปั่นเขาคิดว่าน่าจะเติมคำว่า ‘บอยแบนด์’ เพิ่มเข้ามา เหมือนประชดชีวิตพวกเรากันเอง
แต๋ม: เหมือนว่าพวกเรายังมีไฟอยู่ คำว่า ‘บอยแบนด์’ เป็นภาพของวงวัยรุ่น หล่อๆ คือพวกเราก็หล่อๆ เหมือนกัน แต่อาจจะแก่ๆ หน่อย (หัวเราะ)
ปั่น: ไม่หรอก ความจริงแล้วที่ผมเติมคำว่า ‘บอยแบนด์’ เข้าไป เพราะคิดถึงเรื่องราวของเราตอนเป็นวัยรุ่นที่ชอบเล่นดนตรีเหมือนกันมาตั้งแต่เด็กๆ จนยาวนานมาถึงวันนี้ ถ้างั้นก็น่าจะมีคำว่าบอยแบนด์ต่อท้าย โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เหมือนกับวงบอยแบนด์ของคนอื่น
ตุ่น: เราเอาชื่อ ‘ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์’ ไปให้หมอดูดวงด้วยนะครับ
เขาก็บอกมาว่า เออ ก็ดี รวมๆ แล้วเป็นมงคล
ปั่น: ไม่หรอก บังเอิญมันอยู่ใกล้บ้าน หมอดูเขาเป็นน้องชายของตุ่น (หัวเราะ)
พอคนเริ่มสนใจ เริ่มเข้ามาดูไลฟ์สด และติดตามเพิ่มมากขึ้น เราเองก็ต้องพัฒนาโชว์ของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะกลัวว่าเดี๋ยวคนจะบอก โอ้ย! พวกมันแก่แล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรเลย
ได้ชื่อวงที่ชอบมาแล้วยังไงต่อ นัดรวมตัวกันซ้อมเลยดีไหม
ปั่น: ส่วนใหญ่ตุ่นเขาเป็นคนคิดครับ ด้วยความที่เขาเป็นนักแต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าเพลงไหนเหมาะที่เราจะร้องเล่นกันได้ เพลงไหนน่าจะมีลิขสิทธิ์อยู่กับใคร จับต้องได้หรือเปล่า
ตุ่น: คอนเซปต์จริงๆ ของของวงดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ คือเราจะนำเพลงที่เราแต่งเองในอดีตมาเรียบเรียงใหม่ ร้องใหม่ ในแบบฉบับของเราสามคน
ปั่น: มันเริ่มจากพอเราซ้อม แล้วเอาคลิปตอนซ้อมไปลงในยูทูบ แล้วมีคนเข้ามากดไลก์ ได้ดูยอดวิวผ่านทางช่องทางต่างๆ มันเลยเป็นกำลังใจให้เราทำกันต่อ
ตุ่น: ครั้งแรกมันสนุกจริงๆ ด้วยความที่ปั่นเขามีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งวันนั้นพวกเราทุกคนว่าง ผม ปั่น กับแต๋มเขาก็ชวนพรรคพวก เพื่อนฝูง ถือกีตาร์ ตั้งเครื่องเสียงเล็กๆ ไปนั่งล้อมวงแล้วลองเล่นกีตาร์ ร้องเพลง ‘รักนิรันดร์’ ด้วยกันตรงระเบียง หลังจากนั้นก็เอาคลิปไปลงในยูทูบเป็นคลิปแรกๆ แล้วอยู่ๆ วงดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ มันก็เริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มีการไลฟ์สด มีคอนเสิร์ตตามมา
แต๋ม: ตอนแรกเนี่ย เพลงเราก็ทำไลน์ประสานกันธรรมดาก่อน แต่พอผ่านไปสัก 1 ปี มันก็เริ่มพัฒนา ตุ่นก็ช่วยคิด ปั่นก็ช่วยคิด ทุกอย่างมันประสานกันจนดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราเริ่มจากถ่ายคลิป แล้วเดี๋ยวนี้มันมีการไลฟ์สด เราก็ค่อยๆ เพิ่มเติมการประชาสัมพันธ์ นำเสนอเพลงของเรากลับไปสู่โลกได้อีกครั้ง
ตุ่น: ความจริงแล้วผมก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกันที่เราทำกันต่อมาได้จนถึงวันนี้ (หัวเราะ) เพราะตอนแรกแค่คิดเล่นๆ จากการจัดปาร์ตี้ที่บ้านปั่นเท่านั้นเอง ตอนนี้จากที่เล่นสนุกๆ ก็ชักไม่สนุกแล้ว เพราะพอเริ่มมีฟีดแบ็กที่ดีมาเยอะๆ เริ่มมีคนอยากให้เราไปเล่นที่โน่นที่นี่ เริ่มมีคนติดต่ออยากจะทำคอนเสิร์ตใหญ่ให้ เฮ้ย แบบนี้เราจะคิดแค่เล่นๆ ไม่ได้แล้วนะ เราเริ่มต้องจริงจัง เป็นทางการขึ้นโดยไม่รู้ตัว
แต๋ม: ผมว่ามันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ พอคนเริ่มสนใจ เริ่มเข้ามาดูไลฟ์สด และติดตามเพิ่มมากขึ้น เราเองก็ต้องพัฒนาโชว์ของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะกลัวว่าเดี๋ยวคนจะบอก โอ้ย! พวกมันแก่แล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรเลย (หัวเราะ)
คลิปต้นกำเนิด ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์
ความจริงนอกจากจะเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง พอถึงยุคทำงานเพลงก็ทำงานร่วมกันอีก ตรงนี้ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้ยิ่งง่ายที่จะกลับมาเจอกัน
ตุ่น: ใช่ๆ พวกเราเรียนมาด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน แล้วก็ทำงานด้วยกัน อีกอย่างคือพวกเราเกิดปีเดียวกันหมดเลยนะทั้งสามคน (ปี 2494)
ปั่น: เอาอย่างนี้ดีกว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดปีแรกปีอะไร เราก็รู้จักกันปีนั้น (2514) ส่วนเรื่องงานเพลง ตุ่นเขาเป็นคนทำให้พวกผมมีชื่อเสียงจากผลงานการแต่งเพลงและเป็นโปรดิวเซอร์ของเขา
ถ้า ‘แคปเจอร์’ มิตรภาพในวันแรกๆ ที่รู้จักกันมาเล่าให้ฟัง มีภาพสักภาพที่จะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม อยากได้ฟีลมิตรภาพแบบดึกดำบรรพ์สักหน่อย
ปั่น: พวกเราเป็นพวกที่ไปเรียนหนังสือ แต่ไม่ค่อยได้เรียน คือชอบแต่จะร้องเพลง จับกลุ่มกันเล่นกีตาร์ตามซุ้มต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แล้วก็คอยดูว่าเดี๋ยวมันจะมีปาร์ตี้วันไหน
ตุ่น: ม. รามคำแหงรุ่นแรกเนี่ย นักศึกษาจะมากันจากหลายที่ อย่างปั่นหรือแต๋มเนี่ย ผมก็ไม่เคยรู้จักเขามาก่อน
ปั่น: ไม่ใช่มีแค่เราสามคนนะครับ แต่ในนั้นยังมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบดนตรีเหมือนกัน แล้วเราก็อยู่ด้วยกันในกลุ่มนั้น คือเป็นพวกที่แต่งตัวไม่เหมือนใคร เรามันเป็นไอ้พวก Mod ไอ้พวกใส่กางเกงขาบาน ส้นตึก ไว้ผมยาว ดูจิ๊กโก๋ (Mod มาจากคำว่า Modernism เป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่นอังกฤษในยุค 50s)
ตุ่น: พอเปิดเทอม ถึงเวลาคนพวกนี้มันก็จะไหลมารวมกัน คือพวกที่ชอบเรียนหนังสือเขาก็จะไปรวมกัน ส่วนพวกไม่ชอบเรียน ชอบเล่นดนตรี มันก็ไหลมารวมกัน
ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
แต๋ม: ยุคนั้นต้องเอลวิสใช่ไหมวะ
ตุ่น: ไม่หรอก ระหว่างผมกับปั่นเนี่ย ผมนึกถึงวันที่เข้าไปเรียนห้องเดียวกันครั้งแรก อย่างที่เล่าให้ฟังว่ากลุ่มที่เป็นนักดนตรี เวลาไปกินข้าว เราก็จะไปด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นก๊วน ตอนนั้นผมสนิทกับแต๋มก่อน ส่วนปั่นเราเริ่มต้นจากการเห็นหน้ากันในก๊วนนั้น แต่ไม่เคยคุยกันเลย
จนกระทั่งวันหนึ่งผมจะเข้าไปเรียน (ทำท่าประกอบให้ดู) เราเดินมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ปั่นเองก็เดินมาจากอีกฝั่งตรงข้าม อารมณ์เหมือนคนดวลปืนกันในหนังคาวบอย เราเดินมาเจอกันตรงหน้าประตู แล้วปั่นเขาก็ชวนเข้าไปนั่งเรียนด้วยกันสองคน พอเลิกเรียนวันนั้น เราต้องนั่งรถเมล์ไปทางเดียวกัน บ้านผมอยู่สะพานควาย ส่วนบ้านปั่นอยู่ลาดพร้าว ระหว่างที่นั่งอยู่ ปั่นเขาก็พูดขึ้นมาว่าเย็นนี้ผมไปเที่ยวบ้านคุณได้ไหมครับ ผมได้ยินก็คิดว่า เฮ้ย อะไรวะ (หัวเราะ)
ปั่น: มันอาจจะเป็นด้วยเรื่องของรสนิยมอะไรหลายๆ อย่าง การแต่งตัว การไว้ทรงผม คือคนมันเทสต์เดียวกัน
แต๋ม: อีกอย่างสมัยก่อน ถึงเวลาเลิกเรียนมันก็ต้องไปบ้านเพื่อน เพราะมันยังไม่มีที่ทางให้เจอกันมากเหมือนสมัยนี้
ปั่น: แล้วสมัยก่อนนี่นะ เรามีวงดนตรี เราเล่นกันแล้วก็ไม่รู้จะไปปล่อยของที่ไหน ก็ต้องไปปล่อยของตามบ้านคนรวยเวลาเขาจัดปาร์ตี้
ตุ่น: สังคมคนดนตรีในยุคนั้นเราจะรู้จักกันหมด เหมือนอย่างคนดนตรีในยุคแรกๆ ของแกรมมี่ ความจริงเรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็กทั้งหมดเลย เราเล่นดนตรีมาด้วยกัน มองหน้าก็รู้แล้วว่าไอ้นี่มาจากวงโน้น ไอ้นี่มาจากวงนี้ อย่างเต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) เมื่อก่อนเขาก็มาซ้อมที่บ้านผมเหมือนกัน
ปั่น: อย่างตัวผมเอง ไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นนักร้องอาชีพเลย ผมแค่ชอบสนุก ชอบเล่นดนตรี ชอบร้องสนุกกันเองกับเพื่อนในวง ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาเดินในเส้นทางนี้ ส่วนแต๋มเนี่ยเป็นคนชอบเขียนเพลงมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนชอบฟังเพลงฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไร อยู่มหาวิทยาลัยก็แต่งเพลงเอง ร้องเอง แต๋มเขาไปเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองนอก จากนั้นกลับมาทำงานแบงก์ แต่ก็ยังทำงานเพลงของมันเรื่อยๆ
แต๋ม: ตอนนั้นผมได้เจอกับไพโรจน์ สังวริบุตร เขาชวนไปทำเพลงกับคุณระย้า (ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร อดีตดีเจชื่อดังจากรายการวิทยุ Music Train ต่อมาเปิดค่ายเพลงชื่อ รถไฟดนตรี) เขาก็เลยชวนไปแต่งเพลง ทำงานเพลง พอทำแล้วก็ได้ใจ ตอนนั้นผมทำอัลบั้มชุดที่ 1-2 เสร็จ มีโอกาสได้เจอปั่น ผมก็ชวนปั่นมาทำงานเพลงด้วยกัน
ตุ่น: สองคนนี้เขาชอบเพลง ชอบดนตรี เขาก็เล่นอะไรของเขาไป แต่เขาไม่ได้เล่นเพื่อเป็นอาชีพ ส่วนผมคิดว่า กูไม่เอาแล้วการเรียน อยากจะออกมาลุยเล่นดนตรีอาชีพเพื่อหาสตางค์ ตอนนั้นตั้งใจว่าจะเก็บเงินเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก แล้วแต๋มเองเป็นคนที่เจ๊าะแจ๊ะเก่ง (หัวเราะ) เขาเลยฝากผมให้ไปเล่นดนตรีอยู่กับพรรคพวกที่เล่นดนตรีอาชีพแถวคลองเตย แล้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็เล่นดนตรีเป็นอาชีพมาตลอด
ภาพจำของ แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์ ล่ะ
ปั่น: หัวฟู ใส่แว่น
ตุ่น: ในความทรงจำของผม แต๋มจะหัวฟู ใส่แว่น โวยวาย เขาเป็นคนชอบแต่งเพลง แล้วก็ร้องโชว์โดยไม่อายใคร ส่วนผมจะอายมาก ทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ แล้วพรรคพวกเดียวกันที่รามคำแหงในรุ่นนั้น ทุกคนก็จะร้องเพลงของแต๋มได้หมด
ฉะนั้นพอวันหนึ่งเห็นแต๋มเป็นศิลปินก็คงไม่แปลกใจเลย
ตุ่น: ไม่แปลกใจ เพราะเขามีพรสวรรค์ เขาชอบแต่งเพลง แต่งเสร็จแล้วก็เอาไปร้องให้คนอื่นฟังได้โดยไม่อายเนี่ย มันต้องมีอะไรแล้วล่ะ (หัวเราะทั้งวง)
มีช่วงหนึ่งสมัยเรียนที่เราต่อสู้กันด้วยวงดนตรีนะครับ คือเราอยู่กันคนละวง แล้วเวลาไปเล่นดนตรีที่ไหนเราจะคิดว่า ‘กูจะต้องฆ่ามึงให้ได้’ (หัวเราะ) ผมกับปั่นอยู่วงเดียวกัน ปั่นเป็นนักร้องนำ ผมเล่นกีตาร์ ส่วนแต๋มเขาไปตั้งวงกับน้องๆ ชื่อวง Telephone คือเราจะไปเจอกันตามปาร์ตี้ ก่อนขึ้นเล่นก็จะคุยกับปั่น เฮ้ย เดี๋ยวเราขึ้นไปฆ่าไอ้แต๋มเลย (หัวเราะ)
ทำไมถึงต้องเล่นดนตรีข่มกัน ฆ่ากันขนาดนั้น
ปั่น: ไม่ใช่หรอกครับ คือตามปาร์ตี้เมื่อก่อนเนี่ย เราอยากจะไปโชว์ แล้วก็อยากจะโชว์ให้ดีที่สุด
ตุ่น: มีกี่วงไม่รู้ แต่วงของกูต้องเท่ที่สุด สมัยก่อนเขาพูดกันอย่างนี้เลย เฮ้ย เดี๋ยวเราขึ้นไปฆ่าแม่ง
ปั่น: แล้วเท่เนี่ย นอกจากเล่นดนตรี เรื่องแต่งตัวก็ต้องเท่ด้วยนะ เราต้องแต่งตัวให้เต็มที่สุด
คือเราไม่ได้แค่จะเล่นให้คนฟังนะ แต่เราจะเล่นเพื่อให้เขามาร่วมร้องเพลงกับเรา ร้องได้ทุกเพลงยิ่งดี นั่นจะยิ่งวิน-วิน นั่นคือความสุข
ว่ากันว่านักดนตรีเนี่ย ร่างกายเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ข้างในยังรู้สึกหนุ่มตลอดเวลา พวกคุณคิดว่าจริงไหม
ตุ่น: ใช่ๆ ผมว่าจริง
แต๋ม: หัวใจของเรา ความคิดของเรามันยัง alert เรามีความรักที่ฟุ่มเฟือย ความรักมันเกิดขึ้นได้ตลอด เดี๋ยวชอบคนโน้น ชอบคนนี้ อะไรต่ออะไร ศิลปินจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในแง่การทำงาน อาชีพเรามันได้ทำอะไรแปลกกว่าชาวบ้าน อย่างผมต้องผูกเนกไทใส่สูทตลอดสิบกว่าปีที่ทำงาน มันก็เป็นชีวิตอีกแบบหนึ่ง เพราะผมทำงานแบงก์ ทำงานสายการเงินมาตลอด พอเราทำงานนี้ควบคู่ไปกับการร้องเพลง แต่งเพลง แล้วก็ทำอัลบั้มไปด้วย มันก็ไม่น่าเบื่อ เพราะถ้าทำแต่งานอะไรที่น่าเบื่อเนี่ย ผมก็ไม่เอา
ปั่น: การเป็นศิลปิน เป็นนักร้อง นักดนตรีเนี่ย มันเหมือนเราชอบอะไรซึ่งสวยๆ งามๆ อะไรที่ไม่เป็นระเบียบมาก หน้าเราก็เลยไม่เครียดมาก ไม่แก่เร็ว แล้วด้วยอาชีพแบบนี้ เราไม่ได้อยู่ในกรอบ เราไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ฉะนั้นเราจะฟรี สมมติทำงานนี้ หนึ่งชั่วโมงทำจบ เราก็เลิกคิดไปแล้ว แต่คนที่ต้องทำงานในลักษณะจำเจ มันจะยังจำเป็นต้องคิดต่อ เดี๋ยวต้องแก้งาน เดี๋ยวนายบอกให้เปลี่ยนตรงนี้ มันจะคนละเรื่องกัน
ผมเลยรู้สึกว่าอาชีพอย่างพวกเราเนี่ยมีความอิสระ ทั้งในแง่การทำงาน การแต่งตัว การคบคน อิสระในการที่เราจะทำอะไรก็ได้ มันก็เลยเหมือนทำอะไรที่เป็นตัวเราทั้งหมด ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ว่ากันไป
แต๋ม: แต่ถ้าดีที่เป็น เป็นเราที่สุดคืองานร้องเพลงนี่แหละ
ตุ่น: คืองานที่เราชอบเนี่ย มันโอเคหมด อย่างผมเองเอ็นจอยกับมัน อาจจะมีบางทีที่เหนื่อยไปบ้าง แต่ก็ทำไปด้วยความเอ็นจอย ผมรู้สึกว่าอินเนอร์ข้างในผมคือคนเดิมเมื่อตอนวัยรุ่น ไอ้ข้างนอกมันอาจจะเริ่มแก่ แต่ความรู้สึกมันเหมือนตอนหนุ่มๆ ตอนหนุ่มรู้สึกยังไง ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น
การร้องเพลงในช่วงเวลาแบบนี้ ในวัยตอนนี้ ต่างกับเมื่อก่อนยังไงบ้างครับ
ปั่น: ตอนนี้มันเหมือนว่าถ้าพวกเราถูกจ้างไป เราคิดว่าคนพอใจในพวกเรา 70% ขึ้นไป เขาอยากดูเราอยู่แล้ว ส่วนอีก 30% อาจจะเพื่อนชวนมา
แต่เมื่อก่อนตอนเป็นเด็ก เราร้อง เราอยากจะโชว์ของ ส่วนคนจะชอบหรือเปล่าเราไม่รู้ นี่แหละ… วันเวลามันเปลี่ยนตรงนี้ คือเรารู้อยู่แล้วว่าคนที่มาดูเป็นแฟนเพลงเรา แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีความเครียดเหมือนกัน เพราะยังอยากให้เขาชื่นชอบเรา ไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง
แต๋ม: สมัยก่อนเราแค่ร้องให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง เพราะจะมีคนจัดการให้ คอยดูแลว่าอัลบั้มนี้ต้องโปรโมตเพลงนี้ แต่งตัวแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นตอนเราเป็นเด็ก เรามีความมั่นใจ แต่ความชำนาญมันไม่มี พออายุมากขึ้น เราก็เป็นตัวของตัวเองขึ้น คือมั่นใจในการทำงานมากกว่า
ตุ่น: เมื่อก่อนนี้เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว เราจะเครียด เราจะเน้นภาพลักษณ์ คิดว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ให้เท่ที่สุด เราอยากให้เพลงออกไปแล้วมันดี มันดัง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เวลาออกไปเล่น เราออกไปด้วยความสนุก เราเล่นด้วยความรีแลกซ์ เมื่อก่อนเล่นผิดนิดหนึ่งเราจะกลับไปนอนเฮิร์ตที่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้เวลาผิดกลับกลายเป็นขำกัน
เดี๋ยวนี้ความรู้สึกของผมคือ ถ้าเรามาเล่นดนตรีแล้วคนดูเขาร้องตามได้ทุกเพลง นั่นแหละคือความสุขของทั้งสองฝ่าย ผมเลยคิดเอาเองแล้วก็บอกกับอีกสองคนว่า เฮ้ย คอนเซปต์วงนะ คือเราไม่ได้แค่จะเล่นให้คนฟังนะ แต่เราจะเล่นเพื่อให้เขามาร่วมร้องเพลงกับเรา ร้องได้ทุกเพลงยิ่งดี นั่นจะยิ่งวิน-วิน นั่นคือความสุข
แต่เท่าที่ฟัง ดูเหมือนเสียงร้องของดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ จะไม่ตกลงเลยนะ
ตุ่น: สองคนนี้เขาร้องมาตลอดไง คือเขาถูกจ้างร้องเพลงมาเป็นสิบๆ ปี เพราะฉะนั้นเขาอยู่ตัวแล้ว
แต๋ม: ต้องขอบคุณธรรมชาติ ธรรมชาติให้มา ขอบคุณสวรรค์
ปั่น: คนเรานะ ถ้าร่างกายสมบูรณ์ เคยทำอะไรได้ก็ทำได้ แต่ถ้าคุณไม่สบาย วันนี้อาจจะร้องเพลงไม่ดีเท่าเดิม คุณเจ็บคอก็อาจจะร้องเสียงแหบ แต่พอร่างกายหายเป็นปกติ คุณเคยทำได้มาก่อนยังไง ผมว่าอายุเพิ่มขึ้นแค่ไหนคุณก็ทำได้ เพียงแต่ต้องทำบ่อยๆ เพราะถ้าหยุดทำไป 20-30 ปี แน่นอนมันย่อมต้องทำไม่ได้
ที่บอกว่าดนตรีไม่เคยแก่เนี่ย อยากรู้ว่าอัพเดตเพลงใหม่ ศิลปินเพลงไทยรุ่นใหม่บ้างไหม อยากรู้ว่าในสายตาคุณ ใครคือคนรุ่นใหม่ที่สนใจบ้าง
ปั่น: สำหรับผมนะ ตอนนี้ชอบคนนี้มากเลย ชื่อว่า The Toys (ทอย-ธันวา บุญสูงเนิน) เป็นลูกของคุณนิตยา บุญสูงเนิน ผมว่าเขาโคตรเก่ง เล่นกีตาร์ก็ได้ ร้องเพลงก็ดี วิธีการทำเพลงก็ดี
แต๋ม: คนนี้ผมเห็นมาตั้งแต่ 4-5 ขวบ รู้จักตั้งแต่เริ่มต้นฝึกกีตาร์เลย เพราะตอนที่ผมไปอัดเสียงกับพ่อเขาที่เป็นโปรดิวเซอร์ ผมเห็นเลยว่าวันๆ เขาอยู่กับกีตาร์อย่างเดียว แล้วเขาฝึกกีตาร์จากยูทูบเอง ผมว่าก็เหมือนอย่างตุ่นเพื่อนผมนี่แหละ เขาเองก็เก่ง เพลงที่เขาทำเมื่อสมัยหนุ่มๆ จนทุกวันนี้ฟังก็ยังไม่เชยเลย
ตุ่น: แต่ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยนะว่าเรื่องเชยหรือไม่เชย คือไม่ใช่เฉพาะแค่เพลงไทยนะ แต่เพลงในยุคก่อน มันมีความเป็น Melodic สูงกว่าเพลงในยุคนี้ มันก็เลยติดหูกว่า จะสังเกตได้ว่าถ้าเราหาเพลงในยุคนี้ที่จะกลายเป็นเพลงในตำนานเนี่ย มันหาได้น้อยกว่าเพลงยุคก่อน
ความจริงน่าทึ่งนะครับ ถึงจะชื่อวง ‘ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์’ แต่กลับใช้สื่อโซเชียมีเดียทั้งยูทูบ เฟซบุ๊คไลฟ์ กลับมาสร้างฐานแฟนเพลงได้ดีมาก แสดงว่าพวกคุณไม่ได้ตกยุคตามชื่อนะ
แต๋ม: คือเรามีทางเดินของเรา เดินไปในแบบของเราโดยไม่แคร์ว่าตลาดเพลงตอนนี้จะเป็นยังไง มันเป็นความโชคดีที่แฟนเพลงฟังแล้วโอเค
ปั่น: ผมว่ามันเป็นเพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์ถึงทำอย่างนี้ได้ ลองถ้าผมรวมตัวกันแล้วเอาเพลงไปเสนอค่ายแกรมมี่นะ ผมว่าเขาไม่เอา แต่คุณเชื่อไหมว่าเพราะด้วยมีเดียแบบนี้แหละที่ทำให้แฟนเพลงเก่าๆ ของเรากลับมา นี่ยังรู้สึกเสียดายอยู่เลยว่าถ้าแฟนเพลงของดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ ที่อายุ 35 ถึงอายุ 40 ขึ้นไปเขาเล่นคอมพิวเตอร์หรือใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น โอ้โห สงสัยเราจะดังกว่านี้ว่ะ (หัวเราะ)
- เฝ้าคอย – ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์
- นอกจากจะชวนเพื่อนร่วมรุ่นกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทำวงดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ แต่ความจริงตุ่น พนเทพ ยังมีอีกหนึ่งวงดนตรีคือ ‘นั่งเล่น’ ที่รวบรวมเพื่อนนักดนตรี นักแต่งเพลงรุ่นเดียวกันอย่าง
- เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์ (ร้องนำ), เต้ง-ธนิต เชิญพิพัฒนสกุล (กลอง),พง-อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา (คีย์บอร์ด), ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์ (เพอร์คัสชัน), แตน-เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (คีย์บอร์ด),
ตุ๋ย-พรเทพ สุวรรณะบุณย์ (กลอง),
ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ (อะคูสติก กีตาร์),
เก่ง-เทอดไทย ทองนาค (อิเล็กทริก กีตาร์),
โอ-ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ (เบส)
เขาเล่าที่มาที่ไปและความแตกต่างของทั้งสองวงไว้อย่างน่าสนใจว่า
“หลังจากผ่านงานโปรดิวซ์มาเยอะแยะ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองอยากจะสื่อสารอะไรอีกรูปแบบหนึ่ง และด้วยวัยของเรา จะมานั่งฟูมฟายมันก็ดูไม่ดี ฉะนั้นเราควรสื่อสารมุมมองที่ให้ประโยชน์หรือให้แง่คิดกับคนทั่วไปได้บ้าง โดยพูดเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ใกล้ๆ ตัว ซึ่งบางทีเราอาจจะมองข้ามไป ส่วนวงดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ จะเน้นเพลงที่เราเคยทำไว้ แต่เราใช้สิ่งที่เคยทำไปแล้วนั้นกลับมาทำในรูปแบบใหม่”
https://www.youtube.com/watch?v=5A_KrpVeeds