×

ถอดบทเรียนชีวิต ‘ทฤษฎีก้อนหินและดอกไม้’ ที่พชร์ อานนท์ ประสบมาตลอดชีวิต

23.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • พชร์ อานนท์ เริ่มต้นตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร ‘เธอกับฉัน’ ตั้งแต่อายุ 19 สรุปรวมแล้วเขาทำหนังสือมา 14 ปี (ตั้งแต่ 2529 – 2543) เฉพาะ เธอกับฉัน เขาเข้าและออกจากตำแหน่ง บ.ก. มาแล้ว 4 ครั้งด้วยเหตุผลต่างกัน และเรียกได้ว่าเป็นบรรณาธิการหนังสือวัยรุ่นที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของยุค 90s
  • ตลอดชีวิตการทำนิตยสารวัยรุ่น เขาผ่านการเป็นบรรณาธิการมาแล้วหลายหัว ไล่เรียงตั้งแต่ เธอกับฉัน, ANGEL, อานนท์ และ พจน์ อานนท์ ก่อนจะผันตัวเองมาสู่งานกำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว เพราะเบื่อเต็มทนแล้วกับคำว่า ‘ปิดเล่ม’
  • ภาพยนตร์เรื่อง เพื่อน…กูรักมึงว่ะ (2550) คว้ารางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มาถึง 4 รางวัลคือ ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และสำคัญที่สุดคือรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งที่ตอนถ่ายทำ มันคือหนังอีกเรื่องของพชร์ อานนท์ ที่ไม่มีบท!  

     พูดตามเนื้อผ้า พชร์-อานนท์ มิ่งขวัญตา น่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีทั้งคนรักและเกลียดมากที่สุดแห่งยุค แต่ถ้าใครเชื่อในเรื่องความสร้างสรรค์ เชื่อในความแตกต่างของความเป็นมนุษย์ คุณจะได้พบกับแง่มุมที่แตกต่างจากหลายสิ่งหลายอย่างในความเป็น ‘พชร์’ ที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ (ถึงแม้ความจริงจะไม่อยากเลียนแบบก็เถอะ)

     พชร์มีสูตรการทำงานที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งอาจจะเป็นผลจากความไม่เหมือนนี่แหละที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในหลากหลายด้านของชีวิตการทำงาน ผู้ชายคนนี้เริ่มต้นอาชีพบรรณาธิการนิตยสารวัยรุ่นที่โด่งดังที่สุดตอนอายุเพียง 19  ทั้งที่เรียนจบเพียงมัธยมปลาย

     พชร์เป็นผู้ค้นพบและแจ้งเกิดคนบันเทิงยุค 90s ระดับท็อปที่เอ่ยชื่อแล้วใครๆ ก็รู้จัก ไล่ตั้งแต่เจ-มณฑล จิรา, มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, แอนดริว เกร็กสัน, จอห์น ดีแลน, โด่ง-สิทธิพร นิยม, ฝันดี-ฝันเด่น จรรยาธนากร, ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ และนั่นทำให้การไปเดินสยามสแควร์กับมาบุญครองของวัยรุ่นหน้าตาดีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     วันหนึ่งพอหันเหชีวิตมาสู่งานกำกับภาพยนตร์ เขาก็กลายมาเป็นผู้กำกับที่งานชุกที่สุด เชื่อไหมว่าเพียงช่วงสองปีระหว่าง 2557-2558 เขามีหนังของตัวเองเข้าโรงฉายถึง 8 เรื่อง! ล่าสุดหนังเรื่อง หลวงพี่แจ๊ส 4G ของเขาเพิ่งทำเงินเกินหลักร้อยล้าน แต่ความจริงเราเฉยๆ กับตัวเลขนี้ไปแล้ว เพราะรู้สึกว่าการได้รู้ว่าหนังของพชร์แทบทุกเรื่องไม่เคยมีบท ไม่เคยเตรียมสคริปต์หรือไดอะล็อกไว้ล่วงหน้า แม้แต่เวลาไปขายงานกับนายทุน เขาก็เดินตัวปลิวไปขายงานแบบปากเปล่า ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกว่า

     ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะดูหนังพชร์ อานนท์ ครั้งสุดท้ายจากเรื่องอะไร จะดูผ่านโรงภาพยนตร์ ผ่านแผ่นวีซีดี ดีวีดี หรือดูแบบฟรีๆ บนรถทัวร์ตอนเดินทางไปต่างจังหวัด แต่เชื่อเถอะว่าบางแง่บางมุมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของเขานั้น ‘ไม่ธรรมดา’ ในระดับที่น่าศึกษาอย่างมากว่าแท้จริงแล้วเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร  

 

 

:: 1 ::

เขาจบเพียง ม.ปลาย แต่ก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘เธอกับฉัน’ ที่ทรงอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยมากที่สุดในยุค 90s  

     เราทำงานมาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ด้วยตัวเองหมด เติบโตมาจากการเป็นเด็กยากจน เป็นคนจนอยู่ในสลัม ไม่มีเงินเรียนหนังสือ หลังจากเรียนจบ ป.6 เราก็ทำงานมาตลอด พอไม่มีเงินเรียน เราก็คิดว่าทำงานดีกว่า เพราะถึงเรียนต่อไปก็ไม่จบ เงินจะกินยังไม่มี แล้วจะมีเงินที่ไหนไปเรียน พอจบ ม.ปลาย เราเลยตัดสินใจทำงาน” (พชร์ อานนท์ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปลาย (ม.6) จากโรงเรียนมัธยมด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ)

     ตอนแรกเริ่มต้นจากงานขายโฆษณาก่อน จากนั้นเปลี่ยนไปทำแฟชั่น แล้วขยับไปเป็นคนเขียนหนังสือ เจ้าของบริษัทคงเห็นว่าเราเป็นคนไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบไปโน่นมานี่ เพราะคนเป็นบรรณาธิการต้องมีอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น พอบรรณาธิการคนเก่าออก เขาก็เลยให้เราเป็นแทน

 

     

     วันหนึ่งได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร เธอกับฉัน เราเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาสอนการเป็น บ.ก. ว่าต้องทำยังไง แล้วก็ใช้หัวสมองที่เรามีอยู่คิดออกมาว่าจะทำยังไงให้คนมาซื้อ เธอกับฉัน เพราะต้องทำงานแข่งกับหนังสือวัยรุ่นที่มีออกมาเยอะมากในยุคนั้นทั้ง วัยหวาน, วัยน่ารัก, The Boy ฯลฯ

     ต้องศึกษาการตลาดว่าแฟนหนังสือเป็นใคร พอรู้ว่าฐานแฟนหนังสือเป็นผู้หญิง งั้นก็ต้องหาผู้ชายหล่อๆ หน้าตาน่ารัก หาคนใหม่ๆ มาถ่ายรูปลงหนังสือตลอด เราทำจนกระทั่ง เธอกับฉัน กลายเป็นนิตยสารวัยรุ่นที่ยอดขายเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนั้นยอดขายของ เธอกับฉัน เป็นแสนๆ เล่มเลยนะ ไม่ใช่ว่าพิมพ์กันเป็นหลักหมื่นหรือหลักพันเหมือนยอดขายนิตยสารสมัยนี้  

 

:: 2 ::

พชร์ย้ำตลอดว่าชีวิตเขาไม่เคยเป็นนักปั้น ไม่เคยเป็นแมวมอง เขาเพียงทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสารวัยรุ่น เลิกงานก็ชอบไปเดินสยามสแควร์เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ไปทั้งที ถ้าเจอวัยรุ่นหน้าตาดีก็ชวนมาถ่ายหนังสือซะสิ!

     เราไม่ได้เป็นนักปั้น ไม่ได้เป็นแมวมอง เราแค่ไปเดินสยามสแควร์ คือการไปสยามฯ เนี่ยเราไม่ได้ไปหาเด็กนะ แต่ปกติหลังเลิกงานเราไปเที่ยวสยามฯ อยู่แล้ว เพราะวัยรุ่นเมื่อก่อนมันไม่มีที่เที่ยวที่ไหนจะไปไง มันก็มีแค่สยามสแควร์กับมาบุญครอง แล้วพอเจอเด็กคนไหนน่าสนใจ เราก็บอกว่า น้องมาถ่ายหนังสือให้พี่หน่อย เพียงแต่พอถ่ายหนังสือกับเราเสร็จแล้วเด็กมันมีงานต่อ มีคนเรียกไปใช้งาน เราก็ไปดูแล น้องบางคนแกรมมี่เรียก บางคนอาร์เอสเรียก ในสายตาคนทั่วไปก็เลยเหมือนว่าเราเป็นนักปั้นไปโดยปริยาย

     อีกอย่างเราไม่ได้หักเงินเด็ก 20-30 เปอร์เซ็นต์ เด็กรับงานได้เท่าไรก็รับไปเลยเต็มร้อย ที่ไม่หักเพราะว่ามันไม่ใช่อาชีพ อาชีพเราคือการเป็น บ.ก. นิตยสาร รายได้ของเราเกิดขึ้นจากการทำหนังสือ

 

เจ มณฑล, มอส ปฏิภาณ, เต๋า สมชาย, แอนดริว เกร็กสัน, จอห์น ดีแลน, โด่ง สิทธิพร, ฝันดี-ฝันเด่น คือตัวอย่างรายชื่อวัยรุ่นไทยที่พชร์ อานนท์ เป็นคนค้นพบ และส่วนใหญ่เป็นการพบเจอที่สยามสแควร์-มาบุญครอง แหล่งแจ้งเกิดวัยรุ่นยุค 90s

     ตอนนั้นไอ้เต๋ามันเรียนมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เราก็เจอที่มาบุญครอง ตอนนั้นมันกำลังจะกลับบ้าน เราขับรถอยู่ก็ถอยกลับมาแล้วให้นามบัตรไป หรืออย่างไอ้มอส ตอนนั้นเรียนอยู่อุเทนถวาย เลิกเรียนเสร็จก็มาเดินเที่ยวมาบุญครอง เราเห็นมันเล่นอยู่ตรงบันไดเลื่อน แล้วมันมากันเป็นฝูงเลย เราก็หลบอยู่ร้านทำผม แล้วให้คนที่ร้านทำผมไปตามมันมาคุย

     ฟลุ๊ค-เกริกพล มัสยวาณิช คนนึกว่าเขาเป็นเด็กพี่บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าเราไปเจอเขาที่สยามฯ แล้วชวนมาถ่ายแบบก่อน หลังจากนั้นเขาก็ไปเล่นละครกับพี่บอย

 

ตกลงอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของการเป็นบรรณาธิการแบบพชร์ อานนท์

     บอกได้เลยว่าในตลาดวัยรุ่นยุค 90s ไม่มีใครดังไปกว่าพชร์ อานนท์ ที่พูดนี่ไม่ได้โม้นะ ชื่อพชร์ อานนท์ นี่วัยรุ่นทุกคนรู้จักหมด

     เคล็ดลับความสำเสร็จคือเอาใจใส่แฟนๆ ที่ซื้อหนังสือของเราไง สมัยก่อนคนยังไม่ค่อยมีโทรศัพท์ กอง บ.ก. จะติดต่อกับคนอ่านด้วยการตอบจดหมาย หรือเปิดพื้นที่ให้นักอ่านมีส่วนร่วม ให้เขียนเรื่องสั้นส่งเข้ามาบ้าง ส่งกลอนเข้ามาบ้าง จดหมายที่ส่งมาเราตอบเองหมด เธอกับฉัน เป็นนิตยสารเล่มแรกที่เปิดพื้นที่ตรงนี้

     เราวางตัวเองเป็นพี่ชายของคนอ่าน บรรณาธิการบางคนอาจจะทำอะไรตามใจตัวเอง ทำหนังสือออกมาแล้วมึงไม่ซื้อหนังสือก็เรื่องของมึง แต่ เธอกับฉัน ไม่ใช่ เราจะคิดตลอดว่าถ้าทำเนื้อหาหรือคอลัมน์แบบนี้คนอ่านจะชอบไหม คือเอาความคิดของคนอ่านลงไปในหนังสือ

     เราจะมีเซนส์ว่าทำแบบนี้แล้วคนต้องซื้อ หรือเลือกเด็กหน้าตาแบบนี้มาขึ้นปกแล้วคนต้องชอบ เซนส์พวกนี้มันเป็นอะไรที่อยู่ข้างใน เป็นพรสวรรค์ที่เรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันก็เลยติดตัวมาตลอด  

 

ตกลงวัยรุ่นเหล่านี้ดังได้เพราะพชร์ อานนท์ เลือกมา หรือเขาดังได้ด้วยตัวเอง

     เพราะเราเลือกมาสิ เราเลือกมาถ่ายขึ้นปกหนังสือจนเขาดัง ถ้ามึงยังไม่ดัง กูก็ให้ขึ้นมันอยู่นั่นแหละ ขึ้นปกจนกว่าคนจะรู้จัก อย่าง 15 วันเจอมอส ผ่านไปอีก 15 วันเจอมอสอีกแล้ว พอคนรู้จัก แกรมมี่ก็มาขอมอสไป อาร์เอสมาขอไอ้เต๋า เราก็ให้เขาไป โดยที่ไม่ได้คุยเรื่องเงินอะไรในส่วนของเราเลย  

     เรากล้าพูดได้เลยว่าที่คนรู้จักเพราะเราทำให้เขาดัง มันเหมือนหลักการตลาด คือการโปรโมตสินค้าที่ต้องทำให้คนผ่านตาเยอะๆ หรือได้ยินชื่อบ่อยๆ หรือบางครั้งสมมติว่าช่วงแรกแอนดริว (แอนดริว เกร็กสัน) มันขึ้นปกคนเดียวแล้วไม่เวิร์ก ถ้างั้นเอามันไปประกบกับพวกรุ่นพี่ที่ดังแล้วอย่างไอ้เต๋า หรือไอ้มอส เพื่อให้มาช่วยดึง

 

 

:: 3::

ผู้กำกับหนังที่งานชุกที่สุด ทำหนังเร็วที่สุด มีหนังออกฉายต่อเนื่องที่สุด ทำรายได้รวมมากที่สุด และคนด่ามากที่สุดด้วยเช่นกัน

     ตอนทำหนังเรื่องแรก สติแตกสุดขั้วโลก (2538) ความจริงยังเป็นบรรณาธิการหนังสืออยู่ แต่พอถ่ายไปถึงเรื่องที่ 3-4 รู้สึกว่าชักไม่ไหวแล้ว เพราะการถ่ายหนังสมัยก่อนมันทุ่มเทผิดกับสมัยนี้ ฉะนั้นก็ต้องเลือก อีกอย่างคือเราเบื่อ ถึงเวลาไปปิดเล่ม ไอ้โน่นยังไม่ส่งงานคอลัมน์โน้น ไอ้นี่ยังไม่ส่งรูป ฯลฯ ชีวิตเราอยู่กับคำว่า ‘ปิดเล่ม’ มา 14 ปี (พชร์ อานนท์ เริ่มต้นชีวิตคนทำหนังสือตั้งแต่ 2529-2543) งั้นต่อไปนี้กูไม่เอาแล้ว กูไม่อยากได้ยินคำว่า ‘ปิดเล่ม’ อีกแล้ว (หัวเราะ) หลังจาก ว้ายบึ้ม! เชียร์กระหึ่มโลก (2546) หนังเรื่องที่ 4 เราก็ขอลาออก   

 

:: 4 ::

ถ้าบอกว่าพชร์ อานนท์ มีธรรมชาติของความเป็นนักประนีประนอมก็คงไม่ผิดนัก เพราะถึงจะเป็นคนชอบดูหนังดราม่าและอยากทำหนังดราม่า แต่สุดท้ายพชร์กลับเลือกเส้นทางสายประนีประนอมระหว่างความฝันของตัวเอง นายทุน และคนดูระดับแมส ซึ่งแน่นอนว่าผลของมันย่อมนำพามาซึ่งดอกไม้และก้อนอิฐในเวลาเดียวกัน   

     โกซิกซ์: โกหกปลิ้นปล้อน กะล่อน ตอแหล (2543) ถือเป็นหนังตราบาปของเราเลย เพราะจากตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะทำดราม่าเกี่ยวกับการโกหกกัน แต่พอถ่ายไปได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นายทุนเรียกเข้าไปบอกว่าอยากให้ทำเรื่องนี้เป็นหนังตลก เพราะเขาเห็นจากหนังเรื่องแรก (สติแตกสุดขั้วโลก) ซึ่งเป็นหนังตลกและทำรายได้ไป 60 ล้าน เป็นหนังทำเงินแห่งปี แต่พอถึงเรื่องที่สอง (18 ฝน คนอันตราย) เป็นหนังดราม่าหนักๆ แล้วได้กลับมาแค่ 30 ล้าน พอนายทุนบอกมาแบบนั้นเราเลยต้องจับยัดโน่นยัดนี่จนมันเละ  

 

หมายความว่าแผลแรกคือ ‘โกซิกซ์ฯ’ จุดเริ่มต้นที่ผู้คนจ้องจะด่าหนังของพชร์ อานนท์ ว่า

     โอ๊ย ถูกด่ามาตั้งแต่เรื่องแรก ด่ากูว่าทำหนังปัญญาอ่อน ไม่มีสมองคิด มึงทำออกมาได้ยังไง แล้วมาด่าแรงสุดตอนทำ ว้ายบึ้ม! เชียร์กระหึ่มโลก มันว่าหาแดกแต่หนังกะเทย จนมาถึงหนังเรื่องที่ 5 เราก็ทำ ปล้นนะยะ (2547) ออกมาอีก คนก็ยิ่งด่าเราใหญ่เลย แล้วดูสิ ปัจจุบันนี้หนังกะเทยเต็มจอไปหมดเลยนะ แต่จริงๆ แล้วกูนี่แหละเป็นคนเริ่ม ทีตอนนั้นมาด่ากูกันจัง แล้วโดนด่าอยู่คนเดียวด้วยนะ

     ความจริงแล้วเราชอบทำหนังดราม่าแบบ 18 ฝนคนอันตราย (2540) พอทำแล้วได้ชิงรางวัล คนก็เริ่มชมเราบ้าง แต่พอทำหนังแบบนั้นแล้วมันได้เงินกลับมาน้อย นายทุนก็ไม่ค่อยอยากให้เงินมาทำ

 

ในเมื่อชอบดูหนังดราม่า อยากทำหนังดราม่า แล้วทำไมคุณถึงตามใจแต่นายทุน ทำแต่หนังตลก หนังกะเทย

     ถ้าไม่ทำแล้วฉันจะเอาอะไรกินล่ะ เพราะเราก็ต้องทำมาหากิน ลูกน้องในกองถ่ายเราก็ตั้ง 70 กว่าคน ฉะนั้นก็ต้องทำงานให้ลูกน้องด้วย

 

ถ้าบอกว่าพชร์ อานนท์ ทำหนังเอาใจนายทุนนี่จริงไหม

     เราทำหนังเอาใจคนดู คนดูที่ชอบความสนุก เพราะเวลาทำหนัง เราจะไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่จะคิดถึงคนดูว่าตอนนี้เขาน่าจะชอบดูอะไร จากนั้นเราก็เอาไปใส่ไว้ในหนัง  

 

ถ้าหนังพชร์เป็นอาหาร จะเป็นเมนูแบบไหน

     หนังของพชร์ อานนท์ เป็นเหมือน ‘ต้มยำ’ ถ้าใครอยากสนุก เข้าโรงหนังไปดูหนังพชร์จะไม่ผิดหวัง เพราะหนังเราทำตอบโจทย์ เราทำหนังแมส ทำให้คนกลุ่มกว้างดู ทั้งคนชั้นกลาง-ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนไม่หวังมาก  

 

 

:: 5 ::

หนังกะเทย ตลก ผี และพชร์ อานนท์

     ความจริงแล้วตั้งใจจะทำหนังกะเทยมาตั้งแต่ก่อนมีหนังเรื่อง สตรีเหล็ก อีก คือเราไปซื้อบท ฉันผู้ชายนะยะ (ละครเวทีที่โด่งดังมากเมื่อพ.ศ. 2530) มาจากอาจารย์เสรี วงษ์มณฑา แต่พอเอาไปเสนอกับไฟว์สตาร์แล้วเขาไม่เอา นายทุนบอกว่าหนังแบบนี้ไม่ทำเงิน เราก็เลยต้องพับโครงการ แต่พอหนังเรื่อง สตรีเหล็ก เข้าฉายแล้วทำเงิน ไฟว์สตาร์เลยเรียกเข้าไปใหม่ บอกว่าอยากให้ทำหนังตุ๊ด เราก็เลยทำ ว้ยบึ้ม! เชียร์กระหึ่มโลก ออกมา เพราะตอนนั้นกระแสแข่งเชียร์ลีดเดอร์ในบ้านเรากำลังดัง พอทำออกมาคนก็หาว่าเราก๊อบ แต่ความจริงมันไม่ใช่ กูอยากทำมานานแล้ว แต่นายทุนเขาไม่ให้ทำ (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ทำหนังแนวนี้มาอีกหลายเรื่องอย่าง ปล้นนะย(2547) เป็นเรื่องของกะเทยปล้นธนาคาร (หนังทำเงินได้ราว 70 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากในปีนั้น)

 

:: 6 ::

พชร์ อานนท์ ทำสถิติกำกับหนังติดต่อกันทุกปี ปีละหลายเรื่องมาจะครบ 10 ปีแล้ว (ข้ามไปเพียงปี 2551 ที่เขาไม่มีผลงานออกมา) และสำคัญที่สุด หนังของพชร์ อานนท์ ไม่เคยมีบทเป็นจริงเป็นจัง ส่วนใหญ่เขาขายงานปากเปล่ากับนายทุน และกำกับการแสดงปากเปล่ากับนักแสดงตั้งแต่รุ่นเล็กจนถึงรุ่นใหญ่

     หนังอย่าง 18 ฝน คนอันตราย ถ้าบอกว่ากำกับโดยไม่มีบท ใครเขาก็ไม่เชื่อหรอก

     แล้วสาเหตุหนึ่งที่หนังเรื่องโกซิกซ์ฯ ออกฉายแล้วโดนด่าขนาดนั้น หรือทำไมทำออกมาพังขนาดนั้น เพราะหนังมันมีบท คือคนเขียนบทคนหนึ่ง คนกำกับอีกคนหนึ่ง  มันเลยไปด้วยกันไม่ได้ ตอนนั้นเขาบอกว่าถ้ามีคนเขียนบทแล้วหนังมันจะออกมาดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่พอมีบทแล้วเราทำไม่ถูก สมมติบทเขียนมาว่า ‘แก้วเดินไปทางนี้แล้วยิ้ม’ เขียนมาแบบนี้กูถ่ายไม่ถูก แต่ถ้ามีดาราอยู่หน้ากอง กูรู้ว่าอยากจะให้ใครเดินไปตรงไหนหรือต้องทำอะไร

     สำหรับเรา มีบทหรือไม่มีบทมันไม่ใช่สิ่งที่จะใช้บอกกันได้ว่ากำกับหนังถูกต้องหรือเปล่า สิ่งถูกต้องคือคุณจะทำยังไงให้คนดูหนังแล้วเขามีความสุขตามไปกับหนังได้ด้วย ฉะนั้นหลังจากผ่านเรื่อง โกซิกซ์ฯ เราเลยเขียนบทเองหมด ก็ใช้สมองคิดๆ ออกมาเป็นกระดาษ บางทีก็วาดๆ แล้วเอาไปขายกับนายทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูกันรู้เรื่องหมดนะ หนังเราที่กำกับโดยไม่มีบทเนี่ย บางเรื่องได้เงิน บางเรื่องได้รางวัล มันคือหนังที่สนุกกว่าหนังที่เขียนบทกันเป็นปีๆ อีกนะ

     อย่างตอนทำ เอ๋อเหรอ (2548) หนังก็ไปได้รางวัลจูรีไพรส์ (ขวัญใจกรรมการ) ที่เทศกาลภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก หรืออย่างตอนทำ เพื่อน…กูรักมึงว่ะ  (2550) หนังก็ได้รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มา 4 รางวัลคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม แล้วพอไปฉายเมืองนอก หนังก็ได้รางวัลกลับมาอีก (รางวัลสูงสุด The Grand Award in all Categories จาก 34th International Independent Film Festival ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม) แต่ตรงนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แล้วถึงเวลาก็ด่าแต่ว่ากูทำหนังตุ๊ด หนังเกย์สนองตัณหาตัวเอง

     ตอนทำหนังเรื่อง เพื่อน…กูรักมึงว่ะ (สหมงคลฟิล์ม) โปรเจกต์มันเกิดขึ้นเพราะเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) เขาอยากทำหนังเกย์ ตอนนั้น Brokeback Mountain กำลังดัง เพราะว่าบ้านเรามันยังไม่มีหนังเกย์ที่เปิดเผยแง่มุมดีๆ เราก็เลยวางพล็อตให้ตำรวจกับโจรเป็นแฟนกัน มันก็เลยออกมาเป็นหนังเกย์เรื่องแรกของเรา

 

 

:: 7 ::

พชร์ อานนท์ กับนักวิจารณ์ ไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาล

     ความจริงถ้าเขาวิจารณ์แบบคนรู้เรื่องหนัง เราก็ยอมรับนะ แต่บางคนมันด่าที่ตัวเรา มันไม่ได้ด่าหนังเรา เช่น ทำไมนายทุนถึงให้มึงทำหนังเยอะ ทั้งที่มึงทำหนังกาก ทำหนังเหี้ย คือกูจะไปรู้ไหมล่ะ แต่พอกูทำแล้วหนังมันได้เงิน นายทุนเขาถึงให้กูทำ

     การเป็นนักวิจารณ์ ไม่ใช่ว่าด่าไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ เพราะนั่นแสดงว่าคุณกำลังดูถูกคนที่เข้าไปดูหนัง สมมติว่าหนังได้ร้อยล้าน แสดงว่ามีคนเข้าไปดูหนังหลายแสนคนเลยนะ ซึ่งคุณกำลังดูถูกคนพวกนั้นอยู่

     รสนิยมการดูหนังของคนเรามันไม่เหมือนกัน คุณชอบกินก๋วยเตี๋ยว ฉันชอบกินข้าวผัด เพราะฉะนั้นเธอจะบอกให้คนชอบกินก๋วยเตี๋ยวมากินข้าวผัดเหมือนเธอ มันเป็นไปไม่ได้

     คนที่ด่าเรา บางทีเขาไม่ได้ดูหนังเรานะ บางคนบอกว่าเข้าไปในโรงหนัง นั่งดูอยู่แค่ 5 นาทีแล้วก็เดินออก เสร็จแล้วไปบอกคนอื่นว่าดูไม่รู้เรื่อง ก็มึงนั่งดูอยู่แค่ 5 นาทีไง มึงถึงดูไม่รู้เรื่อง ทำไมมึงไม่ดูให้จบ การดูหนังมันไม่ได้อยู่แค่ที่ 5 นาที แต่มันต้องดูให้จบ จุดพีกของหนังมันอยู่ที่ช่วงท้ายเรื่อง ไม่ได้อยู่ตอน 5 นาทีแรก หนังมันเพิ่งจะปูเรื่อง มึงดูไปเรื่อยๆ ก่อนสิ จะได้รู้สึกว่าตัวละครมันเดินมาทางนี้เพราะอะไร หรือทำไมไอ้นี่มันถึงยอมทำอะไรแบบนี้ ทำหนังมันก็ต้องมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ค่อยๆ แงะแง่มุมของตัวละครออกมาทีละอย่าง มึงจะให้กูเฉลยตอนจบตั้งแต่ต้นเรื่องเลยหรือไง

     ผู้กำกับเนี่ย บอกให้รู้ไว้เลยว่าจะต้องเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่ง ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าใจ เธอจะสร้างเรื่องขึ้นมา เธอจะต้องไปนั่งเล่าให้คนอื่นฟังว่าเข้าใจในสิ่งที่จะทำไหม เธอสนุกไหมในสิ่งที่ฉันเล่าให้ฟัง การที่คนเข้าไปในโรงหนังแล้วหัวเราะพร้อมๆ กัน หรือร้องไห้พร้อมๆ กันให้กับหนังที่เราทำ นั่นคือจุดที่ประสบความสำเร็จของคนทำหนังแล้ว

FYI
  • นักวิจารณ์ที่พชร์ อานนท์ เชื่อในคำวิจารณ์คือนันทขว้าง สิรสุนทร  และมงคลชัย ชัยวิสุทธิ์ (นักเขียนนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นามปากกา ‘ตีตั๋ว’ ที่ต่อมามีผลงานกำกับภาพยนตร์ เกิร์ลเฟรนด์ 14ใสกำลังเหมาะ (2545) และ เจ้าสาวผัดไทย (2547)
  • ความจริงแล้วก่อนหน้าจะออกมาเป็นหนังเรื่อง ไฉไล (2549) ที่เต็มไปด้วยกระแสข่าวแรงๆ ครั้งหนึ่งพชร์หมายมั่นว่าจะสร้างโปรเจกต์หนังกะเทยที่ต้องไปสืบราชการลับที่เมียนมา ชื่อเรื่อง ไฉไลไปรบ ซึ่งเคยถูกสร้างเป็นละครเวทีโดย กั๊ก-วรรณศักดิ์ ศิริหล้า มาก่อน ล่าสุดพชร์นำโปรเจกต์นี้กลับมาปัดฝุ่นเป็นหนังใหม่ของตัวเองเรื่อง ตุ๊ดตู่กู้ชาติ ที่คาดว่าจะออกฉายในเร็วๆ นี้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X