**SPOILER ALERT** บทความนี้เปิดเผยเนื้อความของหนัง
ทันทีที่ Transformers: The Last Knight อันเป็นความตั้งใจครั้งสุดท้ายในแฟรนไชส์หุ่นยักษ์ของ ไมเคิล เบย์ เข้าฉาย ทุกฟีดส์ และทุกโซเชียลมีเดียของคนรักหนังหุ่นเหล็กทั่วโลกก็สามัคคีชุมนุม พุ่งเป้าโจมตีจนหนังแทบไม่เหลือชิ้นดี
กระแสสุดท้ายที่ค่ายหนังควรโปรโมต ณ ตอนนี้คือ แคมเปญ ชวนคนเข้าโรงไปดูว่าตกลงหนังเรื่องนี้มัน ‘แย่’ อย่างที่เขาพูดๆ กันจริงหรือเปล่า
แต่ถึงจะถูกต่อว่าขนาดไหน ความจริงก็ยังพอเห็น ‘แง่งาม’ ของไมเคิล เบย์ อยู่บ้าง กับความ ‘พยายาม’ ทิ้งท้ายผลงานสุดรัก ด้วยการสร้างความแตกต่างจากทุกภาคที่ผ่านมา เพียงแต่สุดท้ายแล้ว มันก็ยังน่าเสียดายอยู่ดี เพราะหนังเต็มไปด้วยบาดแผลโดยเฉพาะ ‘ด้านบท’ ส่วนสาเหตุที่ต้องคิดแบบนี้ เรามาลองแยกย่อยเป็นข้อๆ กันดู
พยายามผูกเรื่องมากเกินไป จนพันกันมั่วไปหมด
ภาคนี้ไมเคิล เบย์ พยายามสร้าง ‘เหตุผล’ ในการต่อสู้ เพื่อปกป้องมนุษย์กว่า 1,600 ปีของเหล่าออโต้บอตเข้าไป ถึงขนาดใช้ทีมเขียนบทถึง 4 คนมาช่วยกัน ‘ยำ’ ให้เนื้อเรื่องดู ‘มีอะไร’ มากที่สุด แต่ความพยายามยัดทุกอย่างเข้าไป โดยเฉพาะการโยงเรื่องราวตั้งแต่ยุคคิง อาร์เธอร์ ไล่โยงมาถึงสงครามหลายๆ ครั้ง เหตุการณ์และบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายๆ คน (อันนี้เดาได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความเสียดายของเบย์ที่ต้องออกจากโปรเจกต์ King Arthur, 2004 กลางทาง ทั้งที่เขาพยายามปั้นอยู่นานกว่า 5 ปี)
แต่เมื่อฉากต่อสู้ก็ต้องเอา เนื้อเรื่องมากมายก็อยากเล่า ทั้งที่มีระยะเวลาการเล่าจำกัด สุดท้ายมันเลยเหมือนเส้นมาม่ารสต้มยำกุ้งอืดๆ ค้างอยู่ในชามนานเกินไปซะงั้น ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่แฟนหนัง Transformers คิดถึงและรอชมมากที่สุดอาจจะมีแค่การได้เห็นเหล่าหุ่นยักษ์มาซัดกันแบบตรงๆ ดิบๆ โดยเฉพาะยิ่งถ้าดวลหมัดกันลุ่นๆ ไม่ต้องใช้อาวุธเยอะๆ นี่ยิ่งสะใจ แบบที่เบย์เคยทำได้ดีในภาค Revenge of the Fallen แค่นั้นก็พอแล้ว
หนังเต็มไปด้วยคาแรกเตอร์ตัวละครที่ไม่จำเป็น แถมยังไม่น่าจดจำ
ภาคนี้เต็มไปด้วยตัวละครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มากมาย คนเขียนบทคงหวังว่าเขาและเธอจะมาสร้างสีสัน ที่ไหนได้ ยิ่งดู ยิ่งนาน มันยิ่งชวนให้ต้องสงสัยว่าตกลงจะมีตัวละครพวกนี้ไว้ทำไมกันแน่!
Izabella (อิซาเบลา โมเนอร์)
ตัวละครเด็กที่เปิดเรื่องมาแบบเท่ๆ ด้วยการมาช่วยเหลือแก๊งเด็ก 3 คน ให้รอดจากการต่อสู้กับหุ่นยนต์ แต่เมื่อไปเจอกับพระเอก (มาร์ก วอห์ลเบิร์ก) ได้วิ่งหนีตายประมาณ 2 ฉาก จากนั้นตัวละครนี้ก็แทบไม่มีความสำคัญอะไรกับเนื้อเรื่องอีกเลย
Jimmy (เจอร์ร็อด คาร์ไมเคิล)
เป็นเรื่องปกติที่พระเอกย่อมต้องมีลูกน้องคนสนิทไว้ 1 คน เพื่อคอยช่วยเหลือในการทำภารกิจต่างๆ และจิมมีคือคนคนนั้น แต่บทบาทของเขาก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการมายิงมุกตลก (ที่ไม่ค่อยตลก) เป็นบางครั้ง มาทำตัวอ่อนแอใจเสาะ เพื่อให้พระเอกโชว์สกิลในการปลุกใจให้ฮึดขึ้นสู้ หลังจากนั้นจิมมีก็ถูกจับไปวางให้นั่งรอ ยืนรออยู่เฉยๆ กับอิซาเบลา แล้วก็แทบไม่มีความจำเป็นอะไรกับหนังอีกเช่นกัน
Cogman (พากย์เสียงโดย จิม คาร์เตอร์)
หุ่นยนต์รับใช้ (ขนาดเท่าคนปกติ) ที่มีสกิลการต่อสู้สูงมากตั้งแต่ฉากแรกที่มาโชว์รัวหมัดใส่พระเอกในลิฟต์ และหยุดการโจมตีของหุ่นยักษ์ได้ด้วยแขนข้างเดียว แต่หุ่นยนต์กลับมีสกิลการปล่อยมุกในระดับที่สวนทางกับความสามารถโดยสิ้นเชิง โดยมีไม้ตายอยู่ที่มุกการพูดหรือร้องเพลงเพื่อขัดจังหวะของเจ้านาย (แอนโทนี ฮ็อปกินส์) พระเอกและนางเอก ซึ่งทุกครั้งที่ปล่อยมุกทำลายจังหวะคนอื่น ก็เท่ากับค่อยๆ ทำลายภาพความเท่ที่สร้างมาตั้งแต่แรกไปเรื่อยๆ จนไม่เหลืออะไรเลย
Optimus Prime (พากย์เสียงโดย ปีเตอร์ คัลเลน)
ตอนแรกมันคือความตื่นเต้นเมื่อได้ข่าวว่าภาคนี้ผู้นำออโต้บอตจะกลายมาเป็นตัวร้าย ว่าแล้วหน้ายิ้มแย้มยียวนของไอ้หนุ่มโล้น โดมินิก โทเร็ตโต ตอนแปรพักตร์ใน The Fate of the Furious (2017) ภาคล่าสุดนี่ก็ย้อนมาทันใด ว่ากันตามจริงคืออยากเห็นออพติมัส ไพร์ม โชว์แบดบ้าง เพียงแต่สิ่งที่ฝันกับความเป็นจริงไม่เหมือนกันเสียเลย เพราะหลายต่อหลายฉากมันดูหน่อมแน้มและขาดน้ำหนักแห่งความน่าเชื่อ ยิ่งถ้าพูดถึงภาพรวมเราว่าภาคนี้ยังถือว่าเป็นการทำลายภาพพจน์และคาแรกเตอร์เท่ๆ ของ ‘ออพติมัส ไพร์ม’ จนกลายเป็น ‘ออพติมัส เพลีย’ ไปโดยปริยาย
ความผิดพลาดที่พยายามทำให้มนุษย์มีบทบาทมากขึ้น
จากภาคก่อนๆ ที่มนุษย์มีส่วนแค่ถือปืน ขับยานออกมาไล่ยิงหุ่นยักษ์ที่แทบไม่ระคายผิวอะไร คราวนี้เบย์พยายามให้มนุษย์มีส่วนร่วมมากขึ้นถึงขนาดวางแผนภารกิจไป ‘ต่อรอง’ ให้หุ่นยักษ์ทำตามตัวเองได้เลย แต่ก็เหมือนเดิม มันคือการพยายาม ‘ยัด’ ความสำคัญให้กับมนุษย์แบบไร้ที่มาที่ไป และไม่มีเวลาให้มนุษย์ได้แสดงศักยภาพของตัวเองมากพอ
แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่น่าหงุดหงิดที่สุดถ้าเทียบกับการ ‘สร้างอำนาจ’ ให้กับมนุษย์ด้วยการ ‘ลดอำนาจ’ ของหุ่นยนต์ลงไป คงเพราะอาวุธและความสามารถของมนุษย์มีจำกัด ไม่สามารถไปคัดง้างกับหุ่นยักษ์ได้โดยตรง ก็เลยต้อง ‘สร้าง’ สับเซตย่อยของตัวร้ายด้วยการมีจานบินขนาดเล็ก (ที่มีความสามารถเด่นแค่สแกนหน้าตาเป้าหมายได้) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการไล่ล่า เพื่อให้มนุษย์พอจะใช้อาวุธสอยร่วงลงมาได้อย่างสมน้ำสมเนื้อขึ้นมาบ้าง
มองตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีหุ่นยักษ์ที่มีพลังพอจะทำลายล้างโลกได้ขนาดนั้น จานบินเล็กๆ พวกนั้นก็แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลย ซึ่งจุดนี้ทำให้ความคลาสสิกในพลังและการต่อสู้ของหุ่นยักษ์ที่เคยเป็นจุดขายลดคุณค่าลงไปกว่าครึ่ง ยังไม่นับถึงการที่อยู่ดีๆ เหล่าอัศวินโต๊ะกลมก็แปลงร่างกลายเป็นมังกรปกป้องดาบไปได้เฉยๆ อีกนะ
ตัวละครอื่นยังไม่เท่าไร แต่ตัวพระเอกเองก็เข้าข่ายด้วยนี่สิ! พูดจริงๆ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก ยังคงรักษามาตรฐานด้านการแสดงของเขาได้ เพียงแต่ตัวบทที่เข้าขั้นวิกฤตินี่แหละที่ทำให้หลายต่อหลายจุดของหนังหุ่นยนต์ยักษ์ดูลักลั่น ไม่น่าเชื่อ และไม่ชวนให้เกิดอารมณ์ร่วมครั้งแล้วครั้งเล่า
เอาเป็นว่า… เผลอๆ การพาครอบครัวออกจากบ้านไปดู ‘หุ่นยนต์ยักษ์’ จากเศษเหล็กเหลือใช้ ฝีมือศิลปินไทย สร้างรายได้มหาศาล ตามลิงก์ข่าวนี้ thestandard.co/news-thailand-banhunlek อาจจะน่าตื่นเต้น ตื่นตา และตื่นใจกว่าเข้าไปดู Transformers: The Last Knight ก็เป็นได้
- Transformers: The Last Knight คือภาคที่ใช้งบประมาณสร้างมากที่สุดคือ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ
- และเป็นภาคที่ได้คะแนนจากนักวิจารณ์ในเว็บ ‘มะเขือเน่า’ น้อยที่สุดที่ 3.2 คะแนน
- ไมเคิล เบย์ เคยประกาศว่าจะเลิกทำ Transformers มาตั้งแต่ภาคที่ 4 Age of Extinction (2014) และเขาก็มาประกาศว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายกับแฟรนไชส์นี้อีกครั้งในภาค 5 นี้