×

ทำไม ‘หนังสือภาพ’ กลับมาฮิต? เจาะวิวัฒนาการ 50 ปี จากยุคทองนิยายภาพไทยสู่หนังสือภาพยุคโซเชียล

09.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • ทศวรรษ 2550 หนังสือภาพเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่คนยุคเจนวายและเจนแซด
  • หนังสือภาพสะท้อนวัฒนธรรม ‘ตาดูหูฟัง’ (visual culture) ของคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการเสพสื่อผ่านภาพทั้งจากทีวี หนัง และสื่อโซเชียลมีเดีย
  • หากพิจารณาหนังสือภาพตั้งแต่เริ่มมีการ์ตูนในไทย พบว่าเคยมียุคทองของนิยายภาพและการ์ตูนเล่มละบาทที่เคยได้รับความนิยมมากในช่วงทศวรรษ 2500-2520 แต่ทั้งรูปแบบและลายเส้นของนิยายภาพและการ์ตูนเล่มละบาทไม่ได้ถูกส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ๆ เพราะทุกคนโตมากับการดูการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือการ์ตูน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าถึงง่ายและเหมาะกับทุกเพศทุกวัย
  • นิยายภาพกลับมาอีกครั้งในปี 2550 พร้อมกับการเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดียที่ช่วยสร้างศิลปินหน้าใหม่มากมาย โดยมีการพัฒนาลายเส้นในรูปแบบสมัยใหม่ และบรรณาธิการที่กล้าทดลองทำหนังสือภาพสำหรับผู้ใหญ่
  • ความนิยมในการอ่านของคนรุ่นใหม่ทำให้เห็นมุมมองที่มีต่อการ์ตูนและนิยายภาพเปลี่ยนจากสิ่งไร้สาระมาสู่งานศิลปะที่มีคุณค่าและใช้สื่อสารได้ เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนให้หันมาสื่อสารด้วยภาพมากขึ้น

     บนชั้นหนังสือทุกวันนี้จะมี ‘โซนหนังสือภาพ’ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ของคนรัก เพื่อน ครอบครัว และสัตว์ หรือไม่ก็เป็นบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน เช่น การเดินทางท่องเที่ยว หรือมุมมองที่มีต่อประเด็นสังคมต่างๆ

     หนังสือภาพเหล่านี้ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กเล็กประเภทการ์ตูนเรียนรู้ภาษา หรือนิทานเสริมจินตนาการ แต่คนอ่านคือวัยรุ่นและเยาวชน จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน ซึ่งหากเทียบออกมาเป็นเจเนอเรชันก็จะเป็นคนในยุคเจนวายและเจนแซด

     ในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา มีสำนักพิมพ์ที่เปิดตัวหรือเริ่มหันมาผลิตหนังสือภาพเพื่อคนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสือภาพบูมขึ้นมาในคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นช่องทางสื่อสารและเสพสื่อของคนยุคเจนวายและแซด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวไทยจำนวนมหาศาลที่ใช้ภาพเล่าเรื่องของตัวเองผ่านนิวส์ฟีด

     สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนไม่ได้อ่านหนังสือด้วยสายตาอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นการ ‘ดู’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่ง่ายกว่าการซึมซับด้วยตัวหนังสือ

     เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ยุคบุกเบิกการ์ตูนไทย อันที่จริงการ ‘ดู’ ไม่ใช่พฤติกรรมใหม่ แต่เป็นพฤติกรรมที่มีอยู่เดิม เพราะความจริงคนไทยเสพการอ่านหนังสือภาพมานานมาแล้ว หากใครเคยแอบดูหนังสือเก่ารุ่นปู่ย่าตายายก็จะพบหนังสือภาพและการ์ตูนแบบไทยๆ ที่เป็นเรื่องในวรรณคดี นิทานพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ หรือเรื่องผีสางในลายเส้นแบบเข้มๆ ตัวการ์ตูนดูมีความสมจริง มีคำพูดหรือบทสนทนาเยอะๆ อย่างที่เรียกกันว่า ‘นิยายภาพ’

     แต่เมื่อมาดูการ์ตูนและหนังสือภาพในปัจจุบัน ไม่ว่าจะลายเส้นหรือเรื่องราวก็ดูจะห่างไกลจากหนังสือภาพในยุคดั้งเดิมมากจนเหมือนกับว่าลายเส้นและเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้มีการสืบทอดหรือส่งผ่านสู่ศิลปินและนักวาดรุ่นใหม่

     น่าสงสัยไหมว่าหนังสือภาพในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ศิลปินเล่าเรื่องอะไรกัน แล้วใครอ่านกันบ้าง?

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.W

 

พ.ศ. 2500-2540 นิยายภาพที่เลียนแบบคอมิก การ์ตูนที่เลียนแบบมังงะ

     ครั้งหนึ่งในเมืองไทยช่วงที่ทีวียังเข้าไม่ถึงทุกบ้าน วิทยุยังคงเปิดสุนทราภรณ์ เอลวิส เพรสลีย์ และโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เคยมียุคทองของนิยายภาพที่เริ่มต้นเมื่อปี 2500 ในยุคนี้นิยายภาพแทบจะออกเป็นรายวัน คนไทยอ่านนิยายภาพราวกับการดูหนัง เพราะในยุคนั้นยังมีสื่อให้คนเสพไม่มากนัก

     นิยายภาพ (illustrated tale) ตามรูปแบบดั้งเดิมจะเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบจำนวนมาก ได้รูปแบบจากคอมิกฮีโร่ (comic) ฝั่งตะวันตกเป็นต้นแบบ มีลักษณะเด่นที่มีช่องคำพูดหรือคำบรรยายภาพเยอะมาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการดูและการอ่านนาน เนื้อหามักมาจากนวนิยายขายดี เทพนิยาย วรรณคดี หรือนิทานพื้นบ้านมาแปลง เช่น เล็บครุฑ นิยายสืบสวนของพนมเทียน มาเขียนเป็นนิยายภาพโดยฉลอง ธาราพรรค์ และเนรมิตร์ มีนิตยสารนิยายภาพโดยเฉพาะอย่าง นิยายภาพผ่านฟ้า ของจุก เบี้ยวสกุล ผู้บุกเบิกนิยายภาพแนวฮีโร่ผดุงคุณธรรม ที่ใช้ตัวเอกเป็นชื่อเรื่อง เช่น เจ้าชายผมทอง สิงห์ดำ ในยุคนี้ศิลปินจะนิยมใช้พู่กันในการวาดรูป ใช้ปากกาในการเขียนตัวอักษรและเส้นเคลื่อนไหว

   

นิยายภาพ สิงห์ดำ ราช เลอสรวง

Photos: Thaicartoon FB-Master

 

     ในรอบ 20 ปี นิยายภาพรูปแบบนี้มีทั้งช่วงยุคทองและช่วงเกิดหายตายดับวนเวียนกันด้วยหลายปัจจัย อย่างแรกคือกระบวนการผลิตนิยายภาพที่ศิลปินจะต้องทำงานเพียงลำพัง ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะผลิตงานแต่ละชิ้น เพราะวาดด้วยมือ และองค์ประกอบงานศิลป์ที่เน้นความสมจริงมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตงานทันกระแสความนิยมของคนอ่านได้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างต่อหนึ่งหน้า ต่ำสุดคือ 100 บาท สูงสุดคือ 1,000 บาท อาชีพศิลปินจึงถูกมองว่า ‘ไส้แห้ง’

 

การ์ตูนเล่มละบาทเรื่องผีๆ

Photos: Thaicartoon FB-Master

 

     สอง วงการการ์ตูนไทยเกิด ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ จากการเติบโตของสำนักพิมพ์ที่เปิดกันมากในยุคนั้น เช่น สำนักพิมพ์สากล, สำนักพิมพ์สุภา, บางกอกสาส์น, สำนักพิมพ์สามดาว เป็นต้น แต่การผลิตจะมีลักษณะแมสคือเน้นปริมาณและมีคุณภาพที่ดร็อปลงมา ถึงแม้การ์ตูนเล่มละบาทจะเป็นเอกลักษณ์ของยุค เป็นพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ปล่อยของและแจ้งเกิดก็จริง แต่ด้วยแนวเรื่องที่ไม่ค่อยมีการพัฒนา วนเวียนอยู่กับเรื่องผี, ตลก, นิทาน และเซ็กซ์ ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการ์ตูนไทยไร้สาระ มีแต่เรื่องยั่วยุกามารมณ์ และนิทานพื้นบ้านที่ไม่สร้างสรรค์

     หลังทศวรรษ 2510 นิยายภาพที่เป็นเรื่องเดี่ยวๆ อย่าง สิงห์ดำ เริ่มจางหายไปจากตลาด คนอ่านส่วนใหญ่หันมานิยมอ่านการ์ตูนตลก ศิลปินก็หันมาทำแนวนี้มากขึ้น โดยจะมีลักษณะเป็นการ์ตูนช่องหรือการ์ตูนตลกเรื่องสั้น ผสมเข้ากับนิยายภาพขนาดยาวอยู่ในเล่ม เช่น รวมรสสำราญ ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ทำให้เกิดการ์ตูนและนิยายภาพรูปแบบใหม่ๆ

 

ชัยพฤกษ์การ์ตูน

Photos: www.su-usedbook.com

 

     ศิลปินในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินหนุ่มที่ทำงานแบบจับกลุ่มกัน เช่น กลุ่มชัยพฤกษ์การ์ตูน (ในเครือนิตยสาร ชัยพฤกษ์ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช) ทำทั้งนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ หรือเรื่องราวใสๆ อย่างเด็กชนบทและเด็กในเมืองกรุง มีศิลปินอย่าง เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวทย์, สมชาย ปานประชา, สุรพล พิทยาสกุล และเฉลิม อัคภู ซึ่งภายหลังทั้ง 5 คนนี้ก็มารวมตัวใหม่ในชื่อ ‘กลุ่มเบญจรงค์’ เปิดนิตยสารการ์ตูนรายเดือนชื่อ เพื่อนการ์ตูน ในค่ายไทยวัฒนาพานิช ซึ่งทำทั้งหนังสือเด็ก หนังสือภาพ และนิทานภาพในอีกหลายปีต่อมา

     ช่วงต้นปี 2520 มีศิลปินกลุ่มจินดาสาส์นที่พยายามสืบสานการผลิตนิยายภาพไว้ แต่ก็อยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลาน เช่น ราช เลอสรวง เจ้าของผลงาน สิงห์ดำ พยายามทำขึ้นมาใหม่ ร่วมกับศิลปิน จุก เบี้ยวสกุล, สกนธ์ แพทยกุล, ทอง ทวีพร, อำพล เจน และวสันต์ เชิงชัย เปิด นิยายภาพ เพื่อต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งเนื้อหา การวาด และคนอ่านใหม่ที่เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะยอดขายไม่ดี และ นิยายภาพ 82 โดยอำพล เจน ที่ใช้วิธีทำนิยายภาพแบบเรื่องสั้นลงเป็นตอนๆ เน้นเรื่องสะท้อนปัญหาสังคมจากนิยายของนักเขียนดัง แต่เนื้อหาเหล่านี้ก็ไม่โดนใจคนอ่านมากนัก

 

ขายหัวเราะ และ มหาสนุก

Photos: Thaicartoon FB-Master

 

     การ์ตูนเล่มละบาทและนิยายภาพซบเซาลงไป เหลือเพียงแต่การ์ตูนแก๊ก (gag panel) และการ์ตูนตลกสามช่อง (comic strip) ของ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ที่อยู่คู่สังคมมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการ์ตูนญี่ปุ่นทางโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2508 เรื่อง เจ้าหนูลมกรด ตามด้วยหนังสือการ์ตูนช่องญี่ปุ่น หรือมังงะ (manga) ในปี 2514 และพีกมากเมื่อเมืองไทยมี โดราเอมอน ให้อ่าน และมี ช่อง 9 การ์ตูน ทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ดูตั้งแต่ปี 2523 ที่มาเปิดโลกจินตนาการ เนื้อหาที่แบ่งทั้งการ์ตูนสายโชโจะ (เด็กผู้หญิง) โชเน็น (เด็กผู้ชาย) ตัวละครมีคาแรกเตอร์ชัด และส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กวัยมัธยม ทำให้เด็กไทยเข้าถึงง่ายกว่าการ์ตูนและนิยายภาพไทยที่มีเนื้อหาพ้นวัย

     ในปี 2538 สำนักพิมพ์ไทยขอซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างถูกต้องครั้งแรก ทำให้เกิดนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์จาก 3 สำนักพิมพ์หลักคือ Boom ของเนชั่น คอมิคส์, C-Kids ของสยามอินเตอร์คอมิคส์ และ K.C.Weekly ของวิบูลย์กิจ ทำให้เมืองไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการ์ตูนแปล ส่วนการ์ตูนเล่มละบาทและนิยายภาพหันไปอิงกับตลาดล่างเป็นหลัก

 

มีดที่ 13 ลายเส้นการ์ตูนพลังเค

Photos: มีดที่ 13, Facebook

 

     คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับมังงะได้ซึมซับเอาลายเส้นมาปรับใช้จนเป็นลายเส้นที่ดูทันสมัย มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และผลิตการ์ตูนกันขึ้นมา อย่างในปี 2541 นิตยสารวัยรุ่น Katch และ Manga Katch ของบริษัท Bakery Music ทำคอลัมน์การ์ตูนของ B Boyd Characters, นักสืบหัวปลาหมึก Joe the Sea-Cret Agent ของสุทธิชาติ ศราภัยวานิช และ hesheit ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร เป็นต้น รวมถึง มีดที่ 13 โดยนพ วิฑูรย์ทอง และบุญเชิด แช่มประเสริฐ ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Boom จะมีลายเส้นแบบการ์ตูนพลังเค เช่น เคนชิโร (หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ), โรงเรียนลูกผู้ชาย และ บากิ ซึ่งได้รับความนิยมมากจนทำมาถึง 4 ซีซันในปัจจุบัน

 

นักสืบหัวปลาหมึก Joe the Sea-Cret Agent สำนักพิมพ์ NED Comics และ hesheit ฉบับรวมเล่ม 1-2-3 สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

 

     ในหมู่หนังสือเด็กยังเกิดกระแส ‘มังงะฟีเวอร์’ หลังมีการนำหนังสือสอนความรู้ในรูปแบบการ์ตูนภาพของญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่าย เช่น วิทยาศาสตร์อ่านสนุก (2528) สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชัน หรือ โดเรมอนสอนคณิตศาสตร์  (2536) ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ สำนักพิมพ์ไทยก็นำตัวการ์ตูนไทยมาทำบ้าง จนเกิดเป็นยุคหนังสือการ์ตูนความรู้ไทยที่เป็นที่นิยมมากจนมีการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในช่วงปี 2547 คือ รามเกียรติ์ฉบับการ์ตูน โดย สำนักพิมพ์ เลิร์นนิ่ง บาย สกายบุ๊คส์, 14 ตุลา วันประชาธิปไตย: บันทึกตำนาน 14 ตุลาคม 2516 ฉบับเยาวชน โดย สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก และ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดย สำนักพิมพ์อีคิวพลัส

 

รามเกียรติ์ฉบับการ์ตูน สำนักพิมพ์ เลิร์นนิ่ง บาย สกายบุ๊คส์

14 ตุลา วันประชาธิปไตย: บันทึกตำนาน 14 ตุลาคม 2516 ฉบับเยาวชน โดย สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

และ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สำนักพิมพ์อีคิวพลัส

 

     ตลอด 30 ปี มังงะกลายเป็นสื่อบันเทิงสำหรับคนไทยทั้งการอ่าน การดู และการรับมาต่อยอดผลงานของศิลปินไทย ส่วนการ์ตูนและนิยายภาพที่มีลายเส้นแบบดั้งเดิมจะพบเห็นในงานการ์ตูนพระราชนิพนธ์ และการ์ตูนพุทธศาสนา

 

พ.ศ. 2550 หนังสือภาพยุคโซเชียลมีเดีย การมาถึงของศิลปิน-นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่

     นิยายภาพกลับมาอีกครั้งในทศวรรษ 2550 พร้อมกับการมาถึงของสื่อโซเชียลมีเดีย และการศึกษาทางศิลปะที่มีระบบระเบียบชัดเจนจนสร้างศิลปินและนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่มากมาย ทำให้การ์ตูนและนิยายภาพไทยขยายรูปแบบไปอย่างกว้างขวาง คนรักงานภาพทั้งศิลปินหรือเจ้าของสำนักพิมพ์กล้าคิดกล้าทดลองทำการ์ตูนและนิยายภาพโดยมีต้นแบบจากวรรณกรรมและภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งลักษณะลายเส้นหรือเนื้อหาในหลายๆ เล่มจึงคล้ายกับการดูภาพยนตร์ มีการใช้คำบรรยายเรื่องหรือช่องคำพูดที่น้อยลงมาก หรือบางเล่มก็อาจไม่มีคำบรรยายอยู่เลย ให้ภาพทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างเดียว จนกลายเป็น ‘หนังสือภาพ’ ซึ่งจะเหมาะกับคนอ่านวัยมหาวิทยาลัยจนถึงผู้ใหญ่

 

Beansprout & Firehead เล่มที่ 3

Photos: songsin.exteen.com

 

     ในปี 2549 มีศิลปินต้นแบบในการทำนิยายภาพสมัยใหม่คือ ทรงศีล ทิวสมบุญ จากเรื่อง ถั่วงอกและหัวไฟ Beansprout & Firehead จะเป็นเรื่องแต่งแนวผจญภัยแฟนตาซี ตัวละครเป็นตัวการ์ตูน ไม่ได้เป็นคนที่มีเรือนร่างสมจริง ลายเส้นจะดูมืดหม่น เน้นรายละเอียดของตัวละครและฉากมาก คล้ายๆ กับงานของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ที่สำคัญคือใช้ภาษาอังกฤษในการสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครรวมถึงชื่อเรื่อง

     และ สำนักพิมพ์ฟูลสต็อป ที่บุกเบิกการทำหนังสือนิยายภาพและหนังสือภาพมาตลอดสิบปี ทั้งการนำภาพถ่ายมาคอลลาจ นำเพลงมาเป็นไอเดียในการวาดรูป รวมศิลปินมาวาดภาพเล่าเรื่องสั้น หรือแปลงเรื่องจากแอนิเมชัน ฯลฯ ซึ่งหลักการของการทำหนังสือก็จะคล้ายกับนิยายภาพยุคก่อนหน้า คือให้ความสำคัญกับภาพและเรื่องราวเท่ากัน ส่วนเรื่องจะเป็นอะไรก็ได้ เพียงแต่เมื่อทั้งสองอย่างมารวมกันแล้วต้อง ‘กระทบใจ’ คน

 

FAR from NEAR, 2560 สำนักพิมพ์ฟูลสต็อป

 

     “มีตั้งแต่โทนใสไปจนถึงโทนดาร์กเลย อย่างแรกเลยคืองานภาพต้องเด่นก่อน เด่นในที่นี้หมายถึงว่าต้องไม่มีในแบบที่เราทำอยู่ ทักษะของศิลปินต้องสูงนิดหนึ่ง นอกจากมีเอกลักษณ์แล้วมันต้องกระทบใจคนทั่วไปด้วย ดังนั้นเรื่องราวจึงเป็นเรื่องอะไรก็ได้เลย เช่น มีเรื่องให้ศิลปินรวมตัวกัน 3 คนแล้วตระเวนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อไปวาดรูปและเล่าเรื่อง (FAR from NEAR, 2560) ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่าเป็นหนังสือภาพได้เลย ไม่ใช่สตอรีหนักๆ ด้วยซ้ำไป ส่วนเรื่องยาวก็มีซีรีส์ยาวของ อัพ-ทรงศีล ทิวสมบุญ หรือ หยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล ซึ่งคนนี้จะมีเส้นเรื่องสองแนวทางคือเป็นเรื่องยาว และอีกทางหนึ่งคือบันทึกการเดินทางแล้ววาดรูปเก็บ” คิด-สมคิด เปี่ยมปิยชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟูลสต็อปกล่าว

 

หนังสือภาพคำคม โปรดเรียกผมว่าคิ้วต่ำ สำนักพิมพ์จ้ำอ้าว และนิยายภาพ Sound About ไม่ได้ฟัง แต่ยังได้ยิน สำนักพิมพ์ Her Publishing

 

     นอกจากนี้ยังมีงานทดลองของกลุ่มศิลปินที่เติบโตจากในสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเว็บบล็อก exteen เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ ช่วงต้นทศวรรษ 2550 หากใครยังจำกันได้ถึง การ์ตูนไอ้แป้น หรือ โปรดเรียกผมว่าคิ้วต่ำ ที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นอย่างท่วมท้น หลังจากนั้นก็กลายเป็นยุคหนังสือ ‘ฟีลกู้ด’ ที่มีศิลปินและสำนักพิมพ์เปิดตัวตามกันมาอย่างมากมาย เช่น สำนักพิมพ์ Her Publishing ผลิต คนอะไรเป็นแฟนหมี ของกษิดิศ ประสิทธิ์ และนิยายภาพ Sound About ไม่ได้ฟัง แต่ยังได้ยิน ของคิ้วต่ำ

     นิยายภาพจากศิลปินกลุ่มนี้มักจะมีลักษณะผสมระหว่างการ์ตูนช่องกับภาพประกอบ เช่น ซีรีส์ i sea you ของมุนินฺ สำนักพิมพ์ To Share Publishing House หรือบางทีก็ใช้คำบรรยายเรื่องที่น้อยลงมากจนเหลือเพียงแค่คำคม หรือคำที่เป็นไอเดียหลักๆ ประกอบภาพ ภาพจะดูง่ายขึ้น น่ารักขึ้น และเน้นเรื่องใกล้ตัว เช่น ความรักความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน

 

การ์ตูนช่องเรื่อง ไอ้แป้น

Photos: hdarkygirl.exteen.com

 

     แพร-วรินทร นรกรรณ์ บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์จ้ำอ้าว ในเครือสำนักพิมพ์บิสซีเดย์ ที่เปิดตัวเมื่อปี 2551 จาก การ์ตูนไอ้แป้น มองว่า ศิลปินที่ทำหนังสือแนวฟีลกู้ดมักจะเริ่มจากการทำการ์ตูนช่องก่อนที่จะปรับมาเป็นหนังสือภาพ และนิยายภาพ

     “เหมือนมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ อย่างในช่วงยุคแรกศิลปินจะวาดเป็นการ์ตูนช่องกันเยอะ แม้แต่ของจ้ำอ้าวเองก็เป็นการ์ตูนช่อง (ไอ้แป้น) แล้วก็พัฒนาจนมาเป็นนิยายภาพ คือการเล่าเรื่องบางทีอาจไม่เอาช่องมาตีกรอบ ทำให้ภาพมีสเปซที่กว้างขึ้น ในส่วนของการเล่าเรื่องก็เหมือนเป็นตามยุคตามสมัยเหมือนกัน อย่างเช่นในช่วงหนึ่งเราจะเน้นเรื่องภาพสวยๆ โดยไม่มีกรอบ การใช้คำจะสั้นๆ เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เช่น การ์ตูนมุนินฺ เล่ม 1-5 จะเป็นการ์ตูนสั้นแบบแบ่งช่อง พอสักระยะหนึ่งทำเรื่อง คนแห่งความรัก อันนี้จะเป็นนิยายภาพ หน้าหนึ่งจะวาดการ์ตูน แล้วอีกหน้าหนึ่งจะมีคำบรรยาย หรือบางหน้าก็ไม่มีคำบรรยายเลย ใช้ฟีลลิงในการนำเสนอล้วนๆ เหมือนถ้าคนได้เปิดอ่านก็จะตะลึงไปกับลายเส้นและฟีลลิงที่มันมาเต็มๆ อยู่ในหน้านั้น”

     ในช่วง 5 ปีแรกของทศวรรษนี้ หนังสือภาพได้รับความนิยมมาก ทั้งนิยายภาพของสำนักพิมพ์ฟูลสต็อปที่ขายดีที่สุดในปี 2553 และหนังสือภาพของจ้ำอ้าวที่ติดหนึ่งในสามกลุ่มหนังสือที่ขายดีที่สุดของบริษัทบิสซีเดย์

  

หนังสือภาพคือหนึ่งในวัฒนธรรม ‘ตาดูหูฟัง’

     จากผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มวัยเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มผู้อ่านหนังสือสูงสุดนั้นจะอ่านหนังสือการ์ตูนและนิยายภาพเป็นอันดับต้นๆ รองจากหนังสือเรียน และเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปี 2558 (จากการวิจัยเรื่อง ‘ผลวิจัยการอ่าน คนไทยอ่านอะไร’) ในปี 2559 การ์ตูนและนิยายภาพเป็นผลงานที่มีศิลปินส่งเข้าประกวดรางวัลทางวรรณกรรมมากที่สุด มากกว่าหนังสือประเภทนิยายและเรื่องสั้น ในโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 13

     ความนิยมการอ่านการ์ตูนและนิยายภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้เห็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคเจนวายและแซดที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล ซึ่งศาสตราจารย์ ดอกเตอร์รื่นฤทัย สัจจพันธ์ุ มองว่ามันคือวัฒนธรรม ‘ตาดูหูฟัง’ ที่คนรุ่นนี้เคยชินกับการดูภาพยนตร์ วีซีดี ภาพในจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับภาพมากกว่าตัวหนังสือ (visual culture) โดยการ์ตูนและนิยายก็คือหนึ่งในสื่อที่ทำการสื่อสารด้วยภาพ

     ที่ผ่านมาจึงมีการให้นิยามใหม่ๆ เกี่ยวกับการ์ตูนมากขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มเรียนรู้ว่าการ์ตูนไม่ใช่สิ่งไร้สาระ และไม่ได้มองว่าการ์ตูนเป็นเพียงเรื่องของเด็กเท่านั้น ในรอบสิบปีที่ผ่านมามีงานวิจัยที่นำการ์ตูนและนิยายภาพมาช่วยส่งเสริมการอ่านของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านช้า (reluctant reader) เนื่องจากธรรมชาติสมองของคนจะเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ เป็นภาพ ไม่ใช่กับตัวหนังสือ ภาพจึงช่วยดึงดูดเด็กให้มีนิสัยรักการอ่านมากขึ้นในอนาคต (อ่านเพิ่มเติม นิยายภาพ: การ์ตูนสร้างสรรค์เพื่อการอ่าน ของชมนาด บุญอารีย์)

 

อคติของคนรุ่นเก่าและสื่อสร้างแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่

     หากมองย้อนกลับไปยังยุคทองของนิยายภาพที่เคยอยู่ท่ามกลางกระแสการ์ตูนว่าเป็นสิ่งมอมเมาเยาวชนและเป็นเรื่องไร้สาระ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่ามันคืออคติของคนในแต่ละรุ่น ซึ่งก็คือรุ่นเบบี้บูมเมอร์สที่โตมากับการ์ตูนที่มีความรุนแรงและภาพลามก

     “ต้องถามว่าใครที่มีอคติ ก็คือกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่อ่านการ์ตูน แต่พอเป็นรุ่นผมซึ่งเป็นยุคเจนเอ็กซ์ที่อ่านการ์ตูนแล้ว ในยุคนั้นก็จะมีการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งมันมีเนื้อหาบางส่วนที่มีความรุนแรงและลามกแทรกเข้ามาด้วย กลุ่มคนเบบี้บูมเมอร์สก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีและมีผลต่อการเรียน แต่พอมาถึงยุคนี้ ก็คือกลุ่มคนยุคเจนเอ็กซ์ที่โตมาพร้อมกับการ์ตูนญี่ปุ่นหรือการ์ตูนขายหัวเราะ คนกลุ่มนี้มีการยอมรับการ์ตูน ไม่ได้มีอคติ เห็นข้อดีของมัน รู้ว่ามีบางเรื่องต้องระวัง แต่ไม่ปิดกั้น เพราะฉะนั้นก็จะอนุญาตให้ลูกซึ่งเป็นเจนวายหรือเจนแซดในตอนนี้อ่านการ์ตูนได้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็โตขึ้นมาเป็นฐานสนับสนุนของการเกิดขึ้นของการ์ตูนยุคใหม่ โดยเฉพาะการ์ตูนที่คนไทยเขียน”

     ในมุมมองของคนเรียนศิลปะหรือคนที่ชอบสะสมหนังสือเก่า การ์ตูนและนิยายภาพจะเป็นมากกว่าแค่เรื่องอ่านสนุก แต่มันคืองานศิลปะที่สร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ หนังสือภาพจึงมักจะได้แฟนคลับส่วนหนึ่งที่เป็นเด็กเรียนอาร์ตตามซื้อเก็บสะสม รวมถึงพ่อแม่รุ่นใหม่ที่ซื้อหนังสือภาพหรือนิทานดีๆ สักเล่มให้ลูกอ่าน

     “สำหรับเด็กไทยหลายคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ดีๆ งานนิทานดีๆ picture book ดีๆ มันก็เป็นเหมือนหอศิลป์ที่อยู่ในบ้านให้เด็กได้ดู ได้สัมผัส” ทวีศักดิ์ พึงลำภู บรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก กล่าวถึงคุณค่าของหนังสือกลุ่มนี้

 

หนังสือภาพคือหนังสือแฟชั่น นิยายภาพคือหนังสือที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง

     5 ปีหลังมานี้ นอกจากวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์และสถานการณ์บ้านเมืองใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้ยอดขายหนังสือหดตัวและปิดตัวแล้ว สำหรับการ์ตูน หนังสือภาพ นิยายภาพ ยังมีเรื่องของจำนวนศิลปินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแย่งความสนใจจากผู้อ่านกันเอง

     “หนังสือภาพน่าจะดร็อปลงในช่วงแรกๆ เพราะว่ามีนักวาดเกิดมามากขึ้น ความสนใจของนักวาดคนเดิมจึงอาจถูกทอนลงไปบ้าง ถ้าผลงานยังไม่ตรงใจกับคนอ่านมากนัก เราก็ต้องคอยปรับไปว่าจะนำเสนอมุมไหนที่ทำให้คนอ่านสนใจและชอบได้ แพรว่ามันก็ดีกับคนอ่านที่จะได้ดูผลงานของคนอื่นมากขึ้น ส่วนสำนักพิมพ์ก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันไป” บ.ก. แพร วรินทร กล่าวถึงความนิยมของหนังสือภาพที่ตกลงในปัจจุบัน

     หน้าที่ของบรรณาธิการหนังสือภาพจึงต้องเข้ามาช่วยศิลปินในการหาวิธีการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ให้แตกต่างจากศิลปินคนอื่น และรักษาฐานผู้ติดตามของศิลปินให้ยังคงอยู่ในระยะพีกของหนังสือ เพราะไม่เพียงจะมีกลุ่มคนอ่านที่เบื่อกับความซ้ำของเนื้อหาแล้ว ยังมีอคติที่ว่าจะซื้อทำไม ในเมื่อดูฟรีได้อยู่แล้วจากเพจของศิลปิน

     “ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือประเภทนี้มีความเป็นแฟชั่น อย่างของคิ้วต่ำเอง เล่มแรกออกมาเป็นภาพกับคำสั้นๆ เลย พอเล่มที่ 2 ออกมาในลักษณะคล้ายกัน แต่ฉีกธีมออกไปบ้าง ความสนใจก็จะไม่เท่ากับเล่มแรก พอมาเล่มที่ 3 ก็มาคุยกับนักเขียนแล้วปรับเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นภาพและนิยายแต่งขึ้นมาใหม่ ฟีดแบ็กก็กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง มันต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของคนอ่าน ซึ่งบางทีการที่เรามีนักเขียนที่เปิดเพจเราก็เช็กฟีดแบ็กได้บ้าง แพรก็จะมาคุยต่อยอดกับนักเขียนว่าเราจะทำมันออกมาเป็นหนังสือได้ยังไง

     “ศิลปินจะมีระยะเวลาของแต่ละคนอยู่เหมือนกัน เพราะจากที่ผ่านมามันก็จะมีทั้งช่วงพีกและช่วงปกติ อย่างบางคนหนังสือออกไปนานมากแล้วก็ยังมีคนมาตามซื้อเก็บย้อนหลังก็มี โดยช่วงพีกจะอยู่ประมาณ 2-3 ปีที่มีฟีดแบ็กกลับมาเป็นที่น่าพอใจ ส่วนช่วงปกติของหนังสือก็จะเรื่อยๆ เลย เพราะหนังสือจะไปอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไปอย่างซีเอ็ด นายอินทร์ บีทูเอส รวมถึงงานบุ๊กแฟร์ และเว็บไซต์ ยอดขายตรงนี้จะเรื่อยๆ” บ.ก. แพร กล่าว

     แต่สำหรับนิยายภาพที่ไม่แมสก็จะเจอปัญหาใหญ่กว่านั้น คือไม่มีคนรู้จักเลยว่ามันคือหนังสืออะไร อย่างที่ บ.ก. คิด สมคิด เล่าถึงปัญหาหนังสือภาพของสำนักพิมพ์ฟูลสต็อปว่า คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม หรือนึกว่าเป็นการ์ตูนหรือนิยายภาพของต่างประเทศ ทำให้เขาต้องคอยเก็บข้อมูลว่าใครคือผู้อ่าน และมีจำนวนเท่าไรด้วยตนเองทุกครั้งที่ไปขายหนังสือ

     “ปัญหาหนังสือในปัจจุบันที่ผมเห็นก็คือ คนเขาไม่รู้ว่ามันมีหนังสือเล่มนี้อยู่ หรือรู้ในปริมาณไม่มากพอ พอหนังสือวางนานๆ ไป หนังสือเล่มนั้นก็อ่อนแรงไปโดยอัตโนมัติ มันไม่ทรงพลัง แต่ถ้าเรามีการสื่อสารกับแฟนสำนักพิมพ์ว่าเรากำลังทำเล่มนี้อยู่นะ ก็จะเป็นสะพานเชื่อมให้ศิลปินได้

     “แต่ยอดคนไลก์ก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีนะว่ามันจะขายได้ ดังนั้นผมจะเป็นคนวัดเองจากงานสัปดาห์หนังสือสองครั้ง และจากการตระเวนไปจัดงานทั่วประเทศ มันเป็นข้อมูลชั้นดีเลย เพราะมาถึงผู้ซื้อเขาก็จะนินทาหนังสือเรา เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร (หัวเราะ) ข้อมูลดิบที่เราเก็บพวกนี้ก็จะส่งต่อไปหาศิลปิน ทั้งเรื่อง ทั้งวิธีการวาด มันทำให้เรารู้เลยว่าแฟนงานเราเป็นคนแบบไหนบ้าง ส่วนข้อมูลที่ส่งกลับไปหาศิลปินหรือนักเขียน เขาก็จะเอาไปปรุงกับตัวตนใหม่และทำการสื่อสารให้แข็งแรงมากขึ้นในการจะทำงานชิ้นต่อไป”

 

การเดินทางของศิลปะและศิลปิน มากกว่าหนังสือ คือการสื่อสารผ่านภาพ

   

นิยายภาพเรื่อง Home ของศศิ วีระเศรษฐกุล

 

     หยอย-ศศิ วีระเศรษฐกุล เจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะวาดสตูดิโอ และศิลปินที่ทำนิยายภาพและหนังสือภาพร่วมกับสำนักพิมพ์ฟูลสต็อปมากว่าสิบปีมองว่า เขาเองก็เป็นเด็กที่ไม่ถนัดการอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือล้วนๆ แต่โตมากับการดูทีวี การ์ตูน และหนังที่มีภาพสวยๆ จึงคุ้นชินกับการเสพสื่อผ่านภาพ และเมื่อมาถึงยุคโลกดิจิทัล ก็เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การเสพสื่อของคนในยุคปัจจุบันที่มีรูปภาพเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันแทบทุกมิติ

     ศศิมองว่าคนทุกวันนี้ต่างมีเรื่องที่อยากจะเล่า อยากจะสื่อสารกันทุกคน และด้วยเทคโนโลยีก็ทำให้ทุกคนเล่าเรื่องผ่านภาพกันได้ง่ายมาก ขอเพียงแค่มีอุปกรณ์ต่างจากสมัยก่อนที่กว่าจะเป็นศิลปินได้ คนคนนั้นต้องมีพรสวรรค์เป็นตัวนำมาก่อน ซึ่งแนวทางของศิลปินในยุคนี้ก็ทำได้หลายทางทั้ง ถ่ายรูป วิดีโอ หนังสือ ภาพประกอบ งานออกแบบ การ์ตูน หรือหนังสือภาพ ซึ่งทั้งหมดมันคือการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นหากจะให้จำกัดความว่าศิลปินยุคนี้ทำอะไร เขาเรียกรวมๆ ว่า ‘นักสื่อสารด้วยภาพ’

     “เมื่อก่อนเวลาเราจะสื่อสาร เราต้องเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง อ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อจะได้สื่อสารได้ ผมมองว่านิยายภาพก็เหมือนกับการถ่ายรูป มันง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ เรามีอุปกรณ์ช่วย มีตัวอย่างให้เปิดดูได้ ลองหัด คุณก็สื่อสารออกมาได้แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะทำออกมายังไงเท่านั้นเอง

     “ในการทำหนังสือภาพมันก็คล้ายกับการอ่านหนังสือที่ทำให้คนอ่านได้จินตนาการ ได้เดา ได้เปิดโลก เปิดที่ว่างไว้ค่อนข้างเยอะ สมมติตอนเย็นฝนตก มีผู้หญิงเดินมาสวยจัง แต่สิ่งที่มันขาดหายไปคือจินตนาการ ฉะนั้นอะไรที่จะเติมจินตนาการได้ มันก็เข้ามาที่การดีไซน์ภาพ ทิ้งที่ว่างให้คนเห็นแล้วคิดตาม หรืออย่างจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ ก็จะแต่งเรื่องแล้วเอาอารมณ์จริงเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือจะทำบันทึกการเดินทาง ก็จะไม่มีเรื่องเลย แต่สามารถทำเป็นการ์ตูนและบันทึกได้ มันเหมือนเราสื่อสารด้วยภาพ แล้วพอเอามารวมเล่มมันก็ดูชัดและขายได้ ถ้าให้ผมนิยามสิ่งที่ตัวเองทำก็คือ ‘นักสื่อสารด้วยภาพ’ มันจะง่ายสำหรับผมครับ”

นิยายภาพเรื่อง ประโยคสัญลักษณ์ ของมุนินฺ

Photos: มุนินฺ, Facebook

 

     ด้าน มุนินฺ หรือมุนินทร์ สายประสาท ศิลปินนิยายภาพและเจ้าของสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร ที่เปิดตัวเมื่อปี 2556 ก็มองว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักวาดการ์ตูน แต่เป็นคนเล่าเรื่อง โดยโทนเรื่องที่จะเล่านั้นเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ และครอบครัวเป็นหลัก การทำนิยายภาพจึงเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะกว่าการทำเป็นการ์ตูนช่อง ที่จะต้องออกแบบช่องการ์ตูนและมูฟเมนต์ของตัวละครเยอะเกินไป ในขณะที่นิยายภาพจะใช้ภาพเล่าเรื่องนิ่งๆ ให้ผู้อ่านซึมซับภาพ และเกิดจินตนาการร่วมไปกับหนังสือ

     “มุนินทร์เองจะไม่ได้ทำการ์ตูนช่องมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นนิยายภาพเลย อย่าง ประโยคสัญลักษณ์ หรือ i sea you เพราะนิยายภาพจะเป็นแค่ช่องเรียงๆ กัน ไม่ได้ออกแบบเป็นคอมิกที่มีช่องเล็กช่องใหญ่ และด้วยอีกหลายๆ เหตุผล เช่น เราทำงานคนเดียว มันทำงานง่ายกว่าในการคิดภาพให้ค่อยๆ เรียงกันออกมา ไม่ต้องถึงกับออกแบบตัวช่องที่คุณก็รู้ว่ามันจุกจิก อย่างการวางช่องเล็ก ช่องใหญ่ การมีฉากบู๊ ฉากความเคลื่อนไหว หรือการตีกรอบ ซึ่งต้องใช้พลังในการเขียนเยอะมาก”

     จากหนังสือ การ์ตูนมุนินฺ เล่มแรก มุนินทร์ก็ทดลองการวาดการ์ตูนและนิยายภาพทั้งเทคนิคการใช้สีจากงานขาว เทา ดำ มาสู่การใช้สีพาสเทล หรือวิธีการเล่าเรื่องที่มีมิติมากขึ้น จนล่าสุดมาพัฒนานิยายภาพโดยใช้วิธีให้ภาพเล่าเรื่องล้วนๆ ใส่คำพูดหรือคำบรรยายให้น้อยที่สุด ทำให้ภาพมีความซับซ้อนขึ้น คนอ่านต้องจินตนาการเยอะขึ้น

 

การ์ตูนมุนินฺ สำนักพิมพ์จ้ำอ้าว และสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร

 

     “ประโยคสัญลักษณ์ เล่มแรก เป็นการทดลองทำหนังสือที่ไม่มีตัวหนังสือหรือมีให้น้อยที่สุด คือพยายามให้ภาพเล่าอย่างเดียว จะมีตัวหนังสือที่แค่เหมือนกับเป็นซับไตเติลใต้ภาพ ปรากฏว่ากลายเป็นหนังสือที่ทุกคนชอบ ใส่ประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปร่วมในอารมณ์นั้นๆ เหมือนมันอินกว่าการใส่คำบรรยายหรือคำพูดลงไปอีก เพราะว่าการบรรยายโดยใช้ภาพ ใช้สายตา ใช้จังหวะมุมกล้องที่กว้าง แคบ เหมือนคนได้ดูหนัง คิดว่ามันเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนที่จะเล่าแบบตรงไปตรงมา มันเป็นเสน่ห์ที่เราชอบหยิบมาใช้เวลาทำนิยายภาพ”

     นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบ เนื้อหาของนิยายภาพ และทิศทางการทำงานของศิลปินแล้ว ในด้านกลุ่มผู้อ่านนิยายภาพ นอกจากเด็กเรียนศิลปะหรือกลุ่มแฟนคลับของศิลปิน ทั้งสำนักพิมพ์ฟูลสต็อป สำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร และโรงเรียนสอนศิลปะวาดสตูดิโอ พบว่ามีผู้ใหญ่ที่ทำงานสายวิทย์ที่เป็นผู้ซื้อตัวจริงอยู่ด้วย ซึ่งมุนินทร์มองว่าหนังสือภาพน่าจะมีส่วนช่วยเรื่องการพักผ่อนและสร้างความบันเทิง เนื้อหาจึงควรมีลักษณะที่เสพได้ง่าย

     “เวลาที่เราออกบูทก็จะได้คุยกับคนอ่านบ้าง ก็พบว่ามีแฟนที่เป็นสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเยอะมากเลย ทั้งหมอ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าหนังสือที่เราทำอยู่มันเป็นการอ่านเพื่อการพักผ่อน เป็นศิลปะบำบัดของเขา เพราะเขาเป็นคนที่เรียนหนัก เรียนเยอะ ทำงานหนัก ก็เลยคิดว่าเนื้อหาที่เราทำออกมาน่าจะเป็นอะไรที่มันเสพได้ง่าย ผ่อนคลาย เป็นเรื่องที่ไม่ได้เข้าใจยาก และมีความละเอียดอ่อน” มุนินทร์กล่าว

 

ศิลปิน-นักวาดภาพประกอบยุคนี้ ‘อยู่ได้’ หรือ ‘ไส้แห้ง’?

     สำหรับคนทำอาชีพศิลปิน การจะทำการ์ตูนหรือนิยายภาพเพียงอย่างเดียวซึ่งมีขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานที่กินเวลานานเป็นปีก็อาจจะเป็นช่องทางที่แคบเกินไปในการจะยึดเป็นอาชีพหลัก

     ดังนั้นเพื่อไม่ให้ ‘ไส้แห้ง’ มุนินทร์ให้ความเห็นว่า ศิลปินในยุคปัจจุบันก็ควรรับงานที่หลากหลาย แต่ต้องหาจุดที่บาลานซ์ในการรักษาคุณภาพของงานและฐานแฟนคลับไปพร้อมกัน

     “ต้องไม่มากไปกว่ากัน อย่างหลังๆ จะมีนักเขียนที่ทำงานหนังสือน้อยลง เพราะจะต้องไปทำงานที่มันได้เงินเร็วอย่างงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำหนังสือเยอะ ทีนี้มันก็มีผลเสียคือความต่อเนื่องที่เราทำหนังสือก็ขาดช่วงไป มันก็มีผลทำให้มูลค่างานของเราดร็อปลงไปด้วย พูดง่ายๆ ว่างานอิลลัสเตรเตอร์ในออนไลน์ก็อาจจะมีแฟนเพจ รับงานสปอนเซอร์ ไทอิน หรืออิลลัสเตรเตอร์ที่ไม่เน้นสายนี้ก็จะไปรับงานนอกระยะสั้นที่ทำแล้วได้เงินเลย ไม่เหมือนหนังสือที่กินเวลานาน พอเอาเวลาไปทำตรงนั้นหมด มันก็ไม่มีเวลามาทำชิ้นมาสเตอร์พีซ หรือทำหนังสือที่ทำให้คนจดจำเราได้

     “เพราะแต่ละคนก็มีต้นทุนไม่เหมือนกัน ถ้าบางคนที่เขามีแพสชันมาก อยากเป็นนักเขียน อยากทำหนังสือ เขาก็ต้องมุ่งเน้นอยู่แล้วว่าจะต้องมาทางนี้ ดังนั้นที่สำคัญเลยคือการรู้จักตัวเองว่าเราถนัดอะไร แล้วก็ทำอย่างต่อเนื่อง ต่อให้มีงานอยู่ในโซเชียลก็ตาม มันก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นหนังสือหรือนักเขียน ถึงจะเรียกว่าเป็นอิลลัสเตรเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ

     “เราอยู่ในงานแขนงไหนก็ได้ แต่มันสำเร็จได้เพราะเราทำต่อเนื่อง เราทำจนชำนาญ ทำจนคนข้างนอกเห็นว่าเราเป็นใคร ทำอะไร” มุนินทร์กล่าว

     การเสพสื่อผ่านภาพทุกวันนี้ไม่เหมือนในอดีต จำนวนภาพมหาศาลในโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเป็นแรงส่งให้การ์ตูนและหนังสือภาพกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในด้านหนึ่งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจวาดภาพกันมากขึ้น

     เหมือนที่ศศิเล่าถึงนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียนสอนศิลปะของเขาว่าทุกวันนี้มีแต่ผู้ใหญ่ทั้งวัยทำงานและวัยเกษียณมาเรียนวาดภาพ จนต้องออกคอร์สสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น

     “แต่ก่อนจะมีแต่นักเรียนที่เป็นเด็กๆ เพื่อไปสอบ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ามีคนไปเที่ยวแล้วเขาอยากวาดรูป เขาไปกินแล้วชอบอะไรก็มาอยากวาด อยากเก็บเป็นภาพ อยากทำเป็นเรื่องราว มันกลายเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย อย่างพ่อแม่ผมนี่ เมื่อก่อนถ้าเขียนการ์ตูนปุ๊บ พ่อแม่ด่าแน่นอน แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาหารูปสติกเกอร์สวยๆ ส่งไลน์กันเอง

     “พวกเขาเริ่มรู้แล้วว่าการ์ตูนไม่ใช่เรื่องของเด็ก มันเป็นเรื่องของการแสดงความรู้สึก”

 

อ้างอิง:

     – ชมนาด บุญอารีย์. 2555. “นิยายภาพ: การตูนสร้างสรรค์เพื่อการอ่าน”. วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 29(1) ม.ค.-เม.ย. น.111-134. เข้าถึงจาก: www.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/6147

     – ณัฐฌา โต๊ะเงิน. 2548. กระบวนการสร้างสรรค์การ์ตูนของนักเขียนการ์ตูนไทย: 2470-ปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

     – วรัชญ์ ครุจิต และ นับทอง ทองใบ. 2552. การ์ตูนความรู้ไทย: ความเป็นมา สถานการณ์ และแนวทางการพัฒนา. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก. เข้าถึงจาก: www.tkpark.or.th/stocks/extra/000678.pdf

     – รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. 2560. อ่านวรรณกรรมเจน Z. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว.

     – youtu.be/K87VPQxJa5o

     – goo.gl/cYi87D

     – goo.gl/aMzRQo

     – library.tcdc.or.th/record/view/c00000021

     – writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=125456&chapter=331

     – www.metalbridges.com/13

FYI
  • จากการสอบถามสำนักพิมพ์และศิลปินที่ทำหนังสือภาพในยุคปัจจุบันยังพบว่า แต่ละคนใช้คำเรียกผลงานของตนเองไม่ตรงกัน เช่น บ.ก. คิด สมคิด สำนักพิมพ์ฟูลสต็อป เรียกว่า ‘หนังสือภาพ’ (picture book) บ.ก. ซัน-ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี สำนักพิมพ์ Let’s Comic เรียกว่า ‘การ์ตูนสไตล์มังงะ’ บ.ก. กาย-ปฏิกาล ภาคกาย สำนักพิมพ์แซลมอน เรียกว่า ‘คอมิก’ หรือ ‘คอมิกเอสเซ’ (comic, comic essay) มุนินฺ-มุนินทร์ สายประสาท เรียกว่า ‘กราฟิกโนเวล’ (graphic novel) การใช้คำเรียกที่แตกต่างกันจึงทำให้การ์ตูนและนิยายภาพในยุคนี้มีรูปแบบและแนวทางการวาดที่หลากหลาย ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า ‘หนังสือภาพ’ ซึ่งเป็นคำใหญ่ที่รวมการ์ตูนและนิยายภาพเข้าด้วยกัน
  • นอกจากหนังสือภาพที่เล่าถึงประสบการณ์ของคน ยังมีหนังสือภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุนัขโดยเฉพาะจากศิลปินเพจหมาจ๋า โดยสำนักพิมพ์บรรลือบุ๊คส์ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
  • มีศิลปินหลายคนที่หันมาเปิดสำนักพิมพ์เพื่อผลิตนิยายภาพและการ์ตูนเอง เช่น สำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร ของมุนินทร์ สายประสาท และสำนักพิมพ์เป็ด เต่า ควาย ที่ทำหนังสือการ์ตูนสะท้อนการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ขององอาจ ชัยชาญชีพ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising